ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกปี 2565

จุรินทร์

จุรินทร์เผยในการประชุมเอเปก ระดับรัฐมนตรี ไทยเปิด 4 ประเด็นสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมรับส่งมอบการเป็นเจ้าภาพในปี 2565

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเอเปก APEC Minister Meeting 2021 (AMM) ครั้งที่ 32 ว่า นอกจากการประชุมครั้งนี้ยังจะมีการประชุมสำคัญระดับผู้นำประเทศ พร้อมกับส่งมอบการเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไปให้กับประเทศไทยต่อจากประเทศนิวซีแลนด์

นอกจากนี้ ตนยังได้กล่าวแถลงการว่า ประเทศไทยยังดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.  เนื่องจากรูปแบบการค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้นรูปแบบการค้าดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ไทยสนับสนุนวิสัยทัศน์ปุตราจายาปี 2040 ที่เน้นการเตรียมประชาชนและธุรกิจเข้าสู่ยุค Digital Economy และจะร่วมกับสมาชิก APEC ขับเคลื่อนแผนการทำงานด้านอินเทอร์เน็ตและ Digital Economy ที่ผ่านมา

โดยไทยได้ใช้ e-Commerce สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกับ SMEs ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าปลีก-ค้าส่งของไทยผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ในปี 2020 สูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้ประกอบการ SMEs สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าได้ถึง 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13%

ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบไฮบริด ทั้งออนไลน์และออนไซต์ผสมกัน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่ากว่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ, การจัดฝึกอบรมเกษตรกร SMEs และ MSMEs และการเดินหน้าสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ภายใต้โครงการ From GEN Z to be CEO เพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปเป็นแม่ทัพทางเศรษฐกิจให้ไทยต่อไป

2. ไทยสนับสนุนการใช้ BCG Model ขับเคลื่อน MSMEs ของประเทศ โดยในปี 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC จะจัดให้มีการสัมมนาใหญ่ (Symposium) ในเรื่องนี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าการค้ายุคใหม่ต้องคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

3.ไทยพร้อมสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งการจัดทำ FTA-AP และ RCEP ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน RCEP แล้ว เมื่อ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อมั่นว่า FTA จะช่วยลดเลิกอุปสรรคทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเชื่อมโยงและเติบโตได้ดีในระยะยาว

และ 4.ไทยต้องการเห็นความสำเร็จของการประชุม MC12 ในเดือนธันวาคมนี้ โดย APEC ควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การประชุมมีผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง การจัดทำกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมง การลดการอุดหนุนเกษตรที่บิดเบือน และการจัดทำกฎเกณฑ์ด้าน e-Commerce ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือ การสร้างความโปร่งใส กติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกกลุ่มประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย