ส่งออกรับอานิสงส์ค่าบาทอ่อน “สิ่งทอ-รถยนต์” ออร์เดอร์พุ่ง

อานิสงส์ “บาทอ่อน” หนุนส่งออกครึ่งปีหลังโต 10% ตามเป้า การ์เมนต์โตแรง 10-15% สินค้าเกษตรแผ่วแต่ก็โตได้ 3-5% อุตฯยานยนต์ฉลุยเพิ่มไลน์ผลิตรถส่งออกเป็น 8 แสนคัน “ฟอร์ด-นิสสัน” เด้งรับออร์เดอร์พุ่ง 40-60% เผยปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน-ค่าระวางเรือแพงยังเป็นปัจจัยกดดันครึ่งปีหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกภายใต้สถานการณ์โควิด ณ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2564) มีมูลค่า 108,635 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.78% เป็นยอดส่งออกพฤษภาคมเดือนเดียวมูลค่าถึง 23,057 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังได้รับแรงหนุนจากตลาดส่งออกเติบโต และปัจจัยบวกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าหรือ “บาทอ่อน” ลงมาอยู่ที่ 32.67 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ 13 ก.ค. 2564 เทียบกับต้นเดือน ก.ค.อยู่ที่ 32.09 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกที่เติบโตได้ดีประกอบด้วยกลุ่มเกษตร มีผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ น้ำมันสำเร็จรูป

บาทอ่อนหนุนส่งออกโต 10%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้คาดการณ์ภาคการส่งออกขยายตัว 10% จากปีก่อน กลายเป็นเครื่องจักรสำคัญที่เหลืออยู่เพียงตัวเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมีปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น และปัจจัยสำคัญเงินบาทอ่อนค่าช่วยหนุนความสามารถในการแข่งขันตลาดส่งออก

ส่วนปัจจัยลบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการขึ้นค่าระวางเรือเป็นปัจจัยที่ประเทศผู้ส่งออกต่างต้องเผชิญเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้น สิ่งสำคัญตอนนี้ไทยต้องดูแลปัญหาการแพร่ระบาดโควิดไม่ให้กระทบต่อภาคการผลิต ซึ่งการใช้มาตรการเพิ่มความเข้มข้นในพื้นที่สีแดง 10 จังหวัดเป็นเวลา 14 วัน จะช่วยควบคุมโควิดในพื้นที่ฐานผลิตสำคัญอย่างอาหารทะเลหรือถุงมือยางทางจังหวัดภาคใต้ได้

สะดุดตู้ขาด-ค่าระวางพุ่ง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภาวะเงินบาทอ่อนค่าช่วงนี้ถือว่ามาได้ถูกเวลา เพราะเป็นจังหวะที่การส่งออกเป็นเครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นตัวช่วยผู้ส่งออกในด้านความสามารถแข่งขันสินค้าไทย โดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์มาก หลังจากที่ตัวเลขติดลบยาวนานหลายเดือน จึงเห็นสัญญาณยานยนต์และชิ้นส่วนเริ่มขยับตัวขึ้น ทำให้มีผลดีต่อภาพรวม

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ผัก ผลไม้กระป๋อง อย่างไรก็ตาม มีผลกระทบต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า เช่น ทูน่า, แผ่นเหล็กผลิตกระป๋อง

ขณะที่ปัจจุบันมีปัจจัยกดดันมากมาย ทั้งต้นทุนน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนทำให้ค่าระวางเรือแพงขึ้น ล่าสุด ต้องติดตามสถานการณ์โควิดที่พบว่ามีการกระจายของสายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้าและการนำเข้า

พร้อมกันนี้ มีการคาดการณ์ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ นั่นคือถึงแม้บาทอ่อนแต่ปัจจัยกระทบยังมีอีกมาก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทอ่อนช่วยการส่งออกสินค้าข้าวได้ แต่ปัจจุบันราคาข้าวไทยก็ไม่ได้สูงมากนัก โดยข้าวขาว 5% ตันละ 415 เหรียญสหรัฐ ข้าวอินเดียตันละ 390 เหรียญสหรัฐ ข้าวเวียดนามตันละ 440-450 เหรียญสหรัฐ

เท่ากับว่าราคาข้าวไทยห่างจากอินเดียเพียงตันละ 20 เหรียญสหรัฐ จากเดิมเคยห่างถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ข้าวไทยยังถูกกว่าเวียดนาม ทำให้การส่งออกดีขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กับค่าระวางเรือแพง ว่าโต 3-5%

การ์เมนต์โต 10-15%

ด้านนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนช่วยเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ก่อนหน้านี้เคยประเมินภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มปีนี้ขยายตัว 10-15% จากปี 2563 เพราะแม้ว่าจะมีโรงงานประสบปัญหาโควิดต้องปรับโยกไลน์การผลิตและขอเลื่อนชิปเมนต์ไปบางส่วน แต่มีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดรวม

รถยนต์ผลิตเพิ่ม 5 หมื่นคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดส่งออกแนวโน้มดีขึ้น สัปดาห์ก่อนทางกลุ่มตกลงกันว่าจะผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น จากตัวเลขรวมทั้งปี 1,500,000 คัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศ 750,000 คัน และส่งออกอีก 750,000 คัน จะขยายการผลิตเพื่อส่งออกอีกเป็น 800,000 คัน

“ตอนนี้สัญญาณการส่งออกยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก หลังปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มบรรเทา รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของประเทศที่เราส่งออกเริ่มดีขึ้น และเศรษฐกิจที่แนวโน้มสดใสมากขึ้น”

ตลาดส่งออกฟอร์ดโตพรวด

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันฟอร์ดผลิตรถยนต์จากโรงงานในประเทศไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งเพื่อรองรับตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างออสเตรเลีย ทั้งฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีมาก

โดย 5 เดือนแรก ยอดขายฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อในออสเตรเลีย โตขึ้นถึง 44% ส่วนฟอร์ด เอเวอเรสต์ โต 47% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรุ่นย่อยใหม่อย่างเรนเจอร์ FX4 Max และเอเวอเรสต์ สปอร์ต ให้เป็นตัวเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้นกับผู้บริโภค

และฟอร์ด เรนเจอร์ ยังครองอันดับ 1 รถกระบะที่ขายดีที่สุดในเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ยังเป็นรถที่ขายดีที่สุดในเวียดนามต่อเนื่อง นอกจากนี้รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อของฟอร์ดยังเป็นรถที่ขายดีที่สุดในฟิลิปปินส์ จากความสำเร็จอย่างท่วมท้นของฟอร์ด เรนเจอร์ และเรนเจอร์ แร็พเตอร์

“เราเชื่อมั่นว่าตลาดส่งออกของไทยในปีนี้ยังมีทิศทางที่ดีและสามารถเติบโตได้จากปัจจัยสนับสนุนโดยเฉพาะโปรดักต์ของเราเป็นที่นิยม และมีการนำเสนอรถรุ่นพิเศษและต่างอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบันรถยนต์ฟอร์ดที่ผลิตในประเทศ มาจากโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) และโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (เอเอที) เพื่อส่งออกไปทั่วโลกกว่า 100 แห่ง

คิกส์-นาวาราหนุนส่งออกโต

นายอิซาโอะ เซคิกุจิ รองประธานสายงานการตลาดและการขาย นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน และประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันยอดการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์นิสสันจากประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2563 ทั้งในด้านปริมาณและจำนวนประเทศที่ส่งออก


ทั้งนี้เป็นผลมาจากรถยนต์ 2 รุ่นใหม่ที่เปิดตัวในปีที่ผ่านมา อย่างคิกส์ อี-เพาเวอร์ และนิสสัน นาวารา ใหม่ โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแห่งเดียวในโลกที่ผลิตคิกส์ อี-เพาเวอร์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีงบฯ 2563 นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทยมียอดการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 60% และในจำนวนนี้ มากกว่า 87% นั้นเป็นนิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์