“หมาเหล่า” พายุลูกใหม่ก่อตัวแล้ว ทีมกรุ๊ปแนะเร่งพร่องน้ำ 13 เขื่อนหลัก

ภาพประกอบข่าว : Freepik
อัพเดต 21 ต.ค. 2564 เวลา 06.01 น.

จับตาพายุดีเปรสชั่นลูกที่ 20 จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ประเทศฟิลิปปินส์ ชี้ชะตาในวันที่ 26 ต.ค.นี้ คาดการณ์ขึ้นฝั่งที่โฮจิมินห์ เข้าไทย 28-30 ต.ค.นี้ ส่งผลฝนตกหนักทางภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน อีสานตอนล่าง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ หรือทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ กล่าวว่า มีโอกาสสูงที่จะมีพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่เข้าประเทศไทยในช่วงเย็นวันที่ 28 ตุลาคมนี้

โดยพายุดีเปรสชั่นอาจจะชื่อว่า “หมาเหล่า (Malou หรือหินโมราจีน)” ขณะนี้เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำทางตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ แต่มีโอกาสมากที่จะก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น 

“ซึ่งอาจจะเป็นพายุลูกที่ 20 ของปีนี้ ดังนั้นในวันที่ 26 ต.ค. จะต้องติดตามการก่อตัวจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นหรือไม่” นายชวลิตกล่าว

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ พายุจะเคลื่อนที่มาทางทิศตะวันตกคาดว่าจะขึ้นฝั่งที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม และจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากที่เมืองโฮจิมินห์ ในวันที่ 28 ต.ค. และพื้นที่โดยรอบตั้งแต่เมืองญาจาง ถึงเมืองวุงเต่า และเมืองเกิ่นเทอ จะมีฝนตกปานกลางถึงฝนตกหนักในพื้นที่โดยรอบ วันที่ 28 ถึง 29 ต.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทั่วทั้งประเทศกัมพูชา

สำหรับประเทศไทยคาดว่า จะมีฝนตกหนักในระหว่างวันที่ 29-30 ต.ค. ในภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน และมีฝนตกปานกลางในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างที่ติดกับเทือกเขาพนมดงรัก

วันที่ 29 ต.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทั่วทั้งภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดสระแก้ว, ปราจีนบุรี, นครนายก และ พื้นที่โดยรอบของเขาใหญ่ สระบุรี, กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, นครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี

และมีฝนตกปานกลางในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลางตอนล่าง รวมถึงจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ทั่วทั้งภาคด้วย

“ควรติดตามสถานะการณ์การเคลื่อนตัวของ Depression นี้อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมที่จะระบายน้ำ-พร่องน้ำออกจากอ่าง เพื่อรอรับน้ำจาก Depression ที่อาจจะเข้ามาในช่วงวันที่ 29-30 ต.ค.นี้” นายชวลิตกล่าว

โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำพระเพลิง-มูลบน-ลำแชะ-ลำนางรอง-ลําตะคอง-ป่าสักชลสิทธิ์-กระเสียว-ขุนด่านปราการชล-นฤบดินจินดา-หนองปลาไหล-ประแสร์-แก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ลักษณะอากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน อ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนน้อย ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้

อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและลาวตอนบน ในวันนี้ (21 ตุลาคม 2564) และจะเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในเวลาต่อไป ทำให้ในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นฝนจะลดน้อยลง

ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับพยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้ เป็นดังนี้
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.