ไทยจ่อลุย FTA 5 ฉบับ รุกตลาดการค้า 4.5 แสนล้าน

การส่งออก ประเทศไทย
FILE PHOTO: REUTERS/Athit Perawongmetha/

ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ระบาดอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ “ความตกลงเขตการค้าเสรี” หรือ FTA เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการสามารถเพิ่มแต้มต่อเพื่อให้ออกแรงน้อยลง

ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า ไทยมีเอฟทีเออยู่กับ 18 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนการค้าประมาณ 63% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ยังเหลืออีก 37% ที่ยังไม่มีเอฟทีเอ นั่นเป็น “ช่องว่าง” ที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะทัพหน้าพยายามเร่งเครื่องเจรจา

ในปี 2564 แผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้ “นายสินิตย์ เลิศไกร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ดูแลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนความตกลงการค้าเสรี 5 ฉบับสำคัญ คือ ความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU), เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร (UK), เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association : EFTA),

เอฟทีเอไทย-กลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย หรือ EAEU (5 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย) และเอฟทีเอระหว่างอาเซียน-แคนาดา

ไม่นับรวม “CPTPP” หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นเจ้าภาพดำเนินการไป

โดยมีเป้าหมายว่า อย่างน้อยต้องเห็นหน้าเห็นหลัง 3 ใน 5 ฉบับ

3 ฉบับเป็น FTA กับยุโรป

หากสังเกตจะเห็นว่าความตกลง 3 ใน 5 ฉบับ เป็นความตกลงที่ไทยเตรียมพร้อมจะเจรจากับประเทศสมาชิก และอดีตสมาชิกในกลุ่มอียู ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดอียูเป็นตลาดหลักส่งออกสินค้าไทย ครองส่วนแบ่งตลาด 9% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในช่วงไตรมาส 1/2564 การค้าไทย -อียู มูลค่า 329,815.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากแยกเฉพาะกลุ่มที่จะเจรจาจะพบว่า สัดส่วนตลาดอียูที่ไม่รวมยูเคนั้นคิดเป็น 7.6% ของการค้าทั้งหมด รองลงมาคือ EFTA จะสัดส่วน 2.4% ยูเคสัดส่วน 1.1% (ตามตาราง) ซึ่งขณะนี้การเตรียมความพร้อมความตกลงทั้ง 3 ฉบับ มีความคืบหน้าไปอย่างมาก กล่าวคือ

การเตรียมพร้อมจัดทำความตกลงเอฟทีเอไทย-อียู หลังจากที่ได้เปิดเผยผลการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจาเมื่อเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้เตรียมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

เพื่อหาข้อสรุปกรอบเจรจา น่าจะได้ภายในไตรมาส 2 จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากผ่านความเห็นชอบจะสามารถเริ่มเจรจาในไตรมาส 3 ปี 2564

ขณะที่ความตกลง EFTA อยู่ระหว่างตรวจรับผลการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจา คาดว่าจะสามารถเผยแพร่ผลการศึกษาได้ในไตรมาส 2 โดยต้องพิจารณาว่ามีส่วนใดที่ยังต้องแก้ไขหรือไม่ ความตกลงเอฟทีเอไทย-ยูเค อยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน โดยคาดว่าผลสรุปจะออกมาในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

ต้องรอดู “ท่าที” ฝ่ายยูเคด้วย เพราะทางยูเคอยู่ระหว่างทบทวนนโยบายการค้าระหว่างประเทศภายหลังจากที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งมีแนวโน้มว่า ยูเคจะมุ่งเจรจากับประเทศที่เคยมีเอฟทีเอเมื่อครั้งที่อยู่ในอียูก่อน ซึ่ง “เป้าหมายแรกของยูเค คือ การร่วม CPTPP”

ส่วนความตกลงเอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย หรือ EAEU จะเป็นกลุ่มประเทศ 5 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย ซึ่งได้เริ่มการกรุยทางเพื่อเตรียมเจรจาในสมัยนางสาวชุติมา บุณยประภัศร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2562

โดยหารือกับทางกรรมาธิการสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียไว้ พร้อมทั้งกำหนดกลไกความร่วมมือเพื่อก้าวไปสู่การทำความตกลงเอฟทีเอ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเริ่มเรียนรู้กฎระเบียบภายใน, สาขาของการค้าและการลงทุนที่สนใจจะเปิดตลาดระหว่างกัน เพื่อนำมาศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจา ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดประมาณไตรมาส 3

ไฮไลต์ FTA อียู

หากพิจารณาตามไทม์ไลน์ของกระทรวงพาณิชย์จะเห็นว่า เอฟทีเอไทย-อียู น่าจะเป็นฉบับแรกในจำนวน 3 ฉบับที่จะเริ่มเปิดเจรจาได้ก่อน ซึ่งจากผลศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจานั้นได้ศึกษาครอบคลุมทุกด้าน

โดยระบุชัดว่าหากไทยและอียูยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน จะทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 2.09 แสนล้านบาทต่อปี

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่จะมีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น คือ ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก

หรือสินค้าเกษตรอย่าง ยาง ไก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.1% ทั้งยังช่วยลดช่องว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน

ไม่เพียงเท่านั้น “ภาคบริการ” ยังเป็นสาขาที่น่าจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะสาขา “บริการขนส่งทางเรือ”ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังอยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย เพราะเกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ซึ่งประเด็นนี้ไทยจะสามารถหยิบยกเข้าไปหารือกับอียูได้ นอกจากนี้ ยังมีสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจ

ต่อรอง 4 ประเด็นอ่อนไหว

ขณะที่ประเด็นความคาดหวังที่อียูมีต่อไทย จะมีทั้งเรื่องการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ซึ่งประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้มีการเจรจากับอียูไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ หรือเวียดนาม ที่เจรจาจบไปแล้ว เป็นต้นแบบในการต่อรองได้

ขณะที่อินโดนีเซียก็มีการเจรจากับอียูไปแล้วประมาณ 9-10 รอบ ส่วนฟิลิปปินส์เริ่มให้ความสนใจในการเข้าร่วมเจรจา เหลือเพียงมาเลเซียที่หยุดชะงักไปจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าหากเทียบความตกลงทั้ง 3 ฉบับ คือ อียู ยูเค EFTA ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป ทีี่มีลักษณะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจคล้ายกันก็จะมีความคาดหวังต่อไทยใน 3-4 ประเด็นคล้ายกัน

ความท้าทายของการเจรจาต่อรองในประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ เป็นส่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมความพร้อม วางกลยุทธ์การต่อรองอย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด หากสามารถเจรจาเอฟทีเอทั้งหมดตามแผนไทม์ไลน์ได้สำเร็จจะช่วยสร้างโอกาสการค้าในตลาดที่มีสัดส่วนกว่า 12% มีมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท