ชำแหละบิ๊กดีล “กัลฟ์-อินทัช” มันนี่เกม ทุนไทยขยายอาณาจักรธุรกิจ

กัลฟ์-อินทัช

ถือเป็นบิ๊กดีลที่สร้างเซอร์ไพรส์เมื่อยักษ์พลังงานไทย “บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” เสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรืออินทัช บริษัทแม่ยักษ์ใหญ่วงการโทรคมนาคมไทย “เอไอเอส” ซึ่งมีการประเมินกันว่าต้องใช้เงินมากถึง 1.69 แสนล้านบาท

หากต้องการซื้อหุ้นทั้งหมด แม้ไม่รวมหุ้นที่ “สิงเทล” ถืออยู่ด้วย 21% ก็ต้องใช้เงินถึงแสนล้านบาท อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับ “กัลฟ์” แต่การขยับขยายอาณาจักรจากพลังงานสู่โทรคมนาคมก็ยังเป็นจังหวะก้าวที่น่าสนใจ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีดังกล่าวว่า

การซื้อกิจการในรูปแบบนี้ไม่ส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจโทรคมนาคม เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจากรายหนึ่งไปเป็นอีกรายหนึ่ง ไม่กระทบจำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีอยู่แค่ 3 รายใหญ่ คือ เอไอเอส, ทรูมูฟ และดีแทค

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นรายใหม่ ถ้าเป็นในประเทศที่มีเส้นแบ่งทางการเมืองกับธุรกิจที่ชัดเจนจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับไทยที่มีเส้นแบ่งทางการเมืองและธุรกิจไม่ชัดเจน ทำให้การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นครั้งนี้อาจมีผลต่อกฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งกรณีของโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

รัฐบาลตัวแปรสำคัญ

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ประกอบการ เพราะก่อนหน้านี้ทางสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยยื่นขอให้มีการยืดเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ค่าประมูลคลื่น 5Gออกไปก่อน

ดังนั้น หากมีการผลักดันเรื่องเหล่านี้มากขึ้นอาจส่งผลให้มีผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ ส่วนเสียเกิดขึ้น2.การขายบริการให้ภาครัฐตั้งอยู่บนพื้นฐานทางการแข่งขันอย่างเสรีหรือไม่

และ 3.การตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ยังไม่แล้วเสร็จ และถ้าแล้วเสร็จจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน

“ถ้าพิจารณาเชิงธุรกิจคนขายก็พร้อมจะขายถ้าได้ราคาดี ส่วนผู้ซื้อมองโอกาสในการทำกำไรเพิ่ม แต่การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นในไทย ภาคธุรกิจต้องประเมินปัจจัยที่เกิดจากภาครัฐเพิ่มขึ้น

เพราะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจเนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจใหญ่ ๆ ของไทยในหลายอุตสาหกรรมล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อรัฐบาล เช่น ธุรกิจพลังงาน โทรคมนาคม ค้าปลีก และคมนาคม

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการกระจุกตัวของผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย และเป็นรายใหญ่ในอุตฯ ผู้เล่นเหล่านี้ก็มีความสามารถในการโน้มน้าวนโยบายภาครัฐ ทำให้เกิดการแข่งขันที่ได้เปรียบเสียเปรียบกันได้”

ต่อยอด-เพิ่มโอกาสธุรกิจ

ด้าน นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่กัลฟ์จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่อินทัชถือเป็นการเปลี่ยนมือผู้เล่นต่างอุตฯ

และจะเป็นการหลอมรวมอุตฯพลังงานและโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน เพราะฝั่งกัลฟ์มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแกร่ง ส่วนอินทัชมีธุรกิจในเครืออย่างเอไอเอสที่มีโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั้ง 5G ดาวเทียม และบรอดแบนด์ไร้สาย

หากดีลนี้สำเร็จเท่ากับกลุ่มทุนของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ 3 รายจะมาจาก 3 อุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่ กลุ่มทุนพลังงาน กลุ่มทุนซัพพลายเชน

และกลุ่มเทเลเนอร์ เป็นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในตลาด เพราะเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่ แต่นักลงทุนรายเก่าที่มีทุนหนาเข้ามา

การแข่งขันในตลาดจะยิ่งเข้มข้นขึ้น แต่ละรายจะเร่งพัฒนาคุณภาพ บริการและเทคโนโลยีให้เหนือคู่แข่ง ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ไปด้วย

“แม้ที่ผ่านมาหลายคนมองว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่ใช่ดาวรุ่ง เพราะไม่สามารถสร้างผลกำไรได้เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากต้นทุนมหาศาล ซึ่งการที่กัลฟ์ทุ่มเงินระดับแสนล้านเพื่อปิดดีลนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตา”

ขณะที่ในอนาคตอาจได้เห็นบริการใหม่ ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากเครือข่าย 5G และต่อยอดไปสู่การขายพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคครัวเรือน

“ดีลนี้เกิดขึ้นจากจังหวะและโอกาสที่ผู้ถือหุ้นเดิมต้องการผันตนเองไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่มีประโยชน์มากที่สุด ขณะที่กัลฟ์มองเห็นโอกาสในธุรกิจโทรคมนาคมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิม”

บิ๊กดีล “วินวิน”

ขณะที่ นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดีลนี้ถือเป็นดีลที่ win-win ทุกฝ่าย ทั้งผู้ถือหุ้นอินทัชแอดวานซ์ (เอไอเอส)

และกัลฟ์ รวมถึงรัฐบาล แต่คาดว่าจะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนโดยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-4 สัปดาห์ ซึ่งเบื้องต้นมองว่า “กัลฟ์” น่าจะซื้อหุ้นอินทัชเพิ่มอีก 15% จากผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีสัดส่วนหุ้นรวมกันถึง 60% ของหุ้นทั้งหมด เพื่อให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนบอร์ดบริหาร

“คาดว่ากรกฎาคมหรือต้นสิงหาคม จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงบอร์ดใหม่ชัดเจนขึ้น หากกระบวนการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นแล้วเสร็จเกิดการทำธุรกิจร่วมกัน เชื่อว่าผลจากการดีลนี้จะสามารถมองได้ 2 มิติ มิติแรกคือ มิติทางการเมือง ดีลนี้น่าจะเป็นที่พอใจของฝ่ายการเมือง เนื่องจากกัลฟ์เป็นบริษัทพลังงานของไทย

นั่นหมายความว่าถ้าต้องการความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและการลงทุนก็น่าจะง่ายขึ้น ทำให้เดินตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ได้ง่ายขึ้น อีกมิติเป็นมิติทางธุรกิจแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะสั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2-18 เดือน

ขณะที่ในระยะยาวจะเป็นการซินเนอร์ยี่ทางธุรกิจระหว่างธุรกิจพลังงานและโทรคมนาคม ทำให้มีฐานลูกค้าครอบคลุมมากขึ้น เพราะ “กัลฟ์” เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจลักษณะ “บีทูบี” ส่วนอินทัช และแอดวานซ์เป็นธุรกิจโทรคมนาคม เจาะกลุ่มบีทูซี ในอนาคตจึงอาจมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น