9 พันโรงงานรับมือล็อกดาวน์ ญี่ปุ่นห่วงซัพพลายเชนติดโควิด

Photo by AFP

9,000 โรงงาน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ปรับแผนรับยกระดับล็อกดาวน์ อุตฯรถยนต์ป้องไลน์การผลิต “โตโยต้า” ปิดโรงงาน3แห่งชั่วคราว หลังคลัสเตอร์ชิ้นส่วนติดโควิด  “ไทยซัมมิท” ลดงานโอทีกะกลางคืน ส.อ.ท.ประเมิน 1 เดือนสูญ 1 แสนล้าน หวังภาคการผลิตไม่สะดุด ด้านแรงงานฉะเชิงเทรา 2 หมื่นคนป่วนติดกฎห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ญี่ปุ่นห่วงซัพพลายเชนติดโควิด หวั่นกระทบไลน์การผลิต สมุทรสาครวิกฤตเช่าอพาร์ตเมนต์-หอพักใช้กักตัวแรงงาน

9,000 โรงงานสีแดงเข้มปรับแผน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีการประกาศพื้นที่ล็อกดาวน์ เพิ่มเติม 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีผลบังคับใช้ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า ส.อ.ท.ได้ประเมินสถานการณ์ว่าการขยายพื้นที่ล็อกดาวน์จาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ในช่วงเวลา 14 วัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท

แต่หากขยายระยะเวลาล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 1 เดือนก็จะกระทบประมาณ 1 แสนล้านบาท สิ่งที่สำคัญคือ รัฐต้องดำเนินมาตรการควบคุมการติดเชื้อ โดยเฉพาะการเพิ่มการตรวจคัดแยกเชิงรุก โดยใช้ antigen rapid test เพื่อคัดแยกคนที่แข็งแรงออกจากคนที่ป่วย เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ รวมถึงแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนโดยเร็ว

สำหรับภาคการผลิตขณะนี้ จากที่รับรายงานสมาชิก ส.อ.ท. ประมาณ 8,000-9,000 โรงงาน ในพื้นที่ 13 จังหวัด ที่มีการล็อกดาวน์ ต่างมีการปรับตัวและปรับแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการ เบื้องต้นยังไม่ได้รับเสียงสะท้อนเรื่องผลกระทบเพราะมาตรการไม่ได้ห้ามเปิดยังคงเดินไลน์ผลิตได้ และเรื่องโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าไม่ได้หยุด

ซึ่งขณะนี้ภาคการส่งออกถือว่าไปได้ดี เพราะมีปัจจัยเรื่องบาทอ่อนค่ามาช่วยเสริม ประกอบกับความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแพ็กเกจจิ้ง สุขภาพ ถุงมือยาง ชุด PPE และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่จะมีกระทบบางอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มโรงงานไก่แปรรูปที่พบการติดเชื้อ ก็ปิดเฉพาะโรงงาน แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายทั้งอุตสาหกรรม

“แม้ว่ามาตรการแต่ละจังหวัดทยอยออกมา แต่ภาคการผลิตยังไม่กระทบ ทุกคนปรับแผนการผลิต เช่น ปรับกะเวลาทำงาน จะมีบางโรงงานที่พบการติดเชื้อก็ปิดโซน หรือพบจำนวนมากก็ปิดโรงงานในบางพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของภาครัฐ ซึ่งก็จะเป็นเฉพาะโรงงาน ๆ ไป ไม่ได้กระทบทั้งหมด”

โรงงานรถยนต์ปรับใหญ่รับล็อกดาวน์

ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งฐานการผลิตส่วนใหญ่ 80% อยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้มีการหารือกับผู้บริหารทั้งไลน์การผลิตและกลุ่มชิ้นส่วน เพื่อหาข้อสรุปหลังมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งหลัก ๆ ยังคงเหมือนเดิม

โดยเฉพาะมาตรการเข้มข้นในการป้องกันโรค โดยเน้นย้ำและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อ และที่ต้องทำความเข้าใจกับแรงงานเพิ่มขึ้นคือ การทำงานล่วงเวลา (โอที) ซึ่งจะประสานกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละโรงงานให้ออกเอกสารกำกับการเดินทางสำหรับแรงงานที่ต้องเดินทางข้ามพื้นที่ควบคุม ซึ่งแต่ละโรงงานก็จะมีรถรับส่งพนักงานอยู่แล้ว

“สถานการณ์การผลิตรถยนต์สวนทางกับการแพร่ระบาดมาก มีการทำงาน 2 กะ แถมยังเพิ่มโอทีด้วย แม้ว่าตลาดในประเทศจะไม่ดี แต่มีออร์เดอร์ส่งออกมากขึ้น เราจัดระบบการทำงานให้แรงงานส่วนใหญ่เพิ่มความระมัดระวัง และในไลน์การผลิตก็แบ่งเป็นสเตชั่น ไม่ได้ใกล้ชิดกันมาก ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สภาพการทำงานแออัด นั่งโต๊ะเดียวกัน ใกล้ชิดกัน แม้โรงงานจะมีมาตรการป้องกันอย่างดี แต่หลายโรงงานที่ไม่แข็งแรงและจริงจัง หวั่นว่าอาจจะเป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์ที่ต้องจับตา”

“ไทยซัมมิท” ลดทำงานกะดึก

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยซัมมิทได้เพิ่มความเข้มข้นต่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ตอนนี้ยังเดินหน้าผลิตชิ้นส่วนตามออร์เดอร์ของแต่ละค่ายรถยนต์ และปรับการทำงานตามมาตรการล็อกดาวน์ โดยแรงงานกะดึกตอนนี้ให้ทำเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

พร้อมเร่งจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานทุกคน มีมาตรการตรวจโรคเชิงรุก โดยเตรียมชุดตรวจ antigen test kit ไว้ใช้ภายในบริษัท ขณะที่พนักงานออฟฟิศได้จัดที่นั่งใหม่ เว้นระยะห่าง โดยขยายห้องทำงานและแยกห้องออกไปทำตึกอื่น ๆ ด้วย

“เราเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้วก่อนประกาศล็อกดาวน์ ส่วนกรณีที่พนักงานมีความเสี่ยงก็ให้กักตัวที่บ้าน และเมื่อครบกำหนดจะกลับมาทำงานก็ต้องตรวจแบบสวอบก่อนเพื่อความมั่นใจ หรือการประชุมเน้นการประชุมแบบออนไลน์ และงดบุคคลภายนอกเข้ามาในบริษัท” นางสาวชนาพรรณกล่าว

โตโยต้าปิด รง.3 แห่ง หลังชิ้นส่วนติดโควิด

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564  บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ในโรงงาน 3 แห่งในประเทศไทย ได้แก่โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ ,โรงงานบ้านโพธิ์ และโรงงานเกตุเวย์ จ. ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 20-23ก.ค.นี้

โดยเริ่มจากส่วนของโรงงานบ้านโพธิ์กะที่ 2 (20 ก.ค.) ขณะที่โรงงานเกตุเวย์และ สำโรงนั้นจะเริ่มตั้งแต่กะที่ 1 (23 ก.ค.)เป็นเบื้องต้นก่อน เพื่อรอประเมินสถานการณ์อีกครั้งเนื่องจาก วันที่ 24-28 ก.ค. นี้ บริษัทได้ประกาศให้เป็นวันหยุดตามปีปฎิทินของบริษัทไปก่อนหน้าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้โตโยต้า ต้องตัดสินใจประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ของโรงงานทั้ง 3 แห่งนั้น เป็นผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่โรงงานผลิตสายไฟรถยนต์ ของบริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

ซึ่งหลังจากการติดตามและสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขพบว่ามีผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานของสถานประกอบการกว่า 200 ราย ตามมติที่ประชุมของกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา มีคำสั่งให้ปิดบริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา14 วัน โดยมีคำสั่งปฎิบัติตามตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของโตโยต้ายังคงดำเนินการผลิตที่โรงงานทั้ง 3 แห่ง  ภายใต้กฎระเบียบ และแนวทางการดำเนินงานตามที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงคำนึงด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงาน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านธุรกิจเป็นสำคัญ นอกจากนี้ บริษัทยังส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้าน (WFH) ให้มากที่สุด

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าผลพวงจากคลัสเตอร์โรงงานสายไฟครั้งนี้ ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเป็นที่ทราบกันดีว่าการผลิตรถยนต์หาก ชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งขาดไป หรือไม่สามารถส่งเข้ามาโรงงานประกอบรถยนต์ได้ ก็จะทำให้ทั้งไลน์ผลิตต้องหยุดเพื่อรอชิ้นส่วนนั้นๆ ทำให้ระบบซัพพลายเชนสะดุดทั้งระบบ ที่ผ่านมาทุกคนต่างเฝ้าระวังการแพร่ระบาดกันอย่างเข้มข้นเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาล

“ฮอนด้า”ประกาศหยุด 6 วัน

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฮอนด้ามีโรงงานผลิต 2 โรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ล็อกดาวน์เพิ่มเติม แต่ไลน์ผลิตทั้ง 2 โรงงานยังเดินเครื่องตามปกติ โดยมีนโยบายหลักปฏิบัติงานชัดเจนตามมาตรการของกรมควบคุมโรค

อย่างไรก็ตามในวันที่ 23-28 กรกฎาคมนี้ ทางโรงงานจะประกาศหยุดไลน์ผลิตทั้ง 2 แห่ง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำความสะอาดเครื่องจักร ตามแผนงานที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปี ทั้งในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี ส่วนพนักงานออฟฟิศที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการไลน์ผลิตก็มีนโยบายชัดเจนให้ปฏิบัติงานที่บ้านให้ได้มากที่สุด

แรงงานฉะเชิงเทราป่วน

นายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า จังหวัดฉะเชิงเทราได้มีการประชุมและออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สำหรับภาคอุตสาหกรรมมาตรการที่จะกระทบหนักสุด ๆ คือ ห้ามคนเข้า-ออกในพื้นที่จังหวัด 14 วัน จากข้อมูลสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแจ้งว่า มีแรงงานเดินทางข้ามจังหวัดอยู่ประมาณ 20,000 คนต่อวัน

“จากสถานการณ์ หากปล่อยให้แรงงานยังเดินไปเช้าเย็นกลับจะคุมการแพร่ระบาดยาก จึงออกประกาศห้ามเดินทางเข้า-ออกจังหวัด ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตของโรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งทางสภาอุตฯได้มีการหารือกับ นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว โดยขอเวลา 5 วัน ในการผ่อนผันเพื่อให้โรงงานและพนักงานได้ปรับตัว พนักงานอาจจะต้องหาบ้านเช่าในจังหวัด หรือจัดหาพื้นที่ในโรงงานให้พัก อีกทั้งโรงงานอาจจะต้องลดกำลังการผลิตด้วย”

นอกจากนี้ โรงงานที่มีการติดเชื้อจำนวนมากจะพิจารณาให้การสั่งปิด เช่น บริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด ที่ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ มีพนักงานประมาณ 4,300 คน พบพนักงานติดเชื้อกว่า 200 คน ซึ่งผู้ว่าฯก็ได้มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม พยายามใช้มาตรการเข้มข้นแล้ว แต่ก็ยังคุมไม่ได้

ที่ประชุมมีการอนุมัติสั่งปิดโรงงาน ตั้งแต่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป เป็นเวลา 14 วัน โดยก่อนปิดโรงงานจะต้องมีการตรวจเชื้อพนักงานทั้งหมด ปัจจุบันตรวจไปแล้ว 500 คน เหลืออีก 3,800 คน รวมถึงให้โรงงานทำแผนเสนอว่าจะดำเนินการควบคุมอย่างไรใน 14 วัน

สต๊อกชิ้นส่วนรับมือระบาดหนัก

ด้าน นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทุกโรงงานต่างบริหารความเสี่ยงภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอนภายในโรงงานของตัวเอง ต้องปรับกันตลอดเวลา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ของโรคระบาดที่หนักขึ้น โดยเฉพาะโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีจำนวนมากในจังหวัดชลบุรี ที่เป็นซัพพลายเชนให้บริษัทประกอบรถยนต์จากญี่ปุ่น

ทางบริษัทญี่ปุ่นได้สอบถามเข้ามาว่า แต่ละโรงงานได้มีการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์วิกฤตอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกระบวนการผลิต ซึ่งเท่าที่ทราบแต่ละบริษัทจะมีการผลิตเพื่อจัดเก็บสต๊อกล่วงหน้า ประมาณ 1-3-6 เดือน เพราะการทำสต๊อกจำนวนมากต้องขึ้นกับปัจจัยความพร้อมหลายอย่าง โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียนด้วย

“ตอนนี้มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางแห่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดเข้าไปในโรงงาน มีพนักงานภายในโรงงานติดโควิด ต้องปิดโรงงานชั่วคราว บริษัทญี่ปุ่นเกรงกระทบไลน์การผลิต ส่วนใหญ่จะมีการเตรียมทำสต๊อกไว้ แต่ตอนนี้การจะทำสต๊อกมากน้อยอย่างไร คงต้องรอดูสัญญาณกันต่อไป”

สมุทรสาครปรับแผนป้องโรงงาน

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้ส่งสัญญาณออกไปยังนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร โรงงานต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก ให้ทุกคนต้องเตรียมแผนไว้รองรับกรณีการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นอีก เพื่อไม่ให้กระทบกับกระบวนการผลิตภายในโรงงาน และการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ตอนนี้ทุกโรงงานเร่งผลิตกันตามออร์เดอร์ไม่ทันอยู่แล้ว เพราะขาดแคลนแรงงาน ทำให้ยังไม่สามารถผลิตเพื่อเก็บสต๊อก เพื่อรองรับวิกฤตในอนาคตได้

“เรายังไม่ได้เตรียมรับถึงขนาดโมเดลอู่ฮั่น แต่ให้ทุกคนเตรียมแผนเตรียมใจ เรามาถึงจุดเฝ้าระวัง เมื่อหมอส่งสัญญาณมาแล้วถึงวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เราอย่าชะล่าใจ ผมบอกว่าอย่าให้ไปถึงจุดเลวร้ายที่สุด ทุกคนต้องช่วยกัน ตอนนี้ผมบอกทุกคนว่า ประชาชนทุกคนคือลูกค้าของเรา ถ้าประชาชนไม่รอด เราก็ไม่รอดเหมือนกัน”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้ต้องยอมว่าระบบควบคุมโรคล้มเหลวแล้ว ระบบสาธารณสุขอยู่ในจุดที่หมอติดเชื้อไปจำนวนมาก ถ้าผู้ติดเชื้อพุ่งไปถึงวันละ 3 หมื่นคน ออร์เดอร์คงไม่ต้องสนใจแล้วละ คงเสียหายไปทั้งประเทศแล้ว

“ขณะนี้ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมุทรสาครต้องปิดชั่วคราว หมอติดโควิดจำนวนมาก ไม่มีคนทำงานแล้ว ขณะที่เตียงเต็ม คนป่วยต้องออกมานอนบริเวณลานจอดรถ ต้องเอาท่อออกซิเจนมาอยู่ริมฟุตปาท เห็นแล้วเศร้าใจมาก ตอนนี้ที่สมุทรสาครมีคนป่วยรอเตียงถึง 3,000 คน”

ล่าสุดจังหวัดสมุทรสาครประกาศงดออกนอกเคหสถานช่วงเคอร์ฟิวเวลา 21.00-04.00 น. ห้ามเดินทางเด็ดขาด แต่ยังมีโรงงานบางแห่งต้องการขอผ่อนผันเรื่องการทำงานเป็นกะของพนักงาน ซึ่งทางจังหวัดระบุชัดเจนไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นบางโรงงานที่มีพนักงานทำงานเป็นกะต้องไปจัดระบบเวลาการทำงานภายในเอง อย่าเพิ่มภาระให้กับหมอ เช่น ช่วงเคอร์ฟิวจัดเป็นกะให้พนักงานทำงาน 3 ทุ่มถึงตี 4 ไปเลย

เช่าอพาร์ตเมนต์-หอพักกักตัว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ช่วยกันคิดหาทางเตรียมรับมือวิกฤตและพยายามลดการเดินทาง โดยทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครรับมาดำเนินการ โดยมาเช่าอพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีคนอยู่ รวมถึงหอพัก อาคารในมหาวิทยาลัยที่ปิด และมีที่ว่างมาทำเป็นสถานที่กักตัวในชุมชน (community isolation) ให้กับโรงงานต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งไม่มีที่พัก

และไม่สามารถทำโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน (factory quarantine isolation) ให้กับพนักงานที่ติดเชื้อได้ ภายใต้การควบคุมของสาธารณสุข แทนที่พนักงานกลับไปกักตัวที่บ้าน และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในชุมชน โดยเอกชนต้องลงขันกันเอง หากทำสำเร็จจะใช้โมเดลนี้ไปทำในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ กำลังเตรียมปรับโรงพยาบาลสนามของสภาอุตสาหกรรมที่สมุทรสาครรับคนไข้สีเหลืองที่อาการไม่มาก แต่ต้องให้ออกซิเจน จำนวน 200 เตียง เพื่อจะระบายคนไข้อาการไม่หนักออกจากโรงพยาบาล และรับคนไข้อาการหนักเข้าไปในโรงพยาบาลให้มากขึ้น ตอนนี้ทุกคนผนึกกำลังช่วยกันบริจาคเงินทำระบบออกซิเจน มีสมาชิกหลายคนร่วมกัน

25 นิคมในพื้นที่ 3 จังหวัด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในพื้นที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ใหม่ 3 จังหวัดนั้น มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่จำนวน 25 แห่ง

โดย นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลได้ประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 13 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีโครงการของโรจนะอยู่ทั้ง 2 จังหวัด โดยเบื้องต้นผู้ประกอบการในนิคมได้เริ่มปรับเวลาการทำงานภายในองค์กรกันเอง

โดยใช้รูปแบบกำหนดการทำงานช่วงเวลากลางวัน (กะกลางวัน) ด้วยการลดจำนวนคนให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนช่วงกลางคืน (กะดึก) แต่ละบริษัทได้ออกหนังสือความจำเป็นในการเข้าออกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และโรงงาน เพื่อให้สามารถเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานได้ โดยไม่ขัดต่อคำสั่งของประกาศจังหวัด

เดิมเรามองแนวโน้มการลงทุนครึ่งหลังของปี 2564 ว่า ทุกอย่างจะกลับมาฟื้นตัว นักลงทุนจะเริ่มทยอยเข้ามาเพื่อดูพื้นที่และตัดสินใจซื้อ/เช่าที่ดินในนิคม แต่ขณะนี้ยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรง ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพ แต่ในวิกฤตก็พบว่ายังคงมีลูกค้าที่ให้ความสนใจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของโรจนะ

“เรายอมรับสภาพกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ สิ่งที่ทำได้คือการที่ยังคงติดต่อประสานงานกับนักลงทุนต่างชาติให้ต่อเนื่อง เรายังมีทีมและเซลส์ขายทั้งในพื้นที่และต่างประเทศอยู่ ไม่หยุดการทำงาน รอเพียงจังหวะที่ประเทศจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งก็เชื่อว่าปี 2565 สถานการณ์และนักลงทุนน่าจะกลับมา”

บิ๊กธุรกิจผนึกกำลังตั้งกองทุน

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานคณะทำงานรับบริจาคช่วยเหลือ เปิดเผยว่า ตามที่ประธาน ส.อ.ท.มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยการจัดตั้งกองทุน ส.อ.ท. ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19 วงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านสาธารณสุข การจัดหา rapid test สร้างห้องความดันลบ และจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนั้น

ล่าสุดได้ประสานขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เบื้องต้นตอบรับมา 13 บริษัท เช่น เอสซีจี ปตท. ซี.พี. เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปและดำเนินการเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ทางสมาคมได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯดำเนินแนวทางเร่งด่วนช่วยเหลือ SMEs เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงโควิด โดยเริ่มจากขอความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพ ให้ขยายระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกจ้าง/พนักงาน โดยจ่ายเงินเดือนทุก 15 วัน รวมทั้งขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มธุรกิจเพื่อประคองเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ภาคส่งออก ภาคก่อสร้าง และโรงงานต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังหารือแนวทางความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดันโครงการ Faster Payment ให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะลดระยะเวลา credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีในระยะเวลา 30 วัน ต่อไปจนถึงสิ้นปี ความร่วมมือกันในการจัดทำสินเชื่อ supply chain factoring เพื่อช่วยเอสเอ็มอีและอื่น ๆ

โดยจะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันของ ส.อ.ท. สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำรายละเอียดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ทันกับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน