กัลฟ์ ซื้อ INTUCH ดึง 5G ต่อยอดพลังงานอนาคต

เปิดประวัติสารัชถ์ กัลฟ์

หลังจากมติคณะกรรมการบริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เมื่อ 1 เม.ย. 64 อนุมัติให้เข้าลงทุนในหุ้นทั้งหมดของบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH จำนวน 2,599 ล้านหุ้น คำนวณหุ้นละ 65 บาท

นับรวมเป็นมูลค่าดีลกว่า 1.6 แสนล้านบาท ทำให้กัลฟ์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 81.07% จากปัจจุบันที่ถืออยู่ในสัดส่วน 18.07%

แน่นอนว่าอภิมหาดีลนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปอย่างมาก เพราะกัลฟ์ถือเป็นผู้นำในธุรกิจด้านพลังงานที่ตัดสินใจกระโดดข้ามห้วยไปลงทุนใน INTUCH และ ADVANC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจสื่อสารและดิจิทัล

แม้ว่าการเข้าไปซื้อหุ้นครั้งนี้จะเป็นการ “เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น” ซึ่งยังไม่มีผลต่ออำนาจการตัดสินใจต่าง ๆ แต่อนาคต กลุ่มกัลฟ์จะกลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่มีความพร้อมในเทคโนโลยีหลักที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างพื้นฐาน และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” ประมวลบทสรุป “รายงานความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นสามัญทั้งหมดของ INTUCH โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ หรือ condition voluntary tender offer และ/หรือโดยการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือโดยวิธีอื่นใด

รวมถึงการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC” โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัท ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ที่กำลังจะเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เพื่อขอมติในการทำธุรกรรม

กัลฟ์เจ้าตลาดพลังงาน

ในวงการพลังงาน “กัลฟ์” เริ่มเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2563 ในกลุ่มธุรกิจหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ด้วยทุนจดทะเบียน 11,733 ล้านบาท โดยมี “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เป็นกรรมการและรองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริษัท

ทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 35.55% จำนวน 4,171 ล้านหุ้น ขับเคลื่อนธุรกิจหลัก 5 ด้าน คือ พลังงานไฟฟ้า ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน พลังงานน้ำ และโครงสร้างพื้นฐาน

ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยย้อนไปปี 2562 มีรายได้รวม 33,549 ล้านบาท และขยับเพิ่มขึ้นเป็น 35,833 ล้านบาทในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 9.3% มีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) จาก 3,509 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 4,478 ล้านบาทในปี 2563

หรือเพิ่มขึ้น 27.6% ซึ่งมาจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้า BKR ในไตรมาส 4/2563 โครงสร้างรายได้หลักจากการขายมาจากการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 32,298 ล้านบาท การขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรม 23,068 ล้านบาท

การขายไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรม 6,318 ล้านบาท การไฟฟ้าให้การไฟฟ้าเวียดนาม 460 ล้านบาท และการขายไฟฟ้าให้ Orsted Energy 528 ล้านบาท ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เข้าสู่ระบบแล้วมากกว่า 5,800 เมกะวัตต์

จุดเปลี่ยนสู่ธุรกิจสื่อสาร

จริงอยู่ที่ภาพความเคลื่อนไหวใน “ธุรกิจหลัก” เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าขยับอย่างมาก อาทิ การเข้าลงนามทำสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าธรรมชาติหินกอง กำลังการผลิต 1,540 เมกะวัตต์ การเข้าซื้อหุ้นบริษัท บูรพา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด

ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ขนาด 600 เมกะวัตต์ การลงนามสัญญาขายไฟฟ้าและน้ำเย็นให้กับโครงการ One Bangkok โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ GTN2 ลงนามสัญญากู้เงิน 37.8 ล้านเหรียญสหรัฐ การจัดตั้งบริษัทย่อย Gulf LNG

เพื่อดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติ การปรับโครงสร้างการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าที่ประเทศโอมาน โดยบริษัท GIH ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และ GIH ยังได้เข้าซื้อหุ้นกลุ่ม Global Infrastructure Partners เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังลมในทะเล BKR2 กำลังผลิตติดตั้ง 464.8 เมกะวัตต์ การจัดตั้งบริษัทย่อย ชื่อ บริษัท กัลฟ์ 1 เพื่อลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน การเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) เป็นต้น

แต่ “จุดเปลี่ยนการกระจายพอร์ต” การลงทุนครั้งนี้เกิดขึ้นจากที่ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังมีเหลือเพียงพอกับการเติบโตด้านความต้องการใช้พลังงานของประเทศ ทำให้ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการเติบโตในธุรกิจหลัก “ช้าลง” ซึ่งส่งผลให้บริษัทเริ่มมีการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมถึงธุรกิจก๊าซมากขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนเข้าสู่ “ธุรกิจสื่อสารและดิจิทัล” ในครั้งนี้ นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน Gulf ระบุว่า บริษัทต้องการขยายพอร์ตธุรกิจจากเดิมที่เติบโตในธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างหนึ่ง

สู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืนสำหรับอนาคต จากการที่สังคมและเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น

ความสมเหตุสมผลในการซื้อ

บทสรุปของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในดีลนี้ ชี้ชัดว่า การเข้าลงทุนในหุ้นสามัญทั้งหมดของ INTUCH มีความสมเหตุสมผล น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตและขยายกิจการ เพื่อเป็นผู้นำในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต

โดยระบุว่าธุรกิจนี้ที่มีเสถียรภาพเติบโตและสอดคล้องกับกลยุทธ์ในอนาคตของกัลฟ์ ช่วยเพิ่มศักยภาพจากการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัล และถื่อว่าเป็นการเสริมธุรกิจปัจจุบัน อีกทั้งการลงทุนในหุ้นสามัญทั้งหมดของ INTUCH เปรียบเสมือนการเข้าลงทุนใน ADVANC ทางอ้อม

เป็นโอกาสที่บริษัทจะเชื่อมโยงกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมได้อย่างรวดเร็ว และช่วยเพิ่มความหลากหลายกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ

ทั้งนี้ ธุรกิจด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และบริการดิจิทัล เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระดับ “ต่ำ” เมื่อเทียบกับธุรกิจชนิดอื่น โดยเฉพาะ 2 รายการนี้ถือเป็นผู้นำในธุรกิจสื่อสาร มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง จะช่วยสร้าง “กระแสเงินสด”

ทำให้มีความสามารถสร้างผลตอบแทน “เงินปันผล” ได้สม่ำเสมอ ถือว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะสมทั้งในเชิงกลยุทธ์ด้านเวลา และแนวทางการลงทุน ซึ่งการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ADVANC พร้อม INTUCH จะทำให้การเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดของ INTUCH เป็นไปตามหลักเกณฑ์ “การครอบงำกิจการ”

สำหรับการทำราคาเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่สมเหตุสมผลนั้น ที่ปรึกษาเสนอว่า วิธีที่เหมาะสมในการประเมินมูลค่า INTUCH นั้นมี 2 วิธี แต่น่าจะใช้วิธีมูลค่าตามราคาตลาดจึงจะเหมาะสม ซึ่งจะได้มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมประมาณ 55.32-68.26 บาทต่อหุ้น

หรือมูลค่ารวม 177,376.38-218,947.66 ล้านบาท ขณะที่หุ้น ADVANC ที่น่าจะใช้วิธีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด ซึ่งจะได้มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมระหว่าง 170.15-233.89 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่า 505,941.28 -695,625.60 บาทต่อหุ้น

จากข้อสรุปข้างต้นที่ปรึกษาเห็นว่าผู้ถือหุ้นควรอนุมัติเข้าทำรายการลงทุนในหุ้นสามัญทั้งหมดของ INTUCH รวมถึงการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ADVANC ซึ่งประกอบด้วยการเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ INTUCH และ/หรือ โดยวิธีอื่นใด สำหรับความเป็นไปได้ในราคาที่ลงทุน INTUCH “65 บาทต่อหุ้น” และ ADVANC ไม่เกิน “120.93 บาทต่อหุ้น”

จุดด้อย-ความเสี่ยงบิ๊กดีล

อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ยังมีข้อด้อยและความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไปจะให้ผลตอบแทนช้า และต้องลงทุนสูง ใช้เวลาก่อสร้างนาน เพิ่มภาระเงินกู้ยืม และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน

ผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายปันผล อีกทั้งเป็นธุรกิจที่บริษัทไม่มีประสบการณ์ ความคล่องตัวลดลงจากที่บริษัทย่อยต่างเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การลงทุนในหุ้นสามัญทั้งหมดของ INTUCH มีข้อจำกัดทางกฎหมายหลายอย่าง

ต้องไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมและ กสทช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่บริษัทไม่คุ้นเคย อาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก และบริษัทอาจจะไม่สามารถเข้าไปมีอำนาจเบ็ดเสร็จ หากผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่เสนอขายหุ้นให้บริษัท

และบริษัทอาจไม่มีภาระหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ADVANC ถ้าหลังจากทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH ได้ไม่เกิน 50% ของสิทธิออกเสียง ซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำคำเสนอซื้อ ADVANC โดยสมัครใจในครั้งนี้โดยไม่จำเป็น

และสุดท้ายบริษัทอาจจะไม่ได้รับหลักทรัพย์ ADVANC จากการทำคำเสนอซื้อ เนื่องจากการทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจราคา 120.93 บาทต่อหุ้นเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ย้อนหลัง 3 ปี จึงทำให้โอกาสในการได้มาด้วยวิธีนี้มีน้อย ส่งให้ค่าใช้จ่ายในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ADVANC อาจจะมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ

ขณะที่ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน อาทิ ความไม่แน่นอนจากการเข้าทำคำเสนอซื้อ INTUCH, การไม่ได้รับเงินกู้, สถาบันการเงินให้บริษัทเพิ่มทุนเพื่อลดอัตราส่วนหนี้, ความเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เป็นต้น

เปิดโฉมหน้าผู้หุ้นใหญ่

แน่นอนว่าการตัดสินใจลงคะแนนอนุมัติการทำธุรกรรมดังกล่าวขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจของผู้ถือหุ้น” แต่ละราย ซึ่งเมื่อเจาะลงไปในกลุ่มผู้หุุ้นใหญ่ 11 รายแรกที่ถือหุ้นกัลฟ์ 85.22% ประกอบด้วย 1) กลุ่มนายสารัชถ์ 73.42%

(นายสารัชถ์และนางนลินี รัตนาวะดี บจ.กัลฟ์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย), Gulf Capital Holdings และ Gulf Investment and Trading 2) บจ.ไทยเอ็นวีดีอาร์ 3.11% 3) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 1.88% 4) ธนาคารกรุงเทพ 1.35%

5) Asian Development Bank 1.23% 6) South Eart Asia UK (Type C) Nominees Limited 1.19% 7) สำนักงานประกันสังคม 1.03% 8) บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ 0.93% 9) State Street Europe Limited 0.50% 10.กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 0.29% และกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ความเป็นไปได้ในการทำดีลน่าจะสำเร็จตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ในเดือน ก.ค. 2564

ต่อยอดสื่อสาร-พลังงาน

สิ่งที่น่าจับตามองในอนาคต คือ การเชื่อมโยงธุรกิจใหม่และธุรกิจหลักด้านพลังงานจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ กัลฟ์จะมีกำลังการผลิตตามสัญญาจากโรงไฟฟ้า IPP เข้าใหม่ระหว่างปี 2564-2570 จำนวน 4 โครงการ (ตามกราฟิก)

รวมถึงกำลังการผลิต 6,940 เมกะวัตต์ หรือ 14% ของกำลังการผลิตตามสัญญาในปัจจุบัน แม้ว่ารายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในช่วงไตรมาส 1/2564 จะลดลง 8.6% จากราคาก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง

ทว่ารายได้ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนก็มาช่วยเสริม โดยมีการเติบโตถึง 1,016% หรือจาก 173 ล้านบาท เป็น 6,954 ล้านบาท จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG ที่ขายไฟให้ กฟผ.ได้เพิ่มขึ้น

และที่สำคัญ เริ่มรู้รายได้จากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 44 ล้านบาท จากการบันทึกค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทานสำหรับการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม MTP3

ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งเดิมบริษัทคาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มลงทุนในปี 2561 ได้ภายในปี 2568 แต่ผลจากการเข้าซื้อ INTUCH จะทำให้รับรายได้จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ภายในปี 2564 ทันที

และจุดเปลี่ยนจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G ของธุรกิจใหม่นี้ ยังจะช่วยต่อยอดธุรกิจหลักสู่ในการพัฒนาระบบพลังงาน “อัจฉริยะ” ด้านต่าง ๆ ในอนาคตได้อีก