ล้วงลึก “ธนสรรไรซ์” ส่งข้าวไปอิรัก 4.4 หมื่นตัน

เรือส่งออกข้าว

กลายเป็นเหตุการณ์ฮือฮาในวงการค้าข้าวทันทีที่บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด ได้ส่งมอบข้าวขาว 44,000 ตัน ลงเรือเพื่อส่งออกไปยังประเทศอิรัก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นการฟื้นตลาดอิรักครั้งแรกในรอบ 7 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน อิรักขึ้นแบล็กลิสต์ผู้ส่งออกข้าวไทย ผลพวงจาก “สยามอินดิก้า” ผู้ชนะประมูลขายข้าวอิรัก เมื่อปี 2556 ส่งมอบข้าวขาว 100% แต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ทั้งยังมีปัญหาส่งปริมาณขาดจำนวนมากกว่า 10% อิรักจึงไม่เชิญผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมประมูลอีก

แม้ว่าสมัยนั้น นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จะสั่งให้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่ไทยก็ได้สูญเสียตลาดข้าวนี้ไปให้กับสหรัฐ และเวียดนาม

ตามข้อมูล “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ระบุว่า การส่งออกของไทยไปอิรักนับจากก่อนเหตุการณ์ปี 2556 เคยมีปริมาณ 703,869 ตัน ลดลงมาเป็น 95,992 ตัน ในปี 2557 และลดลงต่อเนื่องมาเหลือเพียง 23,888 ตันในปี 2563 และเคยต่ำสุดในปี 2559 ที่ส่งออกไปได้เพียง 8,594 ตัน การส่งออกข้าวลอตนี้ไม่เพียงช่วยฟื้นตลาดอิรัก แต่ยังเป็นการปลุกความหวังของการส่งออกไทยที่กำลังชะลอตัวอย่างหนัก ในช่วงครึ่งปีแรก ไทยส่งออกได้เพียง 2,167,591 ตัน ลดลง 25.8%

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขายข้าวขาว 100% ปริมาณ 44,000 ตัน ไปยังอิรักครั้งนี้ บริษัทได้ร่วมกับโบรกเกอร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังอิรักมาเป็นระยะเวลานาน ช่วยให้ความมั่นใจถึงคุณภาพข้าวของบริษัทไม่เคยมีปัญหาจึงทำให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งเคสนี้ไม่ได้เป็นการประมูลขาย แต่เป็นการจำเพาะเจาะจงซื้อ

ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์
ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด

“ส่วนตัวแล้วบริษัทเข้าร่วมประมูลข้าวในตลาดอิรัก ประมาณ 5-6 ครั้ง ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อข้าวไทยชนะการประมูล ทางอิรักก็ประกาศยกเลิกทุกครั้ง และหันไปซื้อข้าวจากแหล่งอื่น แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า เช่น ราคาข้าวสหรัฐอยู่ที่ตันละ 500 เหรียญ ข้าวไทยอยู่ที่ตันละ 400 เหรียญ ตลาดอิรักจะไม่ห่วงเรื่องของราคาแพงอยู่แล้ว แต่เน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ”

ทางบริษัทก็พยายามทำการบ้านกับคู่ค้าอย่างหนักตลอดเวลา เพื่อรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การที่ประเทศไทยติดเชื้อโควิดสูง ไม่ได้มีผลต่อการส่งออกไทยมีมาตรการคุมเข้มสินค้าอย่างไรบ้าง และก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้าได้มีการตรวจสอบเชิงรุกพนักงาน 500-600 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้มาตรการ bubble and seal การจัดที่พักอาศัยให้พนักงานในโรงงาน ทั้งยังมีการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานครบ 100% แล้ว ทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์ม

“คุ้มค่าหรือไม่ ผมมองว่าในระยะยาวถ้าโรงงานไม่มีคนติดโควิดและไม่ถูกปิด แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า”

ความหวังส่งออก

นายศุภชัยกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตลาดอิรักเป็นตลาดใหญ่ จะซื้อข้าวขาว 100% และข้าวหอมมะลิเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราทำกลับมาดีก็จะส่งผลดีกับการส่งออกของประเทศ จนถึงปลายปีอาจจะมีเพิ่มอีก 1-2 ลำเรือ

ภาพรวมสถานการณ์การส่งออกปีนี้ที่ตลาดอิรักที่มีออร์เดอร์เดิมเพิ่มเข้ามาชดเชยตลาดแอฟริกาหันไปซื้อข้าวจากอินเดีย ซึ่งมีราคาถูกกว่าก่อนหน้านี้และยังมีตลาดมาเลเซียและฟิลิปปินส์อีก ภาพรวมจะส่งออกไปได้ 5-6 ล้านตัน

ข้าวหอมดี-ข้าวเหนียวหืดจับ

“ปีนี้แนวโน้มไทยมีโอกาสจะกลับมาทำตลาดข้าวหอมมะลิได้ เนื่องจากราคาส่งออกของเราลดลงสามารถแข่งขันได้จากปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ราคาของเราใกล้เคียงกับเวียดนาม”

ขณะที่ข้าวเหนียวปีนี้อาจจะมีราคาลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยหายไป ทำให้การบริโภคส่วนนี้ลดลง

ดันตลาดในประเทศโต 100%

นายศุภชัยยอมรับว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ภาวะการส่งออกข้าวซบเซา บริษัทได้หันไปมุ่งเน้นการทำตลาดข้าวถุงในประเทศมากขึ้น ภาพรวมการบริโภคข้าวตลาดในประเทศเติบโตกว่าเดิมประมาณ 100 ถึง 200% กลยุทธ์สำคัญที่ทำตลาดในประเทศ เรามุ่งผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกระดับ มีระดับราคาตั้งแต่หลักกิโลกรัมละ 10 บาท ไปจนถึง 26 บาท

“ในปีนี้ข้าวขาวข้าวหอมมะลิในประเทศจะไปได้ดี แม้ว่าจะมีโควิดที่รุนแรงมากขึ้น แต่ก็มีผู้ที่หันมาบริโภคและซื้อข้าวไปเพื่อบริจาคมากขึ้น”

ส่วนแนวโน้มราคาข้าวถุงในประเทศปรับลดลงพอสมควร จะลดลงมากไม่ได้เนื่องจากจะเป็นต้นทุนของข้าวฤดูกาลผลิตที่ซื้อไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีต้นทุนค่าเก็บรักษา ซึ่งแต่ละรายจะต่างกัน

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอีกด้านหนึ่งคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทสามารถเดินเครื่องกำลังการผลิตได้เพียง 80-90% เท่านั้น