“โรงสีข้าว” คอนเฟิร์ม “เพื่อไทย” แฉแบ่งเค้กหักค่าหัวคิวข้าวจีทูจี ทุบราคาข้าวสาร

ส่งออกข้าว

วงการ “โรงสีข้าว” คอนเฟิร์ม “เพื่อไทย” แฉแบ่งเค้กหักค่าหัวคิวขายจีทูจี คอฟโก้ ตันละ 150 บาท แถมถล่มผู้ส่งออกรับออเดอร์แพงซื้อข้าวสารถูกได้สองต่อ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 หลังจาก นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผย กรณีสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มีหนังสือ “ด่วนมาก” แจ้งผลการจัดสรรปริมาณข้าวเพื่อส่งมอบให้รัฐวิสาหกิจจีน ( COFCO ) ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดยเนื้อหาระบุเรียกเก็บ “ค่าการบริหารจัดการ” จากสมาชิกในอัตราตันละ 150 บาท และต้องจ่ายค่าดำเนินการดังกล่าวภายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ผู้รับผิดชอบการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และเป็นผู้จัดโอนโควต้าข้าวให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เหตุใดจึงปล่อยให้สมาคมฯ เรียกเก็บค่าดำเนินการดังกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกต 4 ข้อนั้น

ล่าสุดแหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว “หลายล้านตัน” แต่ ไม่มีหลักฐาน กระทั่งคราวนี้มีการออกเป็น หนังสือออกมา ทุกครั้งดำเนินการกันเป็นการภายใน 

โดยแบ่งกันเฉพาะ “คนใน” ส่วนคนนอกไม่ค่อยได้หรือได้ก็น้อย มีการเอาโควตามาขายกิน กำไร ถ้าไม่เป็น สมาชิก ก็ไม่ได้ แต่ครั้งนี้เชื่อว่าคงมี “ใคร”ได้น้อย จึงมีหลักฐาน หลุด

ประเด็นนี้ ทำให้มี “เงิน” รอดเข้าสมาคม ไป หลายร้อยร้าน แต่กลับมาซื้อข้าวในราคาตลาด ถูกๆ ไป ส่งออกราคา GtoG แพงเกินไป เช่น ไปขายราคา ตันละ  520 เหรียญสหรัฐ คูณ 31 บาท เท่ากับ 1,612 บาทต่อกระสอบ (16,120 บาทต่อตัน) ส่วนราคา ซื้อ ขายตลาดวันนี้ 1,350-1,370 บาท (13,500-13,700 บาทต่อตัน) และมีการนำมาขายหักค่าหัวคิว กระสอบละ 15 บาท เป็นค่าใช้จ่ายตันละ 100-150 บาท

“ถ้าไปว่าเค้าก็จะบอกว่า เวลารับคำสั่งซื้อมาแล้วขาดทุน ไม่มีคน เอาสมาคมก็ต้องรับผิดชอบ ครั้งนี้คงมีคนน้อยใจเอกสารจริงหลุด”

ก่อนหน้านี้ เคยมีโรงสีเสนอขอให้ ซื้อราคา สูงขึ้น หรือ เชื่อมโยง นาแปลงใหญ่แต่ ไม่ได้มีการตอบสนองแต่อย่างไร 

สำหรับ ข้อสังเกต 4 ข้อของ สส.พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย (1) กรมการค้าต่างประเทศ ใช้วิธีการมอบโอนข้าวปริมาณ 20,000 ตันให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยดำเนินการจัดหาเพื่อส่งออกขายให้รัฐในต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว และสมาคมฯ จำกัดเพียงสมาชิกเท่านั้นที่จะมีสิทธิจัดส่งข้าวตามปริมาณที่สมาคมฯ จัดสรรให้ ใช่หรือไม่

(2) จดหมายสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุเนื้อหา การส่งมอบข้าวที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ COFCO สั่งซื้อข้าวขาว 5% จัดส่งแบบ FOB (ราคาส่งที่ท่าเรือ) ที่ราคาตันละ 520 เหรียญสหรัฐ แต่ข้อมูลที่ทราบมา ข้าวชนิดเดียวกันนี้ ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 480 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ดังนั้นส่วนต่างตันละ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันต่อปริมาณข้าว 20,000 ตัน จะเกิดส่วนต่างสูงถึง 8 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 25 ล้านบาท  จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ 

(3) การโอนข้าวแบบรัฐต่อรัฐ จำนวน 20,000 ตัน ซึ่งถือเป็นสิทธิและเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยให้แก่สมาคมผู้ส่งออกข้าวโดยไม่มีการประมูล เป็นการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือไม่ 

(4) การดำเนินการของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มีการเรียกเก็บเงิน “เพื่อการบริหารจัดการ” ตันละ 150 บาทนั้น เงินจำนวนนี้ได้ถูกนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามจุดประสงค์ของการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือไม่ อย่างไร 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน มีการซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่าง COFCO  กับกรมการค้าต่างประเทศ  รวม 1.7 ล้านตัน หากมีการคิดส่วนต่างจากราคาส่งออกตามโควต้านี้จริง คงจะประเมินมูลค่าไม่ได้ และหากมีการเก็บค่าดำเนินการ 150 บาทต่อตันจริง อาจคิดเป็นมูลค่าเงินกว่า 255 ล้านบาท เงินเหล่านี้ใครได้ประโยชน์และใครเสียประโยชน์