ส.การค้าพืชไร่ สับแหลกข้อเรียกร้องสมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ ท้าช่วยรับซื้อข้าวเปลือกแทนนำเข้า

สมาคมการค้าพืชไร่ สับแหลก ข้อเรียกร้องสมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ อ้างความเห็นพันธมิตร ขอรัฐลดภาษีนำเข้ากากถั่ว-DDGS พร้อมขอยกเลิกมาตรการ 3:1 ซื้อข้าวโพดในประเทศ แทนที่จะช่วยเกษตรกรใช้วัตถุดิบในประเทศช่วงราคาตลาดโลกขาขึ้น พร้อมท้าช่วยรับซื้อข้าวเปลือกชาวนา

รายงานข่าวจากสมาคมการค้าพืชไร่ ระบุถึงกรณีที่สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (13 สมาคม) ยื่น เรียกร้องรัฐ ขอลดมาตรการกำหนดให้ซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์ 1 ส่วน หรือ 3:1 และการขอยกเลิกอาการนำเข้ากากข้าวโพด DDGS 9% และกากถั่วเหลือง 2% เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารจากภาระขาดทุน โดยให้มีการทบทวนผ่อนปรนมาตรการที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมอาหาร

“การเรียกร้องของกลุ่มสมาพันธ์ ดูเหมือนจะเป็นสมาคมในเครือเดียวกัน เนื่องจากธุรกิจอาหารสัตว์ไทย ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในเครือกลุ่มทุนที่มีอำนาจทางการค้าในห่วงโซ่ธุรกิจเกือบทุกขั้นตอน โดยสมาชิกในแต่ละสมาคมที่ร่วมเรียกร้องส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มบริษัทหรือบุคคลก็มาจากกลุ่มบริษัทในเครือเหล่านั้น ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้อาชีพเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ในมือของกลุ่มบริษัทใหญ่ และเกษตรพันธะสัญญากับกลุ่มบริษัทใหญ่ มากกว่า 50%

โดยเฉพาะไก่เนื้อ มีอยู่ถึง 90% แถมกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำสามารถนำเข้าข้าวสาลีเลี้ยงสัตว์ได้ โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้ามาตรการ 3:1 ส่วนการเลี้ยงหมูรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ต่างต้องเลิกเลี้ยงกันเหลือจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงการค้าเนื้อสัตว์เศรษฐกิจส่วนใหญ่บริโภคในประเทศกว่า 60% โดยเฉพาะหมูและไข่ไก่บริโภคในประเทศกว่า 90% มีเพียงกุ้งที่ส่งออกมากกว่าบริโภคภายในประเทศ”

จากข้อมูลข้างต้นหนนี้เป็นการเรียกร้องที่ชาญฉลาดที่ทำในสภาวะช่วงที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยราคาสูงขึ้น 20% ตามราคาตลาดโลกที่ขึ้นมากกว่า 50% (ช่วงพฤษภาคมสูงขึ้นกว่า 100% ณ เวลานั้นราคาสูงกว่าราคาหน้าโรงงานอาหารสัตว์ไทย) และเป็นช่วงที่วัตถุดิบทดแทนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวสาลีในตลาดโลกราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 50% ปี 2563 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 64 สูงขึ้นมาถึง 100%

ทำให้สามารถอ้างต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นก่อให้เกิดความเดือนร้อนต่อผู้ธุรกิจและผู้เลี้ยงมีโอกาสได้กำไรน้อยลง สู่สภาวะขาดทุนของผู้เลี้ยงรายย่อย หรือผู้เลี้ยงที่อยู่ในเกษตรกพันธะสัญญา แต่สำหรับกลุ่มบริษัทใหญ่เมื่อดูจากงบกลับยังมีกำไรหลักหลายร้อยล้าน หลายพันล้าน จะกระทบบ้างแต่ด้วยความสามารถของทีมงานบริหารที่มีความสามารถ ย่อมแก้ไขสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ ได้ดีกว่าเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกพืชวัตถุดิบแน่นอน

“ต้องยอมรับว่าการให้ข่าวการเรียกร้องช่วงนี้อย่างเป็นระบบจากการร่วมมือของสมาคมในกลุ่มเครือข่ายสมาชิกจากบริษัทในเครือเดียวกันยิ่งทำให้เกิดภาพผลกระทบที่สูงมาก”

ประเด็นที่อ้างที่ว่าปัจจุบันไทยต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน ถ้าดูจากสถิติปี 2563 ประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 4.65 ล้านตัน (เฉลี่ยฤดูกาลผลผลิต 62/63และ63/64) เมื่อรวมกับ ข้าวสาลี 1.84 ล้านตัน, ข้าวบาร์เลย์ 0.79 ล้านตัน, กากข้าวโพด (DDGS) 0.63 ล้านตัน (สามารถใช้แทนข้าวโพดอัตราส่วน 1:1.22)  , และข้าวโพดพม่า 1.59 ล้านตัน รวมมีวัตถุดิบหมวดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด 9.5 ล้านตันทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินกว่า 1.5 ล้านตัน จากการที่มีอุปทานส่วนเกินแสดงถึงปริมาณวัตถุดิบโดยรวมมีเกินกว่าความต้องการยิ่งทำให้อำนาจกำหนดกลไกเงื่อนไขการรับซื้อและราคาอยู่ที่ผู้รับซื้ออยู่แล้ว

เพียงแต่ผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของประเทศมีการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนด้วยการกำหนดกลไกราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศจึงขึ้นกับว่าผู้มีอำนาจในธุรกิจจะสร้างสภาวะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยเป็นไปตามเงื่อนไขความต้องการขายทำกำไรวัตถุดิบทดแทนที่นำเข้าอีกด้วยผลกระทบจึงตกต่อผู้เลี้ยงสัตว์รายกลาง รายย่อย และผู้เลี้ยงในเกษตรพันธะสัญญาโดยตรง จากขึ้นมูลข้างต้นจะเป็นได้ว่าการลดภาษีวัตถุดิบทดแทนยังไม่จำเป็น หากมีการยกเลิกภาษีหรือมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขมาตรการการนำเข้าข้าวสาลีผลประโยชน์จะตกต่อนักธุรกิจผู้นำเข้า และกลุ่มธุรกิจรายใหญ่มากกว่าที่จะตกไปที่ผู้ผลิตและผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย

เนื่องจากห่วงโซ่ธุรกิจนี้อยู่ในมือรายใหญ่เป็นส่วนใหญ่ ในต่างประเทศไม่มีประเทศไหนไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าหลักที่ประเทศตนเองมีการผลิตอยู่ ดังนั้นหากประเทศไทยยังต้องการให้ภาคเกษตรเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ควรที่จะเก็บภาษีนำเข้าสูง ๆ เพื่อนำเงินจากภาษีนั้นมาพัฒนาทำให้เกษตรกรไทยสามารถปลูกพืชแข่งขันได้ในตลาดโลก

หลายครั้งอ้างถึงการประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กิโลกรัมละ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม และให้โรงงานอาหารสัตว์ช่วยซื้อในกิโลกรัมละ 8 บาทในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นการประกัน 2 ชั้น ทั้งที่หากรัฐบาลมีมาตรการที่เข้มข้นต่อการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนข้าวโพด ย่อมทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยเกินราคา 8 บาทอยู่แล้วภาครัฐคงไม่ต้องเสียเงินประกันรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเนื่องจากอุปสงค์มากกว่าอุปทาน

และความจริงการประกันรายได้ฯ น่าจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ทางอ้อมเพื่อกันไม่ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดออกมาเรียกร้องต่อต้านการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมเหตุการณ์นำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์กว่า 3 ล้านตันจนทำให้วัตถุดิบล้นตลาดในปี 2559 เกิดข้อกำหนดเงื่อนไขกลไกการค้าที่เบี่ยงแบนจนทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวโพดแห้งได้ราคาเพียง 6 บาทกว่าต่อกิโลกรัมเท่านั้น

“หากภาครัฐจะช่วยเหลือจริงแทนการยกเลิกอากรขาเข้าพืชวัตถุดิบเหล่านั้น หันมาสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจไทยหันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มเติมเช่นมันสำปะหลังไทย ข้าวเปลือกไทย หรือช่วยกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์รายกลางและรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพที่นำเข้าวัตถุดิบทดแทนเองได้ให้สามารถแข่งขันได้กับผู้เลี้ยงสัตว์รายใหญ่ก็ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นภายในประเทศไทย”


เป็นการดีหากภาครัฐจะช่วยเกษตรกรไทยทุกภาคส่วน โดยเน้นการกรจายรายได้ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยไม่เกิดการเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยเฉพาะการยกเลิกภาษีนำเข้าเป็นข้อผูกพันที่จะแก้ไขใหม่ได้ยากเช่นการยกเลิกภาษีนำเข้าข้าวสาลีเป็นการยากที่จะออกฎหมายกลับมาเก็บอากรขาเข้า กลายเป็นข้อผูกมัดต่อเงื่อนไขผลกระทบระยะยาวต่อผู้ปลูกพืชวัตถุดิบไทยไม่เพียงแต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังมีมันสำปะหลัง ปลายข้าว และข้าวเปลือกไทย ภาครัฐควรเก็บภาษีแล้วมาช่วยเหลือพัฒนาระบบการผลิตและการค้าภาคเกษตรในประเทศมากกว่าที่จะไม่ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบทดแทนเหล่านั้น