ถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์สู้โควิด ทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน ลุยเปิด 5 โรงงานใหม่

ศรีตรัง โกลฟส์-ถุงมือยาง

ถอดบทเรียน “ศรีตรังโกลฟส์” สุราษฎร์ฯ-ตรัง สกัดโควิด เพิ่มมาตรการเข้ม จองซิโนฟาร์ม 10,000 โดส ลุยแผนครึ่งปีหลังเปิด 3 โรงงานใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตอีก 4 พันล้านชิ้น เข็นสินค้านวัตกรรม ดันยอดขายปี’64 โต 11% เดินหน้าลงทุน 1.4 หมื่นล้าน ขยายอีก 5 โรงงาน อัพไซซ์เป็น 8 หมื่นล้านชิ้นปี’68

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าวถึงกรณีที่คนงานโรงงานผลิตถุงมือยาง 2 สาขาของบริษัทคือ โรงงานสุราษฎร์ธานี กับตรัง ติดโควิด-19 จนต้องปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม จนกระทั่งกลับมาเปิดโรงงานที่ จ.สุราษฎร์ธานีได้ในวันที่ 6 มิถุนายน และโรงงาน จ.ตรังกลับมาเปิดวันที่ 16 มิถุนายน 2564 รวมแล้วต้องหยุดการผลิตไป 19 วัน โดยมูลค่าของความเสียหายจากการปิดโรงงานมีประมาณ 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น

“เป็นผลจากที่การผลิตหยุดชะงักช่วง 4-5 วันแรก จึงต้องเลื่อนส่งมอบ เพราะช่วงสัปดาห์แรกทำอะไรไม่ทัน เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ โรงงานต้องปิดทันที จึงต้องจ่ายค่าปรับตู้ที่บุ๊กไว้ พอสัปดาห์ที่สองเราก็ตั้งตัวได้ด้วยการเปลี่ยนสายการผลิตมาที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดถึง 43 กว่าล้านชิ้นต่อวัน สามารถผลิตได้ทุกสินค้าอยู่แล้ว ก็ให้ช่วยผลิตถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้งและเพิ่มไลน์การผลิตถุงมือยางสังเคราะห์

เพื่อให้สามารถส่งออกให้ได้ตามแผนที่วางไว้ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และเรายังขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเคลียร์สินค้าที่อยู่ในคลัง 300-400 ล้าน ให้ส่งออกไป จึงทำให้ผลกระทบที่ไปถึงลูกค้าไม่ได้หนักหนามาก ไม่มีลูกค้าถามเข้ามา แต่เราได้สื่อสารออกไปให้ลูกค้ามั่นใจ”

ส่วนแผนเดิมในปีนี้ ตอนแรกศรีตรังฯตั้งเป้าหมาย growth ไว้ที่ 14% แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้โรงงานสุราษฎร์ฯ 2 ก่อนหน้านี้ กระทบหายไป 0.6% และจากสถานการณ์โควิด-19 รอบนี้ก็หายไปอีก 2.5-2.6% รวมแล้วตัวเลขอัตราการเติบโตปีนี้จะเหลือ 11% คิดเป็นการผลิตถุงมือยางประมาณ 31,000 ล้านชิ้น

อย่าไรก็ตาม บริษัทศรีตรังโกลฟส์ ได้นำบทเรียนจากการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ด้วยการลงทุนและปรับมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายด้าน เช่น การเพิ่มและกระจายจุดที่ใช้ร่วม อย่างจุดรูดบัตร ล็อกเกอร์พนักงาน การพ่นฆ่าเชื้อทั้งในและนอกอาคาร รวมถึงการอบโอโซนฆ่าเชื้อเพิ่มเติม

และในส่วนงานแผนกบรรจุ ที่อาศัยแรงงานจำนวนมาก ทำงานในระบบปิด เพราะต้องไม่มีฝุ่น ไม่มีแมลง ใช้ระบบปรับอากาศรวม เสี่ยงสูง จึงได้แยกพื้นที่นี้ไปอีก 2-3 จุด ลดความหนาแน่นของพนักงานลง 50% วางระบบฆ่าเชื้อระบบปรับอากาศ ติดตั้ง UVC เพิ่มให้ความมั่นใจให้พนักงาน

“ระบบทั้งหมดนี้จะใช้เงินลงทุนเพิ่มประมาณแห่งละ 2-3 ล้านบาท ซึ่งเราจะทำทุกโรงงาน เพราะยังไม่รู้ว่าโควิดจะสิ้นสุดเมื่อไร การลงทุนครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่า” พร้อมกันนี้บริษัทยังศึกษาและคิดค้นถึงเรื่องการนำระบบอัตโนมัติในโรงงานอย่างจริงจังและเตรียมใช้เร็วขึ้น มุ่งใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุดเพื่อให้เป็น fully automation จากเดิม 12 คน ปัจจุบันเหลือ 3 คน แต่ต้องการลดอีกให้เหลือ 1-1.5 คน ต้องคิดเพิ่ม มีทั้ง AI, IOT เซ็นเซอร์ต่าง ๆ มาใช้ โดยเป้าหมายในปีนี้โรงงานที่หาดใหญ่จะเป็นต้นแบบปรับ 1 ไลน์การผลิต ทั้งระบบจะเป็น fully automation หมด

ด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 บริษัทถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยประสานทุกหน่วยงานที่เป็นไปได้ ทั้งกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานประกันสังคม จนล่าสุดทางผู้บริหารตัดสินใจจองผ่านระบบราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันที่ 14 มิถุนายน ปริมาณ10,000 โดส เพื่อให้ครอบคลุมพนักงาน 9,000 คนและชุมชนรอบข้าง เน้นเฉพาะเข็มแรกก่อน เพราะคำนึงว่าวัคซีนต้องไปแบ่งกับคนอื่น และอนาคตปริมาณวัคซีนจะเพิ่มขึ้น ขณะนี้ก็รอผลตอบรับเมื่อไรและเท่าไร

ส่วนแนวโน้มและแผนบริษัทครึ่งปีหลังนั้น บริษัทจะมี capacity ใหม่จากแผน expansion ซึ่งมีกำหนดจะเปิดการผลิตโรงงานเพิ่มอีก 3 โรงคือ โรงงานสุราษฎร์ฯ 3 เริ่มเดินเครื่องในเดือนกรกฎาคม จากนั้นโรงงานสะเดา 1 ในเดือนสิงหาคม-กันยายน และโรงงานตรังอีกแห่งต่อในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตในปีนี้เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านชิ้น จากเดิมปีก่อน 32,600 เป็น 36,600 ล้านชิ้น

เฉพาะโรงงาน 3 โรงงานในปีนี้ต้องรับพนักงานเพิ่มอีก 2,000 คนและไม่รับต่างด้าว แต่จะเพิ่มขั้นตอนการดูแล-สวอปพนักงานตั้งแต่ก่อนสมัครและหลังจากผ่านการคัดเลือก 14 วัน สวอปรอบ 2 โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้

“วางแผนบัดเจตเซลส์ครึ่งปีหลังไว้ที่ 17,500 ล้านชิ้น หากดีมานด์แข็งแกร่งทั้งตลาดในประเทศที่มีสัดส่วน 10% และตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน 90% โดยเฉพาะในไทยมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกนี้สูงอย่างต่อเนื่อง และให้ priority ตลาดภายในก่อน ขณะที่ต่างประเทศทั้งอินเดีย บราซิล ละตินอเมริกา ตุรกี แอฟริกา รวมถึงตลาดหลักอเมริกาก็ยังแข็งแกร่ง”

ส่วนด้านราคาปีนี้คาดว่าราคาถุงมือยางค่อนข้างทรงและมีแนวโน้มลดลง ตามคาดการณ์หรือลดลงไตรมาสละ 15-20% ดังนั้นการปรับขึ้นราคา “ทำได้ลำบาก” แม้ว่าจะมีปัญหาต้นทุนวัตถุดิบและค่าระวางเรือสูงขึ้นต่อเนื่องมา 2-3 ไตรมาส เพราะซัพพลายถุงมือยางในตลาดโลกเพิ่มทุกราย ขยายกำลังการผลิต มีรายใหม่ ๆ เข้ามา

“ขณะนี้ผู้ซื้อในตลาดหลักสหรัฐและจีนมีอินเวนทอรี่จำนวนมาก มีผลสะท้อนต่อราคาวัตถุดิบน้ำยางข้นอาจทรงและมีการปรับลดลงได้ไม่ดีเหมือนปีก่อน แม้ว่าการขยายกำลังการผลิตของเราทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบเพิ่มขึ้น 270,000 ตัน แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือก็ใช้น้อยเพียง 8% ของทั้งหมด โดยกลุ่มล้อยางใช้มากกว่า” น.ส.จริญญากล่าว

อย่าไรก็ตาม แผนภาพใหญ่ expansion ของศรีตรังโกลฟส์ ยังต้องเพิ่มยอดผลิตถุงมือยางจาก 36,600 ชิ้นให้ได้ 80,000 ล้านชิ้นภายในปี 2024 (2567) ซึ่งขณะนี้มีการขยายโรงงานเกือบครบหมดแล้ว ยังเหลือต้องสร้างขึ้นอีก 5 โรงคือ โรงงานที่สะเดา 1 แห่ง, ชุมพร 2 แห่ง และตรัง 2 แห่งในช่วงปี 2022-2023 (2565-2566) โดยงบฯลงทุนทั้งแผนอยู่ที่ 14,400 ล้านบาท

พร้อมกันนี้บริษัทมุ่งพัฒนานวัตกรรมถุงมือยางไร้แป้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งสินค้าตัวอย่างไปทดสอบทางห้องปฏิบัติการจนกว่าจะมีความมั่นใจ คาดว่าผลจะออกมาชัดเจนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยจะเริ่มผลิตในโรงงานที่ อ.หาดใหญ่ คาดว่าในปีนี้จะเห็นสินค้านี้ลอนช์ออกมาแน่นอน