โควิดถล่ม 3 ประเทศค้ายาง ชอร์ตซัพพลาย-ราคาเดี้ยง

ยางพารา

จับตาโควิดระลอกใหม่ สายพันธุ์เดลต้าถล่มสต๊อกยางเพื่อนบ้าน ลามทุบซัพพลาย 3 ประเทศ คือ ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ชอร์ตผลผลิตลดลง 4-5% จากมาตรการเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ รับราคายางแผ่นในประเทศ กก.ละ 52 บาท ปัจจัยตลาดโลกสต๊อกน้ำมันดิบปรับตัวลดลง กยท.คงเป้าหมายดึงน้ำยางออกจากตลาด 200,000 ตัน ดูแลรักษาเสถียรภาพราคา

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าราคายางก่อนหน้านี้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยด้วยปัจจัยสถานการณ์โควิด ซึ่งวันนี้เริ่มดีขึ้น โดยราคายางแผ่นรมควันปรับตัวลดลงตามความต้องการของผู้ซื้อภายในประเทศ

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ราคากลางเปิดตลาด กก.ละ 52.09 บาท โดยปิดตลาดสูงสุด ณ ตลาดกลางสุราษฎร์ธานี ราคา กก.ละ 51.75 บาท ส่วนตลาดกลางสงขลาและตลาดกลางนครศรีธรรมราช ราคา กก.ละ 51.70 บาท และ กก.ละ 51.51 บาท ขณะที่ภาพรวมตลาดโลกก็ปรับตัวลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ กยท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อนบ้านเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมอื่นทั่วโลก โดยเฉพาะ 2 ประเทศที่มีการผลิตยางมากของโลก

ล่าสุดข้อมูลกลุ่มยางพาราของ 3 ประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council : ITRC) ระบุว่า ปริมาณผลผลิตขณะนี้แทบไม่มีแล้ว ค่อนข้างขาดแคลน เรียกได้ว่าดีมานด์และซัพพลายชอร์ตโดย 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ที่มีปริมาณการผลิตได้ 3.22 ล้านตัน/ปี และประเทศมาเลเซียผลิตได้ 0.56 ล้านตัน/ปี

คาดว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้ ทั้ง 2 ประเทศผลผลิตรวมจะลดลงถึง 4-5% เนื่องด้วยมาตรการล็อกดาวน์ยอดผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าสูงขึ้น

ขณะที่ไทยเองนอกจากสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ยังได้รับผลกระทบจากภาคใต้ฝนตกชุก ประกอบกับการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งยางยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้ค่าขนส่งมีราคาต้นทุนสูง รวมทั้งขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ยางมีน้อยจึงส่งผลต่อราคาในประเทศ

นอกจากนี้ สต๊อกยางต่างประเทศยังลดลงเนื่องจากทุกประเทศมีความต้องการมากขึ้น จะเห็นได้จากประเทศที่ใช้ยางมากที่สุดและผู้ผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะจีนหากดูตัวเลขการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 10.62 ล้านคัน แต่การส่งออกจำหน่ายอยู่ที่ 10.87 ล้านคัน ชี้ให้เห็นว่ามากเกินความต้องการ

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้จะเห็นว่า ผู้ผลิตของโลกอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซียไม่สามารถส่งออกได้เท่าที่ควร เรียกได้ว่าซัพพลายชอร์ตไทยก็แทบไม่มีของหรือมีน้อยทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ราคายางถือว่าไม่แย่มากเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐดีมานด์ที่มีมากทั้งผลผลิตน้อย ผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการยางเพื่อส่งมอบอยู่ต้องดูไปอีกสักระยะ”

สำหรับพื้นที่ที่ประกาศล็อกดาวน์โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆในพื้นที่ รวมถึงมาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานนั้น ไม่กระทบต่ออาชีพกรีดยางและขนส่งยาง เนื่องจากราชกิจจานุเบกษาประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ระบุว่า ผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมจะได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงอาชีพการทำสวนยางด้วย

ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางจึงสามารถกรีดยาง รวมทั้งการขนส่งผลผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเพื่อส่งออกได้ตามปกติ เพียงแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในพื้นที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา กยท.พยายามกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาด โดยดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำยางสดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชะลอการขาย เก็บรวบรวมน้ำยางสดไว้ รอจังหวะที่ตลาดมีความต้องการ หรืออยู่ในระดับราคาที่สถาบันเกษตรกรเห็นว่าเหมาะสมแล้วนำออกมาขาย

ซึ่ง กยท.ได้จัดหาอุปกรณ์แท็งก์เก็บน้ำยางสดพร้อมสารเคมีเพื่อยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางให้คงคุณภาพได้ 1-2 เดือน และสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนซื้อน้ำยางสดมาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว

โดยมีเป้าหมายดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 200,000 ตัน เบื้องต้นดำเนินการแล้วใน จ.นครศรีธรรมราช มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมและรับแท็งก์รวบรวมน้ำยางแล้วกว่า 90 ถัง ได้ดำเนินการเพิ่มเติมใน จ.ตรัง และ จ.พัทลุง จะทยอยซื้อโดยตรงจากเกษตรกร สหกรณ์ พื้นที่อื่น ๆ ในจังหวะราคาที่เหมาะสม และยังมีเป้าหมายยางก้อนถ้วย และน้ำยางสดจำนวน 20,300 ตัน

ทั้งนี้ กยท.ยังคงติดตามเฝ้าระวังพร้อมแก้ปัญหาในสภาวะยางผันผวน เชื่อว่ามาเลเซียอาจมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ถุงมือยางเข้าสู่ภาคการผลิต คาดว่าราคายางในเดือนนี้มีโอกาสฟื้นตัวขึ้น

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ราคายางผันผวนและปรับตัวลดลง ตอนนี้ก็ทรง ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประเทศมาเลเซียและไทยเองก็เผชิญสถานการณ์โควิด ทำให้โรงงานมาเลเซียไม่สามารถรับซื้อน้ำยางข้นจากไทยได้ ส่งผลต่อราคายางในประเทศไทย

รวมถึงอินโดนีเซียก็ค่อนข้างนิ่ง ผลผลิตต่าง ๆ ส่งมอบไม่ได้ตอนนี้ ยางไทยเองก็ได้ผลผลิตน้อยลงมาก และการลงทุน การซื้อขายยางช่วงนี้ก็ไม่ใช่จังหวะที่ดี ราคาจึงลดลงตามสถานการณ์ที่ควบคุมลำบาก

ทั้งนี้ ภาครัฐก็พยายามออกส่วนต่างให้ แต่ก็เข้าใจว่าทุกคนก็ลำบากงบประมาณก็นำไปใช้ส่วนที่จำเป็นก่อน และควรเดินหน้าเพิ่มมูลค่ายางในประเทศให้มากขึ้น

“ไม่ใช่เรื่องทุบราคา หรือโทษกันไปมาต้องดูราคายางต่างประเทศกับตลาดโลกตอนนี้ก็ไม่ได้ห่างมาก ตลาดสิงคโปร์เองก็ราคาใกล้เคียงมาก ถ้าห่างมากก็รู้กันว่าผมต้องออกมาพูดแน่นอน แต่เราต้องยอมรับตลาดมันนิ่ง ผมอยู่ในคณะกรรมการมา 20 ปี อย่าว่าแต่ยางเลยธุรกิจอย่างอื่นก็ขยับตัวลำบาก ก็ขอให้เกษตรกรสวนยางเองปรับเปลี่ยนทำอาชีพเสริม จะมารอราคายางอย่างเดียวคงจะยาก ล็อกดาวน์ก็เดินทางลำบาก และโควิดคงอยู่อีกนาน”