กลุ่มเหล็ก ถกเครียดจ่อพบ “ประยุทธ์” หวั่นขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม

กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กในประเทศถกกันเครียด หลังนายกรัฐมนตรี สั่งให้คุมราคาเหล็กที่กำลังปรับขึ้น หวั่นกระทบแรงงาน ด้านเอกชนวอนรัฐใจกว้างเปิดทางฟังความ 2 ฝ่าย จ่อเข้าชี้แจงข่อเท็จจริง ย้ำราคาเหล็กปรับขึ้นเมื่อไม่นานทำอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเพิ่งเริ่มฟื้นตัว หลังถูกเหล็กจีนดั้มกดราคามาตลอด ด้าน “สถาบันเหล็ก” เผยสินค้ามีพอไม่ขาดตลาดแน่นอน จับตาท่าที “กระทรวงพาณิชย์” ประกาศสินค้าควบคุมหรือไม่

วันที่ 28 เมษายน 2564 นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ (27 เม.ย. 2564) นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่ปรับตัวขึ้นอยู่ในขณะนี้ เพื่อลดกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งหากไม่เร่งดูแลจะกระทบต่อไปยังปัญหาการจ้างงานในระยะต่อไปได้นั้น

ประวิทย์ หอรุ่งเรือง

ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจึงมีการประชุมหารือเรื่องดังกล่าว เนื่องจากราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะนี้ เป็นไปตามราคาตลาดโลก และยังถือเป็นช่วงโอกาสและจังหวะดีที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเริ่มฟื้นตัว หลังจากที่หลาย ๆ ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีน จนทำให้เข้ามากดราคาในประเทศจนต่ำลง จนในที่สุดเหล่าผู้ประกอบการเหล็กก็ต้องออกมาปกป้องอุตสาหกรรม จนทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น

ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก จึงเตรียมขอเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริงให้รับทราบ ว่าราคาเหล็กที่ปรับขึ้นมาจากต้นทุนตลาดโลก ต้นทุนพลังงาน เมื่อเทียบแล้วก็ไม่ได้มีกำไรมากมาย

“สิ่งที่กังวลในตอนนี้ คือหวั่นว่าภาครัฐจะเปิดทางให้นำเข้าเหล็กจีนได้ เพื่อมาถ่วงราคาให้ลดลงและคงกลัวว่าเหล็กในประเทศจะผลิตไม่พอ ถ้ารัฐบาลใจกว้างต้องเปิดโอกาสให้เราเข้าไปคุย ฟังทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ผลิตผู้ใช้ เราห่วงคนที่จะสั่งออร์เดอร์ตอนนี้ พอนายกฯ สั่งคุมราคาเหล็กไม่ให้ขึ้น เขาจะชะลอออร์เดอร์รอราคาลงมันกระทบเราแน่นอน อย่างไรก็ตามเมื่อต้นทุนเราสูงขึ้น เราคงลดราคาเหล็กลงไม่ได้ แต่จะไม่ฉวยโอกาสแน่นอน”

นายทวีศักดิ์ ตั้งเด่นชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ยืนยันว่า เตรียมยื่นหนังสือให้กับทางภาครัฐเพื่อรับทราบถึงประเด็นที่ราคาเหล็กในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทาให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนสินแร่เหล็กที่ปรับตัว

ส่วนกรณีที่ภาครัฐอาจจะมีการนำเข้าเหล็กมาในประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ ราคาเหล็กในประเทศสูงจนเกินไปนั้น มองว่าปริมาณการผลิตโดยเฉพาะเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศไทยอยู่ที่ 11 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการใช้ในประเทศมีเพียงแค่ 4 ล้านตันต่อปี แสดงให้เห็นแล้วว่าความต้องการเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศยังเพียงพอกับปริมาณการผลิต จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้า

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโรงงานเหล็กของไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 30-40% ดังนั้นการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ จึงได้ช่วยพยุงการจ้างงาน และโครงสร้างการผลิตเหล็กของไทยให้อยู่ได้ในช่วงวิกฤต

ดังนั้นจึงทำให้ supply ของสินค้าไม่ขาดตลาด ถึงแม้ว่าราคาในตลาดโลกจะปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง แต่โรงงานเหล็กของประเทศไทยมีสินค้าคงเหลืออยู่มากพอเพียง โดยตัวเลขการนำเข้าสินค้าเหล็กในปี 2564 มีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 12%

ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. 2564 พบว่าราคาเหล็กโลกอยู่ที่ 162 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 119% ซึ่งอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐ, เศษเหล็กราคา 432 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 205 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 110%, บิลเลตราคา 810 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 84% และ Slab ราคา 925 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 127%

รายงานข่าวระบุว่า ราคาเหล็กขายในประเทศก่อนหน้าที่จะอยู่ที่ประมาณ 18 บาทต่อกก. และปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 22.5-23 บาทต่อกก. และหลังจากนี้ต้องจับตาดูท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะมีมาตรการใดเข้ามาดูแล หรือจะประกาศตามให้เหล็กเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดราคากลางไม่ให้สูงเกินเพดานหรือไม่