“พาราควอต” ได้ไปต่ออีก 6 ปี อุตฯโบ้ยเกษตรไม่มีผลวิเคราะห์อันตราย

คณะกรรมการวัตถุอันตรายผนึกกรมวิชาการเกษตร “ตีแสกหน้า” กระทรวงสาธารณสุข “ไฟเขียว” ต่อทะเบียน “ยาฆ่าหญ้า” พาราควอต”มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ให้บริษัทนำเข้ามาขายได้อีก 6 ปี ส่งผลยักษ์ใหญ่ “ซินเจนทา-เอเลฟองเต้-ดาว อโกรไซแอนส์” ลอยลำ ด้านกรมวิชาการเกษตรแจ้งยังไม่มีมติแบน หากไม่ต่อทะเบียนให้ รัฐอาจถูกฟ้องได้

สืบเนื่องจากวันที่ 5 เม.ย. 60 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560ซึ่งมี 5 กระทรวงหลักเข้าร่วม มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ”พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตราย และระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน (โดยปกติจะต่อ6 ปี/ครั้ง) และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง 47 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว และเตรียมกำหนดพื้นที่การใช้ “ไกลโฟเสต” ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง และได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อนั้น

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พาราควอต อยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ควบคุมอยู่ การประชุมครั้งล่าสุดประมาณปลายเดือนตุลาคม 2560 ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า พาราควอตยังคงสามารถใช้ในภาคการเกษตรได้ต่อ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ทางกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นต้นเรื่องจะต้องเป็นผู้ฟันธงออกมาก่อนว่ามีผลต่อสุขภาพจริงหรือไม่ อันตรายแค่ไหน จากนั้นทาง กรอ. จึงจะชี้ชัดเพื่อออกคำสั่งต่อไปว่าจะแบน ห้ามขาย หรือยังสามารถนำเข้า หรือนำมาขายได้ หรือไปตรงในกฎหมายมาตราใดอย่างไร ขณะนี้คณะกรรมการยังคงประชุมกันบ่อยขึ้นเพื่อให้ได้ผลชี้ชัดกว่านี้ และร่วมกันแนะนำหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูว่าพาราควอตอันตรายต่อมนุษย์จึงเห็นควรต้องยกเลิกใช้ไปเลยหรือไม่” นายพสุกล่าว

นายอุทัย นพคุณ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้สามารถใช้สารเคมีพาราควอตแล้ว 3 ราย ประกอบด้วย 1.ซินเจนทา 3 รายการ 2.เอเลฟองเต้ 1 รายการ และ 3.ดาว อโกรไซแอนส์ 1 รายการ และอีก 1 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนคลอร์ไพริฟอสอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 ราย ทั้งนี้ เนื่องจากคณะอนุกรรมการวัตถุอันตรายรับมอบอำนาจพิจารณาขึ้นทะเบียน ส่วนการที่จะยกเลิกการต่อทะเบียนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 18 ควบคุมอยู่ ในเมื่อยังไม่มีมติแบนสารพาราควอต หากไม่ต่อทะเบียนให้บริษัท หน่วยงานภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องได้ ทั้งนี้ พาราควอตที่พิจารณาต่อทะเบียนไปแล้วจะมีกำหนดเวลาให้ 6 ปี

ปัจจุบันมีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่รอการพิจารณาจากอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่คงค้างการพิจารณา จำนวน 4,100 คำขอ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคำขอขึ้นทะเบียนสารเดิมอยู่ก่อนแล้ว และบางคำขอใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 1.รับขึ้นทะเบียนแล้ว 987 คำขอ 2.ไม่ผ่าน 107 คำขอ 3.รอกฤษฎีกาตีความ (แผนร่วม) 1,585 คำขอ 4.ชะลอให้ไปทดลองในพืชอาหาร 619 คำขอ และ 5.รอกฤษฎีกาตีความ ทดลองในพืชอาหาร 802 คำขอ

สำหรับการต่ออายุ 3 สารเคมี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะแบนในปี 2562 หรือไม่นั้น ล่าสุดทางคณะกรรมการเห็นควรให้จำกัดเฉพาะการใช้ไกลโฟเซตยังไม่มีแนวทางยกเลิกทั้งหมด แต่ให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ และต้องระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย ควบคุมการโฆษณา ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

ส่วนอีก 2 ชนิด คือ พาราควอตและควอร์ไพริฟอส ต้องส่งเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ และด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญาประกอบกับข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขด้วย

“เนื่องจากกรมยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัยมาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 7 โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเท่านั้น”