ต้นทุนผลิต ‘‘อาหารสัตว์’‘ พุ่ง ขอลดภาษีนำเข้ากากถั่ว 2 %

อาหารสัตว์-อาหารคน

สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนทัพ 13 สมาคมร้องรัฐบาล ลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง-DDGS พร้อมลดสัดส่วนการบังคับซื้อข้าวโพดในประเทศจาก 3 เหลือ 1.5 ส่วน แลกนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน อ้างขาดทุนอ่วมขู่อาจต้องปรับราคาตามราคาวัตถุดิบอาหาร 20-30%

รายงานข่าวจากสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบุว่า สมาพันธ์จะเสนอขอให้ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% และ ภาษีนำเข้าผลผลิตที่เหลือจากการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพด

หรือ DDGS 9% เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งในแต่ละปีไทยผลิตได้เพียง 50,000 ตัน ต้องนำเข้าปีละ 2.5 ล้านตัน จากความต้องการใช้ทั้งเมล็ดและกากถั่วเหลืองปีละ 5 ล้านตัน

พร้อมทั้งจะเสนอให้ปรับลดสัดส่วนการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศต่อการนำเข้าข้าวสาลี จากปัจจุบัน 3 : 1 เหลือ1.5 : 1 เพราะผลผลิตข้าวโพดที่ผลิตได้มีเพียงปีละ 5 ล้านตัน จากความต้องการ8 ล้านตัน

เหลือต้องนำเข้าส่วนต่าง 3 ล้านตัน หากใช้สัดส่วนเดิม 3 ต่อ 1 จะทำให้นำเข้าได้เพียง 1 ล้านตัน แต่หากใช้สัดส่วน 1.5 ต่อ 1 จะนำเข้าได้มากขึ้น

เนื่องจากสมาชิกสมาพันธ์ซึ่งเป็นผู้ใช้อาหารสัตว์รวมกัน 90% ของการผลิตของประเทศ ได้รับความเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น 20-30% ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ถึงปัจจุบัน

จากราคาวัตถุดิบสูงสุดในรอบ 13 ปี เช่น ราคากากถั่วเหลืองปรับขึ้นจาก กก.ละ 13 บาท เป็น 18-19 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขยับสูงสุดในเดือนกันยายน 2564 ถึง กก.ละ 11.50 บาท จากเดิม 8-9.50 บาท/กก.

อาหารเสริมและวิตามิน เกลือแร่นำเข้า สูงขึ้นกว่า 20-30% ทั้งยังมีต้นทุนการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดสัตว์ อีกทั้งรัฐบาลกำหนดให้มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรราคา กก.ละ 8.50 บาท ไม่มีเพดานราคา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีโครงการประกันรายได้ก็ไม่มีชนิดใดที่ใช้วิธีการซับซ้อนเหมือนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“เมื่อราคาวัตถุดิบปรับสูงจนเกษตรกรมีรายได้เพียงพอ กลไกการตลาดจะทำงานโดยอัตโนมัติ การนำเข้าเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนสามารถทำได้โดยเสรี เพราะการที่ต้นทุนที่ปรับขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์

ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้นในระดับเดียวกัน เพราะสัดส่วนอาหารสัตว์ถือเป็นต้นทุนการผลิต 60% หากภาครัฐช่วยมาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาคปศุสัตว์สามารถบริหารต้นทุน ลดการขาดทุนสะสม

ช่วยให้ขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดส่งออกได้ ทั้งยังช่วยป้องกันการทุจริตจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการและเครื่องมือทางการตลาดในการปกป้องผู้บริโภคจากการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิตได้ เช่น โครงการธงฟ้า ที่สามารถตรึงราคาสินค้า เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนได้”

สมาพันธ์นี้ประกอบด้วย 13 สมาคม คือ สมาคมปศุสัตว์ไทย, ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ,ส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่,

ผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก, ผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก, สัตวบาลแห่งประเทศไทย, ส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์, ผู้เลี้ยงไก่พันธุ์, กุ้งไทย, ผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย และผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย