ชาวสวนใต้ช้ำยางดิ่งกว่า 10 บาท/กก. “มาเลย์” ล็อกดาวน์-ปิดศรีตรังฯต่อ

น้ำยางดิบ

ชาวสวนใต้ช้ำราคาน้ำยางดิ่งต่อเนื่อง 4 วันร่วงกว่า 10 บาท จากราคา 63.50 บาท/กก. มาอยู่ที่ 51-53 บาท/กก. หลังมาเลย์ “ล็อกดาวน์”-ปิดโรงงานถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ 2 แห่ง โดนพิษโควิดระบาดทั้งที่ตรังและสุราษฎร์ธานี ชี้หากบียู กยท.ไม่เข้ามาพยุงมีสิทธิ์ร่วงถึง 40 บาท/กก. สวนทางดีมานด์ตลาดโลกมีความต้องการน้ำยางสูง ชง กยท.ลงทุนสร้าง “แท็งก์เก็บสต๊อกน้ำยางสด” ในพื้นที่ 3 จังหวัด “สงขลา-นครศรีธรรมราช-ฉะเชิงเทรา” แก้ปัญหาระยะยาว

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักในประเทศไทย

และประเทศมาเลเซียครั้งล่าสุด ส่งผลให้ประเทศมาเลเซียล็อกดาวน์ประเทศ ตั้งแต่วันที่1-14 มิถุนายน 2564 และอีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมถุงมือยาง บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ปิดตัวลงที่ จ.ตรัง

เนื่องจากพนักงานติดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของราคายางพาราในประเทศไทย โดยเฉพาะราคาน้ำยางสดทางภาคใต้ได้ร่วงลงมาประมาณ 10 บาท/กก. บางพื้นที่กว่า 10 บาท/กก.

ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงวันนี้ (2 มิ.ย. 64) เฉลี่ยราคาลงวันละ 3-4 บาท ในแต่ละพื้นที่จากราคา 63.50 บาท/กก. มาเหลืออยู่ที่ 51-53 บาท/กก. ทั้งนี้ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด โดยเฉพาะ จ.สงขลา วันนี้ราคา 54 บาท/กก. (2 มิ.ย. 64) โดยภาพรวมเฉลี่ย 3 วัน ราคาลงมาประมาณ 10 บาท/กก. และมีแนวโน้มราคาอาจปรับตัวลงอีก

นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ราคาน้ำยางสดที่ปรับตัวลง ส่งผลให้หน่วยธุรกิจ (business unit : BU) บียู การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องเข้ามารับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรที่ทำการตลาดกลางยาง กยท.อ.นาทวี จ.สงขลา ในราคา 55.50 บาท/กก.

เพื่อพยุงราคาชี้นำไม่ให้ปรับตัวลงมากกว่านี้ หากบียู กยท.ไม่เข้ามารับซื้อน้ำยางสดในตลาดกลางกยท. ราคามีแนวโน้มร่วงลงมาอยู่ที่ 40 บาท/กก. เมื่อบียูเข้ามารับซื้อ ผู้ซื้อรายอื่น ๆ จะต้องซื้อตาม โดยบียูได้เข้ามารับซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564 และรับซื้อได้น้ำยางสดไปกว่า 184,000 กก.แล้ว

“ช่วงนี้ปริมาณน้ำยางสดออกมาสู่ตลาดภาคใต้น้อยมากประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ชาวสวนยางพารากรีดได้บ้างไม่ได้บ้าง ดีมานด์ซัพพลายสวนทางกัน

ทั้งที่ตลาดโลกยังมีความต้องการน้ำยางสูงในการนำไปแปรรูปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ จากสถานการณ์โควิด-19 คาดการณ์ว่าน้ำยางควรจะยืนราคาสูงประมาณ 60-70 บาท/กก.” นายสมพงศ์กล่าว

นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ปกติน้ำยางสดจากภาคใต้หลายจังหวัดจะถูกส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูปน้ำยางข้นที่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานน้ำยางข้นรายใหญ่ของประเทศไทย

และส่งต่อน้ำยางสดออกไปยังประเทศมาเลเซียด้วย โดยปริมาณน้ำยางสดเข้าสู่ จ.สงขลา ประมาณ 300,000 กก./วัน หากคำนวณเป็นยางแห้งประมาณ 100,000 กก.

โดยเม็ดเงินจะหายไปจากมือเกษตรกรประมาณ 400,000 บาท/วัน ในระยะ 3 วัน เท่ากับเม็ดเงินหายไปจากเกษตรกรชาวสวนยางพาราประมาณ 1-2 ล้านบาท หากระยะยาวราคาปรับลงอีก จะหดหายไปอีกจำนวนมาก

นายสมพงศ์กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ปัญหาน้ำยางสดราคาขยับลง กลุ่มเกษตรกร สกย.นาทวี และที่อื่น ๆ เคยนำเสนอต่อ กยท.มาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เช่น การลงทุนสร้างบอยเลอร์ หรือแท็งก์เก็บน้ำยางสดในพื้นที่ จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช

และ จ.ฉะเชิงเทรา โดย อ.นาทวี จ.สงขลา แหล่งผลิตยางพารารายใหญ่ มีที่ดิน 10-20 ไร่ สามารถตั้งบอยเลอร์ได้ประมาณ 10 แท็งก์ สามารถเก็บน้ำยางสดได้ประมาณ 1 ล้านตัน เป็นต้น โดยบียู กยท. รับซื้อน้ำยางสดเมื่อมีปัญหานำมากักเก็บไว้ และสามารถนำออกขายเมื่อได้ราคาเหมาะสม โดยใช้ พ.ร.บ.กยท.มาตรา 49 (3)

สำหรับ บียู กยท. สามารถประกอบธุรกิจได้เต็มศักยภาพ สามารถหารายได้เข้ามา ไม่ใช่มีแต่รายจ่าย ดังนั้นอยู่ที่การจัดการบริหารของ กยท.

แหล่งข่าวจากวงการค้ายางพารา เปิดเผยว่า สำหรับราคาน้ำยางสด จะมีการกำหนดตั้งราคาวัน/วัน โดยบางกลุ่มของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำยางสดแปรรูปเป็นน้ำยางข้นภายในประเทศ

โดยสามารถนำเสนอราคาต่อกันว่ารายใดต้องการปริมาณน้ำยางสดมากกว่า ก็เสนอราคาที่สูงกว่ารายอื่น ๆ เช่น 00.50 ถึง 1 บาท/กก. เป็นต้น ก็สามารถรับซื้อน้ำยางสดได้ปริมาณมากไป