“สุพัฒนพงษ์” Jump Start ดันเศรษฐกิจ เดิมพันฟื้นประเทศ

รัฐบาลเข็นสารพัดมาตรการเติมเงินเพิ่มกำลังซื้อประชาชน “สุพัฒนพงษ์” ชี้ไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด Jump start ดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัว ปลดล็อกดึงต่างชาติเที่ยวไทยล้านคน ฟื้นไข้โรงแรม ร้านอาหาร เติมสภาพคล่องธุรกิจ SMEs ปักธงคู่ขนานทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายภายใน-ดึงเม็ดเงินลงทุนทางตรง-ทางอ้อมจากต่างประเทศ อุ้มฐานรากใส่เงินบัตรคนจน ฟรีค่าน้ำ ค่าไฟ ยาวถึงปีหน้า คนละครึ่งเฟส 3 จ่ายอีกหัวละ 1,500 บาท

รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 เป็นต้นไป หวังให้เศรษฐกิจ ภาคการผลิต การท่องเที่ยวภายในประเทศขับเคลื่อนคู่ขนานกับการเปิดรับเม็ดเงินจากต่างประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” วางมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านเครื่องยนต์ทุกตัว ว่า ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายทางด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นำมาสู่ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564 เป็นต้นมา เราเริ่มเห็นสัญญาณด้านสาธารณสุขที่ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และจำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการฉีดวัคซีนสะสมแล้วประมาณ 65 ล้านโดส ทำให้อัตราการติดเชื้อใหม่และยอดผู้เสียชีวิตรายวันมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องรักษาวินัย ยกการ์ดสูง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดกันอย่างเคร่งครัดเหมือนที่เคยทำมา เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงและจะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน”

มาตรการจัมป์สตาร์ตเคลื่อนเศรษฐกิจ

รองนายกฯประเมินว่า สถานการณ์ด้านสาธารณสุขมีทิศทางที่ปรับดีขึ้น นับเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปพร้อมกันได้มากขึ้น ตามแผนเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งเริ่มจากการเปิดรับชาวต่างชาติจากอย่างน้อย 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และสหรัฐ เป็นต้น และได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว พร้อมทั้งแสดงหลักฐานว่าปลอดเชื้อโควิด-19 เช่น ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ โดยต้องทำการตรวจจากประเทศต้นทางและตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย

“แน่นอนว่าการเปิดประเทศจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และนอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการต่าง ๆ ทั้งการคลังและการเงิน ที่จะช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว โดยรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทุกภาคส่วน เพื่อช่วย jump start และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นกลับมาได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง สามารถรองรับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ที่มีการสะสมมาอย่างยาวนาน”

ระดมมาตรการเติมเงิน-กำลังซื้อ

สำหรับมาตรการที่รัฐจะเติมเงิน เพิ่มกำลังซื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน มีต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4/64 ได้มีมาตรการช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า 16 ล้านคน ผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาทิ กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต กลุ่มประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจนถึงเดือนสิ้นเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 กรอบวงเงิน 42,000 ล้านบาท ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยใช้เงินจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

โดยจะโอนเงินเข้าแอปเป๋าตังให้กับผู้ได้รับสิทธิในโครงการอีกคนละ 1,500 บาท คาดว่า จะเริ่มโอนต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นจำนวนเงินเพิ่มเติมจากเดิมที่โอนไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คนละ 1,500 บาท และ 1 ตุลาคม จำนวน 1,500 บาททำให้ทั้งโครงการ ผู้ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ได้รับเงินโอนทั้งสิ้น 4,500 บาท

นายสุพัฒนพงษ์ระบุว่า โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยทั้งระบบ ตั้งแต่ร้านค้าหายเร่แผงลอย ไปจนถึงร้านค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้เชื่อมโยงการใช้สิทธิกับ Food Delivery Platform เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้กว่า 235,000 ล้านบาท

ลดค่าน้ำค่าไฟยาวถึงปี’65

รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกล่าวว่า “รัฐบาลยังได้ช่วยเหลือลดค่าน้ำ-ค่าไฟให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไปอีก 1 ปี ถึงเดือนกันยายน 2565 ตลอดจนช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ รวมทั้งทบทวนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยที่อาจตกหล่นให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม”

รวมทั้งให้สถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) มีมาตรการพักหนี้ โดยพักชำระเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกหนี้รายย่อยจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่ง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

ธุรกิจแรงงาน ได้เงินช่วยสภาพคล่อง

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ และ SMEs ว่า รับได้ช่วยลดภาระต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้มีการรักษาการจ้างงาน ผ่านโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานเฉพาะลูกจ้างสัญชาติไทย ในอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยนายจ้างยังต้องรักษาการจ้างงานไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 95% คาดว่าจะช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 5 ล้านคน ในสถานประกอบการ 4.8 แสนแห่ง

อีกทั้งยังมีมาตรการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับปี พ.ศ. 2564 จาก 1% เหลือ 0.1% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่พัฒนาฝีมือแรงงานไม่ครบตามสัดส่วนอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด และสำหรับผู้ประกอบการที่ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวนลูกจ้างในปี 2564 ผู้ประกอบกิจการนั้นไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้าง เตรียมความพร้อมในการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการทางด้านการเงิน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเพิ่มเติม ทั้งสินเชื่อฟื้นฟู ที่มีสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้วถึง 111,707 ล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ 35,943 ราย และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่มีสินทรัพย์ที่รับโดนแล้ว 17,078 ล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 118 ราย รวมถึงการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน การสร้างตลาดใหม่ และเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี

ปลดล็อกดึงต่างชาติเที่ยวไทยล้านคน

สำหรับมาตรการดึงเม็ดเงินจากต่างชาติ หลังเปิดประเทศ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ การสนับสนุนคนไทยเที่ยวไทย ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ยอดสะสมในโครงการดังกล่าวตั้งแต่เฟส 1-3 มีประชาชนให้ความสนใจรวมกันแล้วกว่า 8.8 ล้านคน มูลค่าสะสมรวมกว่าพันล้านบาท”

การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผลสำเร็จของ Phuket Sandbox ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้จังหวัดภูเก็ตสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศแล้ว 2.3 พันล้านบาท และในระยะต่อไป รัฐบาลจะขยายผลภูเก็ตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) โดยในไตรมาส 4 ปี 2564 และไตรมาส 1 ปี 2565 ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1 ล้านคน

“คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งการเปิดประเทศนี้ จะมาพร้อมกับการแก้ไขปลดล็อกอุปสรรคการท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น การกักตัว การออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศออนไลน์ เป็นต้น โดยยังดูแลด้านสาธารณสุขให้มีความรัดกุมและปลอดภัย รวมทั้งนโยบายจัดตั้ง กองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน และในปี 2565 จะส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด From A to Z Amazing Thailand Has it All”

ผ่านจุดต่ำสุดสู่สัญญาณฟื้นตัว

รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/64 และสถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับดีขึ้น การเปิดประเทศรับชาวต่างชาติ ตลอดจนมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป

โดยหลังจากการทยอยผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดยกระทรวงพาณิชย์ เดือน ก.ย. 64 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 42.1 (เดือน ส.ค. 2564 อยู่ที่ 37.2) ประชาชนมีการเดินทางเพื่อทำกิจกรรมมากขึ้น สะท้อนจากข้อมูล Google Mobility และ Facebook Movement Range ที่มีสัญญาณที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ย.

หวังโรงแรม ร้านอาหาร ลงทุนฟื้น

หลังรัฐบาลประกาศแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็เห็นสัญญาณที่ดีจากข้อมูล Google Destination Insight ที่แสดงการค้นหาโรงแรมและที่พักในไทยผ่านทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ตั้งแต่ ก.ย.-ต้นเดือน ต.ค. 64 ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศที่มีการค้นหาโรงแรมและที่พักในไทยสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐ อินเดีย อังกฤษ และเยอรมนี โดยเป็นการค้นหาในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี

“หากภาคการท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวดี ย่อมส่งผลบวกต่อธุรกิจบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่พักแรม ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจ้างงานและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคปรับดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งส่งผลดีให้กับการลงทุนในประเทศ”

โดยการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี’64 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวนโครงการที่ยื่นสมัครขอรับการส่งเสริมแล้วถึง 1,273 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนสูงถึง 520,677 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี’63 ที่มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 1,037 โครงการ และคิดเป็นมูลค่าเพียง 216,641 ล้านบาท

ขับเคลื่อนคู่ขนานฟื้นฟู-ปรับโครงสร้าง

นายสุพัฒนพงษ์สรุปว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นจากสาธารณสุขและนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ตระหนักว่า คงถึงเวลาแล้ว ที่ไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงความท้าทายจากกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ หรือ Mega Trend ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ประชากรที่ทยอยเข้าสู่สังคมสูงวัย สภาพภูมิอากาศที่ผันผวนมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจสู่รูปแบบใหม่ ๆ

“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้มีส่วนเร่งให้ Mega Trend เหล่านี้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับมือและอยู่กับความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal นี้ให้ได้ โดยทำไปพร้อมกับการเตรียมสภาพแวดล้อมของประเทศให้มีความพร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์”

รองนายกฯกล่าวว่า ไทยจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจาก 30 ปีที่ผ่านมา ที่ปรับจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม และในระยะหลัง จะเห็นบทบาทของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เพิ่มขึ้น เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ การผลิตสินค้าและบริการที่นำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ เป็นต้น

“มองไปข้างหน้า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย แต่ไทยยังต้องดูแลและให้ความสำคัญ ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจควบคู่กันไป และในการพลิกโฉมประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญ คือ ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ซึ่งความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน จะช่วยพลิกโฉมและนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน”

ภาคการเงิน ธนาคารของรัฐเข้มแข็ง

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจและสาธารณสุขของไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกมิติ “ทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตได้ที่ 0.7%-1.2% ตามที่สภาพัฒน์ คาดการณ์ ซึ่งนับเป็นการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องจากครึ่งเเรกของปี 2564 ที่เติบโต 2% และเป็นการฟื้นตัวจากปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัว -6.1% สำหรับปัจจัยพื้นฐานของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

“โดยในภาคการเงิน สถาบันการเงินในประเทศ ทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ยังมีฐานะทางการเงินที่เข้มเเข็ง และมีศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ส่งผลให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและมีเสถียรภาพ โดยในภาพรวมทั้งระบบ หนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 3.1% ของสินเชื่อรวม และยังมีเงินสำรองในระดับสูงที่ 851.5 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 823.4 พันล้านบาท) ขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio หรือ capital adequacy ratio) ยังอยู่ที่ระดับ 20% ซึ่งยังเกินกว่าเกณฑ์ที่ระบุไว้ ที่ไม่ต่ำกว่า 8.5%”

โมเดลธุรกิจแบบ 4Ds

โอกาสและความท้าทายข้างต้น นำมาสู่ “โมเดลเศรษฐกิจแบบ” ซึ่งไม่เพียงเน้นการเติบโตในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคำนึงถึงการลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสเติบโตในอนาคตจากฐานและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ไทยมีอยู่เป็นทุนเดิม โดยที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย

(1) Decarbonization : การก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน ซึ่งไทยมีศักยภาพและเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ด้วยปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน สนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รวมทั้งสร้างระบบระบบนิเวศใหม่ เช่น สถานีประจุไฟฟ้าและระบบสายส่งที่ต้องเป็น Smart Electronics และ Smart Devices มากขึ้น

(2) Digitalization : การปรับตัวในทุกมิติโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกประเภทอุตสาหกรรมและบริการรวมถึงการลดกฎระเบียบ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนา Cloud Computing, AI และ Data Center ให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพที่พร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G และการขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้ว

(3) Derisk : การดึงดูดกลุ่มชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ 4 กลุ่ม (4 Personas) มาอยู่อาศัยระยะยาว คือ

ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเพื่อทดแทนการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งไทยมีศักยภาพการเป็นเมืองน่าอยู่ มีระบบสาธารณสุขที่ดี และมีความสมบูรณ์ด้านอาหารและการท่องเที่ยว

(4) Decentralization : การรองรับกระแสการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมเดิม ที่ต้องปรับตัวให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ตลอดจนการย้ายฐานการผลิต

ทั้งหมดนี้ รัฐบาลมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่จะดึงดูดการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบพลิกโฉมจากโอกาสใหม่ ๆ ดังกล่าว ซึ่งเป็นการต่อยอดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในทุก ๆ ด้านของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2557–2564 ที่เป็นช่วงเวลาที่มีการลงทุนภาครัฐมากที่สุด 165 โครงการ มูลค่ารวม 2.2 ล้านล้านบาท ทั้งการคมนาคมขนส่งมวลชน เทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างระบบนิเวศที่จะเอื้อการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ทั้งการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเดิมที่เราแข็งแกร่งอยู่แล้ว อาทิ อาหาร และการท่องเที่ยว

ในอนาคต 2-3 ปี ไทยจะโดดเด่นเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคทั้งการค้า การขนส่ง และการลงทุนผ่านรถไฟรางคู่ การเชื่อมโยงถนนไปชายแดนต่าง ๆ และเชื่อมโยงการซื้อขายพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการและทยอยเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งจะรวมเป็นเส้นทางกว่า 1,000 กิโลเมตรเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว

โดยล่าสุด รัฐบาลได้ประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงและการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการรถไฟชานเมือง, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟทางไกล

นอกจากการสร้างระบบนิเวศรองรับเศรษฐกิจใหม่ ไทยยังผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีก 4 แห่งใน 4 ภาคตั้งแต่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมทั้งช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ในหลายพื้นที่ สนับสนุนการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

เช่นเดียวกันกับพื้นฐานคมนาคม รัฐบาลได้สร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ทันสมัยเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งเรื่อง e-Payment ซึ่งประชาชนเริ่มคุ้นชินกับการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จากแพลตฟอร์ม “เป๋าตัง” ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากมาตรการรัฐตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงมาตรการปัจจุบันอย่าง “คนละครึ่ง” “ยิ่งใช้ ยิ่งได้” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีประชาชนและร้านค้าเข้าระบบแล้วมากกว่า 40 ล้านราย

ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดกับภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และ e-Commerce รวมทั้งเป็นผลดีต่อการดึงดูด Cloud Services เข้ามาในไทยเพื่อช่วยต่อยอดแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงช่วย Upskill Reskill และยกระดับแรงงานไทย ทำให้อุตสาหกรรมที่เคยพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากค่อย ๆ ลดจำนวนลง ช่วยตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานยุคใหม่

นอกจากนี้ ไทยยังมีความพร้อมเรื่อง e-Document และ e-Signature รวมทั้งปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้มีการทำงานที่เร็วขึ้น ขั้นตอนน้อยลงโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย จนอันดับ Ease of Doing Business ของไทยอยู่ที่อันดับที่ 21 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาความพร้อมเรื่องคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต  โดยไทยเรามีสถาบันนวัตกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี มี EECi เป็นศูนย์นวัตกรรมและมหาวิทยาลัยวิจัยสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ได้เปิดกว้างในการรับผู้ที่มีความสามารถและชำนาญการในสาขาที่ยังขาดแคลนให้เข้ามาทำงานในประเทศ

ทั้งหมดนี้ คือ ทิศทางที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมจะประกาศใช้ในปี 2566 ซึ่งมีความมุ่งหวังในการปรับเปลี่ยนไทยไปสู่โฉมหน้าใหม่ สามารถก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยในแผน ฉบับที่ 13 จะมีรายละเอียดและตัวชี้วัด ครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้าและเศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน