EVLOMO อเมริการ่วมทุนไทยผลิตแบตเตอรี่ รองรับรถ EV ได้ 150,000 คัน

รถอีวี

EVLOMO บริษัทชั้นนำด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ลงนามใน MOU ร่วมทุนกัน ดำเนินโครงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Cell production) ขนาดการผลิต 8,000 เมกะวัตต์ใหญ่ที่สุดในอาเซียน บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หนองใหญ่ ชลบุรี ส่วนหนึ่งในอีอีซี จะเกิดเงินลงทุนสูงถึง 33,000 ล้านบาท

วันที่ 23 เมษายน 2564 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท EVLOMO จากไมแอมี สหรัฐอเมริกา และบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลีเธียมที่มีขนาดกำลังการผลิต 8 กิกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผ่านการทำธุรกิจกิจการร่วมค้า ซึ่งมีมูลค่าการร่วมลงทุนกว่า  1.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 55% และบริษัท EVLOMO ถือหุ้น 45%

โครงการนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะสร้างงานคุณภาพ รายได้สูง ไม่น้อยกว่า 3,000 ตำแหน่ง โดยจะเน้นการดึงเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมทั้งยกระดับพื้นที่อำเภอหนองใหญ่สู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้ประเทศไทยสามารถนำความรู้ด้านการพัฒนาแบตเตอรี่มาต่อยอดและสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย โรงงานผลิตแบตเตอรี่จะมีขั้นตอนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต และรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การร่วมทุนครั้งนี้ เป็นการจับมือกันระหว่างบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทย และบริษัท EVLOMO ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนารถไฟฟ้าและการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย โดยบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) จะจัดพื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมหนองใหญ่เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และผลักดันให้อำเภอหนองใหญ่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยและอาเซียน

โดยมี ดร. Li Qiyong อดีตรองประธานบริษัท LG Chemicals (Korea) battery research and development และ ดร. Xu ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมของประเทศไทยเป็นกำลังหลักในการพัฒนาโครงการ

ในระยะเริ่มต้นของโครงการ จะจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่มีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 143 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแผนจะจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 18-24 เดือน และคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปี 2564 ซึ่งแบตเตอรี่ที่ผลิตจะใช้กับรถไฟฟ้า 4 ล้อ รถบัส ยานพาหนะหนัก รถ 2 ล้อ และใช้สำหรับการกักเก็บพลังงานในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ

นาย Nicole Wu ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท EVLOMO กล่าวว่า บริษัท EVLOMO มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และคาดว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและอาเซียน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการเซ็นสัญญาร่วมทุนของทั้ง 2 บริษัท โดยได้กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม EV ของประเทศไทย โดยหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่นำสมัยที่สุดของอาเซียนและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้

นายดิเรก วินิชบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ โดยหวังว่าการร่วมมือกับบริษัท EVLOMO จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก

ทั้งนี้ ในปี 2564 นี้ จะเกิดการลงทุนในระยะแรก 1 GWh. หรือ 1,000 เมกะวัตต์ ทันที โดยคาดว่าการก่อสร้างโรงงานจะแล้วเสร็จ และผลิตแบตเตอรี่ ชุดแรกภายใน 18 – 24 เดือน เกิดการสร้างงานที่มีคุณภาพ รายได้สูงไม่น้อยกว่า 3,000 ตำแหน่ง ไม่นับรวมตำแหน่งงานที่เชื่อมโยงอื่น ๆ อีกจำนวนมาก สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

โดยโครงการฯ จะทำให้พื้นที่บริเวณหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์กลางในการรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่นำสมัยที่สุดของโลก และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ และการพัฒนาพลังงานสะอาดของ อีอีซี และของประเทศไทย โดยเมื่อนำขนาดการผลิตของโครงการฯ นี้ ไปรวมกับโครงการของ บริษัทพลังงานบริสุทธิ (Energy Absolute) ขนาด 1 GWh. และของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ขนาด 1 GWh. แล้ว

จะส่งผลให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่รวม 10 GWh. หรือสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ ก้าวสู่ประเทศที่มีโครงการลงทุนผลิตแบตเตอรี่มากที่สุดในอาเซียน รองรับการเป็นศูนย์กลาง ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง รถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รวมทั้งรถไฟไฟฟ้า และอากาศยานไฟฟ้าในอนาคต