ร้องทบทวนค่าไฟ”โซลาร์รูฟท็อป”เสรี

รัฐกดราคาซื้อไฟ “โซลาร์รูฟท็อป” จากบ้านอยู่อาศัยต่ำสุดๆ 2.30-2.50 บาท/หน่วย เคาะซื้อโรงงานไม่ถึงบาท สวนทางราคาขายโขกไป 4.30 บาท/หน่วย สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทยร้อง “ไม่แฟร์” ขอ “บิ๊กโย่ง” ทบทวนอัตราใหม่ ให้โซลาร์รูฟท็อปเสรีเป็นจริง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ถึงความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาหรือ “โซลาร์รูฟท็อปเสรี” ว่า ในการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ล่าสุดได้ข้อสรุปสำคัญของโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีจะเน้นให้ผู้ติดตั้งใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง เมื่อมีส่วนที่เหลือจึงจะจำหน่ายเข้าระบบ

เมื่อที่ประชุมกำหนด “หลักการ” ข้างต้น ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จะรับซื้อจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปค่อนข้างมีราคาต่ำ โดยส่วนหนึ่งของการคำนวณราคารับซื้อได้อิงกับราคาค่าไฟฟ้าขายส่งของ กฟผ. และมีการแยกกลุ่มผู้ใช้ออกเป็น 3 กลุ่ม กำหนดราคารับซื้อแตกต่างกันคือ 1) บ้านอาศัยทั่วไปรับซื้ออยู่ระหว่าง 2.30-2.50 บาท/หน่วย 2) อาคารหรือโรงงานขนาดใหญ่รับซื้อไม่ถึง 1 บาท/หน่วย 3) อาคารหรือโรงงานขนาดกลางรับซื้อประมาณ 1 บาท/หน่วย

นอกจากนี้ เพื่อพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2558-2579 ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ทำให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯมีความจำเป็นต้อง “จำกัดปริมาณ” การรับซื้อไฟฟ้าโครงการนี้ไว้ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ (MW)/ปี หรือรวมตลอดทั้งแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 6,000 MW ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชน ว่าโครงการโซลาร์รูฟท็อปเป็นโครงการที่เปิดเสรี แต่เหตุใด พพ.จึงต้องมา “จำกัด” ปริมาณรับซื้อไฟฟ้าและยัง “กดราคา” รับซื้อไฟฟ้าไว้ต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไม่น่าเรียกว่า “เสรี”

ประเด็นนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ชี้แจงว่าการรับซื้อไฟฟ้าต้องคำนึงถึง “ความพร้อม” ของระบบสายส่งของ กฟภ.และ กฟน. นอกจากนี้กรมยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น พลังงานลมและชีวมวล ซึ่งหากมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ต้องเก็บจากประชาชนผู้ใช้ไฟได้

“หลักการของโซลาร์รูฟท็อปคือ ไม่ได้ต้องการจะส่งเสริม เพราะเดิมทีมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองอยู่แล้ว และถ้ามีไฟฟ้าส่วนเกินเกิดขึ้นก็ปล่อยทิ้งไปเปล่า ๆ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงคิดว่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ทิ้งไปนั้นให้นำมาขายเข้าระบบได้ เพื่อช่วยระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงขึ้นโดยเฉพาะช่วงพีก แต่ถ้ามีจำนวนมากจนเกินไปก็จะกระทบต่อกำลังผลิตหลักโดยประเด็นเหล่านี้ควรจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการปรับแผน PDP ใหม่ด้วย แต่ปัจจุบันตามข้อมูลที่มีอยู่ กำลังผลิตจากโซลาร์เซลล์ในระบบยังมีไม่ถึง 10%” แหล่งข่าวกล่าว

รัฐไม่แฟร์ซื้อไฟถูกไปขายแพง

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่าสมาคมเตรียมยื่นหนังสือถึงพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ “ทบทวน” อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับโครงการโซลาร์รูฟเสรีให้มีความเหมาะสมมากกว่านี้ ก่อนจะนำเสนอต่อ กพช. เพราะหากอัตราการรับซื้อที่จะประกาศออกมานั้น “ต่ำมาก” เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งของ กฟผ. (ประมาณ 2.33 บาท/หน่วย) เท่ากับว่า ภาครัฐซื้อไฟฟ้าถูกแล้วนำมาขายแพง ซึ่งถือว่า “ไม่เป็นธรรม” กับผู้ผลิตไฟและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

“พพ.ให้ค่าไฟน้อยมาก ผมว่าไม่แฟร์ ขณะนี้มีผู้สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจำนวนมาก บางส่วนได้ติดตั้งไปแล้ว แต่ไม่ได้ขายไฟเข้าระบบ จึงมีไฟฟ้าส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งภาครัฐควรนำศักยภาพนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าปลดล็อกในประเด็นเหล่านี้ได้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวมที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะลดลงและเป็นการพึ่งพาพลังงานในประเทศ”

ด้าน นส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากอัตราค่าไฟฟ้าโซลาร์รูฟที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.30-2.50 บาท/หน่วยนั้น ต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ

1) ในแง่ของการลงทุนเพื่อขายเข้าระบบถือว่า “ไม่คุ้ม” เพราะมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนหน้านี้รัฐรับซื้อไฟอยู่ที่ 5.60 บาท/หน่วย เท่ากับว่า ภาครัฐลดราคารับซื้อโซลาร์รูฟท็อปลงมากว่าร้อยละ 50 ซึ่งหากปรับราคารับซื้อได้ ก็ควรทำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟ

2) โซลาร์รูฟท็อปถือเป็นเครื่องมือที่ดีเพื่อเข้ามาบริหารจัดการของไฟฟ้าที่สูญเสียในระบบ แต่ยังมีปัญหาที่ภาครัฐต้องแก้ไข คือระบบซื้อและขายไฟฟ้า (net metering) ที่ยังมีขั้นตอนยุ่งยาก รวมถึงควรเพิ่มมาตรการส่งเสริมทั้งในส่วนของภาษีหรือส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ทั้งนี้ผู้ประกอบการโซลาร์รูฟท็อปได้คำนวณต้นทุนในการติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือนอยู่ที่ประมาณ 4.50 บาท/หน่วย ในขณะที่ภาครัฐรับซื้อเพียง 2.30-2.50 บาท/หน่วย นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นแบบ Time of Use Rate หรือ TOU ราคาค่าไฟฟ้าจะถูกปรับเป็น 2 ช่วงคือ on peak อยู่ที่ประมาณ 4.30 บาท/หน่วย ส่วน off peak อยู่ที่ประมาณ 1.20 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่ 2.30 บาท/หน่วย เท่ากับการไฟฟ้าซื้อไฟจากบ้านเรือนถูกแล้วนำไปขายแพงขึ้น 2 บาท/หน่วย (ช่วง on peak)

เอกชนจี้พัฒนาสายส่ง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯเชิญเอกชนหารือร่วมกันในประเด็นโซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยภาคเอกชนได้นำเสนอใน 5 ประเด็นคือ 1) รัฐควรรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เต็มที่ 2) ในกรณีที่ภาครัฐต้องการจำกัดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปนั้น ควรจำกัดเฉพาะ 3 ปีแรกที่เริ่มดำเนินการ

3) หน่วยงานที่ดูแลระบบสายส่ง ควรมีแผนพัฒนาสายส่งที่ชัดเจน เพราะนับตั้งแต่ภาครัฐผลักดันโครงการพลังงานทดแทนมาต่อเนื่อง ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลสายส่งกลับไม่มีแผนพัฒนาใด ๆ ทั้งสิ้น 4) รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้า “ไม่ควร” มุ่งแสวงหากำไรมากจนเกินไป เพราะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงผลตอบแทนการลงทุน (ROIC : Return on Investment Capital) ที่เหมาะสมไว้อยู่แล้ว และควรพัฒนาสายส่งให้มีระบบที่ดี เช่น ระบบ smart grid เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป 5) รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าไม่ควรเข้ามาแข่งขันกับภาคเอกชนสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน


“เรื่องสายส่ง มีปัญหามาตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีการแก้ไข และประเด็นนี้ปัญหาก็ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว มันมีปัญหาเหมือนกันทั้งโลก ในต่างประเทศเขาทยอยแก้ปัญหาทีละเปลาะ ส่วนกำลังผลิตที่เข้าระบบก็ไม่ได้มากมาย แต่ถ้ากำลังผลิตเข้ามาในระบบมากกว่า 10,000 MW ระดับนั้นมีปัญหาแน่นอน แต่ขณะนี้กำลังผลิตน้อยมาก”