FTA ไทย-ฮ่องกง ส่อเค้าวืด ?

การจับมือไทย-ฮ่องกง

จริงอยู่ที่การทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถือว่าเป็นการสร้างแต้ม ต่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถการส่งออกของไทยไปยังตลาดเป้าหมาย แต่ที่ผ่านมาไทยถือว่าได้ทำเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 10 ฉบับ แล้วยัง “จำเป็น” หรือไม่ที่จะต้องเริ่มเปิดเจรจากับประเทศใหม่ที่อาจจะเป็นหนึ่งในสมาชิกของเอฟทีเอฉบับอื่นอยู่แล้ว อย่างกรณีของ “ฮ่องกง” ซึ่งประเทศไทยได้เคยทำเอฟทีเออยู่แล้วในกรอบ “อาเซียน-ฮ่องกง” มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

ในเวทีสัมมนา “ความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ฮ่องกง” จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองจากที่มอบให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มศึกษาเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

เปิดเสรีลงทุนได้มากกว่า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทยในปี 2563 มีการค้ากันมูลค่า 13,298 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 11,292 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 2,006 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณี และเครื่องประดับ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และมีการเปิดเสรีการทำธุรกิจ การค้า บริการ รวมถึงการลงทุน เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ทั้งยังเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ ศูนย์กลางทางการเงิน ประชากรของฮ่องกงมีรายได้สูง และมีเอฟทีเอกับหลายประเทศ เช่น จีน ชิลี นิวซีแลนด์ มาเก๊า อาเซียน และที่สำคัญเป็นประตู่สู่ตลาดจีน

“ผลการสัมมนาเบื้องต้นพบว่าด้านการเปิดตลาดสินค้าไทยจะไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติม เนื่องจากฮ่องกงยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าทุกรายการให้ไทยแล้วภายใต้ FTA อาเซียน-ฮ่องกง แต่ในส่วนของภาคบริการจะสามารถทำให้ฮ่องกงสนใจที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจและลงทุนเพิ่มเติมในไทย อาทิ สาขาอสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน ประกันภัย และโลจิสติกส์”

แนะใช้กรอบอาเซียน-JTC

ขณะที่นายจักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา อาจารย์ประจําคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าปัจจุบันฮ่องกงมีนโยบายสนับสนุนการค้าเสรี เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ 100% อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้นักธุรกิจอย่างดี เปิดกว้างตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกงมีความร่วมมือกับจีนทั้ง Belt and Road Initiative (BRI) และเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GAB) ที่ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการ ภาคบริการ การลงทุนเปิดเสรีจะมีสงวนสิทธิเพียงไม่กี่สาขา เช่น ไปรษณีย์ การประมงในน่านน้ำ การทำเหมืองที่ยังไม่เปิด หากดูภาพรวมฮ่องกงเปิดเสรีในหลาย ๆ กิจการทางธุรกิจ

“ไทยยังมีสิทธิพิเศษตามเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเสนอให้มีกลไกการหารือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฮ่องกงผ่านคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee :
JTC) เป็นเวทีหารือสร้างความร่วมมือและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อเพิ่มโอกาสขยายตลาดเข้าสู่ฮ่องกงในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ สินค้าเกษตร อาหาร สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ สินค้าเกี่ยวกับการทำงานอยู่บ้าน ตลอดจนภาคบริการ”

เอกชนชี้ยังมี RCEP

นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร กรรมการเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-จีน และกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การทำเอฟทีเอไทย-ฮ่องกงเป็นเรื่องที่ดี เป็นประโยชน์ในการอาศัยฮ่องกงเป็นประตูกระจายสินค้าเข้าสู่เมืองสำคัญ ๆ ของจีน แต่ผู้ประกอบการไทยก็ยังกังวลอยู่บ้าง

จากที่หารือกับสมาคมสภาธุรกิจไทย-จีน ยังมีความเห็นที่หลากหลาย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเอฟทีเอเพิ่มเติม เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ ไทยจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความร่วมมือในด้านนี้ อีกทั้งฮ่องกงยังสนใจเข้าร่วม RCEP ด้วย การเจรจาเอฟทีเอจะต้องใช้เวลานาน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ตั้งคำถามว่า หากจะเดินหน้าเอฟทีเอไทย-ฮ่องกง ไทยมีความพร้อมหรือไม่ เนื่องจากต้องยอมรับว่าฮ่องกงเก่งในธุรกิจด้านบริการ โลจิสติกส์ ซึ่งการเจรจาเปิดเสรีด้านนี้ไทยต้องเตรียมพร้อม เพราะหากมีการเจรจาทำข้อตกลงจริงทำอย่างไรให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดนอกจากการค้าสินค้า

โดยความเห็นภาคเอกชนยังชี้ว่า ไทยควรเร่งใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA อาเซียน-ฮ่องกงที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งยกระดับความร่วมมือกับฮ่องกงในด้านต่าง ๆ จากการเชื่อมโยงการค้าสู่จีนตามยุทธศาสตร์ GAB ซึ่งจีนกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่สำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมือง และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

หากสำเร็จจะช่วยเสริมแกร่งด้านพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน และประกันภัย เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ของไทยในอนาคต