ปรับ “แปลงใหญ่” สู่ “เกษตรแม่นยำ” ดึงพืชเศรษฐกิจป้อน 7 โรงงานแก้ราคาดิ่ง

เกษตรแม่นยำ

เกษตรผนึก ส.อ.ท.ดึง 7 บริษัทเอกชนนำร่องเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ ใน 3 ปี แทนแปลงใหญ่ ช่วยเกษตรกร 25,286 ราย 32 จังหวัด เฟสแรก 5 พืช ลุยต่อเฟส 2 อีก 6 พืช ด้าน “ไทยอีสเทิร์นรับเบอร์” ประเดิมเป็นบิ๊กบราเทอร์ยางมาตรฐาน FSC ให้ราคาพิเศษเพิ่ม กก.ละ 3 บาท ส่วนปาล์มราคาตลาดพุ่ง กก. 9 บาท ชะลอซื้อ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวว่า มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การตลาด และโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ตามนโยบายตลาดนำการผลิต

โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ผ่านกลไกคณะทำงานจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ มุ่งเน้นเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่และบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้า เพื่อมีตลาดอุตสาหกรรมรอรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน โดยกำหนดดำเนินการ 2 เฟส ใน 3 ปี ระหว่างปี 2564-2566

สำหรับการดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 มีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย โรงงานข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ พื้นที่รวม 298,087.86 ไร่ เกษตรกร 25,286 ราย ครอบคลุม 32 จังหวัดมีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 7 บริษัท (ดังตาราง)

เกษตรแม่นยำ

โดยเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อ ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงาน (action plan) ด้านการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน ซึ่งจะระบุถึงพื้นที่เป้าหมาย เกษตรกรเป้าหมาย คุณลักษณะ (SPEC) ผลผลิตที่โรงงานต้องการ ราคาตามชั้นคุณภาพของผลผลิต รวมถึงปริมาณและช่วงเวลาการรับซื้อ แล้วขยายผลต่อ

ระยะที่ 2 ยกระดับขีดความสามารถ (scale up) ของแปลงใหญ่ขึ้นไปสู่การรวมเป็นกลุ่มจังหวัด/ภูมิภาค (area base) โดยจะคัดเลือกกลุ่มสินค้าเกษตร (product base) ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อป้อนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท.เสนอความต้องการสินค้าเกษตรมาพร้อมแล้ว อาทิ มันสำปะหลัง ผักอินทรีย์ ผลไม้ ยูคาลิปตัส และโกโก้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า โครงการนี้ริเริ่มจากแนวคิดจากนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. นำเสนอมา และเครือข่ายเอกชน ที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานโลก เทรนด์ของสิ่งแวดล้อม

“โครงการนี้มี 3 มิติคือ 1.ผลักดันเกษตรแปลงใหญ่ 2.การเอานวัตกรรมเข้ามา เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูง และ 3.ยกระดับการผลิตที่เน้นการทำมาตรฐานสู่สากล เพราะอย่างไรราคาก็เพิ่มขึ้นหากมาตรฐานดี โครงการนี้จะลดต้นทุนได้ถึง 30% และมีข้อตกลงร่วมกันป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ”

นายสมัย ลี้สกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ระยะเเรกพบปัญหาการรวมกลุ่มยาก รายละเอียดมาก แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วม 1.7 แสนราย กำลังเริ่มเฟส 2 อนาคตคาดว่าจะมี 4-5 ล้านคน ไปถึง 50 ล้านไร่ ช่วยให้ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ ช่วยลดต้นทุนเกษตรกรและยังมีตลาดรับซื้อชัดเจน

นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ไทยอีสเทิร์นรับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายให้เป็นบิ๊กบราเทอร์ยางพารา ซึ่งเราเริ่มจากทำบิ๊กบราเทอร์ BCG (bio-circular-green economy) นั่นคือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยติดตามงานทุกเดือน ตั้งเป้าหมายเบื้องต้น 11,515 ไร่ ปัจจุบันมีเกษตรกร 33,347 คน และจะเพิ่ม จ.สระแก้ว และ จ.ตราด

“บริษัทเราเป็นเจ้าเดียวที่ทำมาตรฐานออร์แกนิกลาเท็กซ์ ความพิเศษของโครงการนี้อยู่ที่การทำมาตรฐานหากสมาชิกทำมาตรฐาน FSC สามารถขอราคาพิเศษได้ถึง 3 บาทต่อกิโลกรัม โครงการนี้ดีมาก เพราะถ้าไม่มี เราจะใช้เวลาในการสื่อสารเกษตรกรยากมากและไม่ทั่วถึง ปัจจุบันยิ่งมีเกษตรเข้าร่วมเพิ่ม ถามว่าราคาจะได้เท่าไร แค่ไหน ผมก็ต้องบอกว่า สินค้าเกษตรเป็นไปตามราคาตลาดโลก”

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวกับ“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการเกษตรแม่นยำเป็นโครงการที่ดี เพียงแต่ว่าเกษตรกรเข้าถึงยากมาก การประชาสัมพันธ์ก็น่าจะยังไม่ทั่วถึง ทำให้ข้อมูลไปไม่ถึงเกษตรกร และที่สำคัญหากต้องมีต้นทุนในการใช้เงินลงทุนเพิ่มตอนนี้คงต้องถามว่าเกษตรกรจะมีเงินทุนเองด้วยหรือไม่อย่างไร

รายงานข่าวระบุว่า โครงการเกษตรแม่นยำคือโครงการแปลงใหญ่เดิม เป้าหมาย 2 ล้านไร่ เป็นความร่วมมือของ ส.อ.ท.กับ กษ. โดยผลสำเร็จทำได้ดีเฉพาะส่วนของอ้อยและยางพารา ส่วนปาล์มน้ำมันยังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนค่าขนส่งในการรับซื้อ ทาง กษ.ขอให้รับซื้อทั้งภาคใต้ ซึ่ง “เป็นไปไม่ได้แน่นอน” ทำได้แค่เพียงพื้นที่ในรัศมีระยะทางไม่เกิน 50 กม. ประมาณ 2,000-3,000 ไร่ อีกทั้งขณะนี้ราคาปาล์มสูงมาก กก.ละ 9 บาท เกษตรกรไม่เดือดร้อนจึงชะงักหมด