สรท.มั่นใจส่งออก 64 โต 12% เตรียมเปิดสมุดปกขาวดันส่งออกปี 65 โต 5%

ส่งออก

สรท. มั่นใจส่งออกปี 2564 โต 13% ผลจากเศรษฐกิจฟื้น ความต้องการสินค้ายังมีต่อเนื่อง พร้อมจับตาปัญหาโลจิสติกส์ การขนส่งยังเป็นอุปสรรคเตรียมเปิดสมุดปกขาวดันส่งออกปี 65 โต 5%

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 12% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู้ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ปี 2565 เติบโต 5% พร้อมกันนี้ในเดือนหน้า สภาผู้ส่งออกเตรียมเปิดสมุดปกขาวให้เอกชน-ภาครัฐ ในกรผลักดันการส่งออกในปีหน้า

โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกที่ต้องติดตาม

1) ค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS)

2) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิป, เหล็ก, น้ำมัน

3) สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์จากการกลับมาระบาดของกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น จีน สิงคโปร์ อังกฤษ รัสเชีย เป็นต้น

4) กระบวนการทำงานภาครัฐยังไม่สอดคล้องกับ New Normal อาทิ ความล่าช้าในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออก (Vat Refund) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1) ด้านการตลาด อาทิ จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โครงการ SMEs Pro-active เพื่อเพิ่มจำนวนครั้งการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ (Virtual/Onsite exhibition 2022) ให้มากขึ้น

2) ด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจ 2.1) ขยายระยะเวลาเงินช่วยเหลือลูกจ้างให้กับสถานประกอบการระดับ SMEs เช่น เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคน เพื่อคงสถานะการจ้างงาน 2.2) ลดต้นทุนพลังงานในประเทศ 2.3) ลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ 2.4) เร่งปรับปรุงขั้นตอนการทำงานภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์และใช้ได้จริง

3) ด้านแรงงาน 3.1) ยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน อาทิ สนับสนุนด้านภาษีและงบประมาณฝึกอบรมให้กับแรงงานและสถานประกอบการเพื่อ Re-skill และ Up-skill ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมภายใต้ New Normal 3.2) เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็ว 4) ด้านสิ่งแวดล้อม 4.1) สร้างความตระหนักรู้แก่ภาคธุรกิจ (Carbon Emission Awareness) 4.2) เตรียมความพร้อม ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ เพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม