แรงงานขาดป่วนเศรษฐกิจ ธุรกิจเกี่ยงค่าหัวต่างด้าว 3 หมื่นบาท/หัว

วิกฤตแรงงานขาดป่วนเศรษฐกิจ “ภาคอุตสาหกรรม-เกษตร-บริการ-ก่อสร้าง” ขาดแคลนกว่า 8 แสนคน ผู้ผลิตชี้ออร์เดอร์ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศทะลักผลิตไม่ทัน หวั่นกระทบส่งออก กระทุ้งรัฐเร่งแก้ แผนนำเข้าต่างด้าว MOU ยื้อยาว ปัญหาค่าใช้จ่ายนำเข้าแรงงานบาน 3 หมื่นบาท/หัว เอกชนโบ้ยให้รัฐรับภาระ “บิ๊กตู่” สั่งเร่งเคลียร์ปัญหา รมว.สุชาตินัดถกด่วน 10 พ.ย. ก่อนชง ศบค.-ครม.เคาะเกณฑ์นำเข้า

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ความต้องการแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมมีสูงกว่าช่วงก่อนหน้านี้มาก เนื่องจากช่วงไตรมาส 4 มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งจากผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก แต่ไม่มีแรงงานเพียงพอผลิต

ขณะที่การเปิดประเทศและผ่อนคลายให้หลายธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ ส่งผลให้ความต้องการแรงงานสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการ ร้านอาหาร แต่รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานยังไม่เปิดช่องทางให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมาย รวมถึงทำ MOU นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านระหว่างรัฐต่อรัฐ

โบ้ยรัฐช่วยรับภาระค่ากักตัว

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานยังกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน ค่ากักตัว 14 วัน โดยแรงงานที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม (สีเขียว) จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 17,000 บาทต่อคน และ 25,000 บาทต่อคน สำหรับแรงงานที่ฉีดวัคซีน 1 เข็ม (สีเหลือง) และแรงงานที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน (สีแดง)

ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มสีเหลืองและสีแดง เอกชนจึงต้องการให้รัฐช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัว 14 วัน เพราะที่ผ่านมาแรงงานทำงานไม่กี่เดือนก็ขอลาออก นายจ้างจะมีภาระหนัก และให้เร่งออกกฎระเบียบไม่ให้แรงงานย้ายงานได้โดยง่าย

“สิ่งที่เอกชนอยากขอคำตอบจากรัฐคือ ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 17,000-25,000 บาทต่อคน เพราะถ้าแรงงานต่างด้าว 1 ล้านคน เป็นเงินหลัก 1,000 ล้านบาทที่เอกชนต้องแบกรับภาระ บทเรียนที่ผ่านมาแรงงาน MOU ลาออก เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น กฎหมายกำหนดเพียงให้นายจ้างไปแจ้งภายใน 30 วัน ว่าแรงงานคนนี้ลาออกไปแล้ว

ขณะที่แรงงานที่ย้ายไปอยู่กับนายจ้างใหม่จะกลายเป็นแรงงานเถื่อนทันที แต่แรงงานเถื่อนเหล่านี้จะไปบอกนายจ้างใหม่ว่าตัวเองมีเลขทะเบียน MOU เข้ามา และย้ายเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ”

เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกแรก เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนหนักมาก รัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมให้แรงงานเถื่อนที่อยู่ใต้ดินกลุ่มนี้ 1 แสนคน กับแรงงานที่หลบหนีเข้ามาทางชายแดนมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง

จากนั้นมาแรงงานต่างด้าวจึงทะลักเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยขบวนนการนายหน้าจัดหาแรงงานเถื่อนบอกว่าเดี๋ยวรัฐบาลไทยก็นิรโทษกรรมให้อีก ถ้าไม่แก้ที่ต้นตอก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้”

เปิดโปงขบวนการผิดกฎหมาย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นทุกธุรกิจตั้งแต่ภาคเหนือจดภาคใต้ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร สวนทุเรียน สวนยางพารา สวนปาล์ม ฯลฯ แรงงานเถื่อนจึงทะลักเข้ามาจำนวนมาก

โดยเฉพาะการนำเข้าแรงงานเมียนมา นายหน้าเรียกเก็บเงินจากตัวแรงงาน 10,000 บาท และเรียกเก็บจากนายจ้างอีก 10,000 บาท ซึ่งนายจ้างบางคนจ่ายให้แทนแรงงานด้วย เพราะการรับแรงงานเถื่อนเข้าทำงานไม่ต้องแจ้งทางราชการ นายจ้างไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องจ่ายประกันสังคม

เมื่อแรงงานตรวจ ATK ผลเป็นลบก็ให้เข้าทำงานได้เลย ไม่ต้องฉีดวัคซีน แต่หากตรวจพบโควิดจะต้อนขึ้นรถตู้นำไปปล่อยระหว่างทางเหมือนที่เป็นข่าว

เปิดประเทศขาดแคลนแรงงานยิ่งวิกฤต

ขณะที่ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มรุนแรงกระทบภาคธุรกิจ เศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ 1 พ.ย. 2564 ความต้องการแรงงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นสูงมาก

เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ดังนั้นความต้องการแรงงานจึงอาจสูงกว่าก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินว่าภาคการผลิตขาดแรงงาน 5 แสนคน ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานภาคบริการเดินทางกลับภูมิลำเนาและยังไม่เดินทางกลับมา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้เศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจฟื้นตัว จากการค้าชายแดน อย่างไทย-ลาว และมีการเชื่อมโยงรถไฟไปลาวก่อนเข้าสู่ประเทศจีน ดึงดูดให้แรงงานกลับไปทำงานในภูมิลำเนามากขึ้น

ขณะเดียวกันปัญหาขาดแคลนแรงงานแต่ละจังหวัด และแต่ละอุตสาหกรรมก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้หารือกับภาคเอกชนเพื่อเร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย (แรงงานสีดำ) กลับมาขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายภายในเดือน พ.ย.นี้

เพื่อวางมาตรการดูแล คาดว่าจะมีแรงงานกลับสู่ระบบมากถึง 200,000 คน อย่างไรก็ตามรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้วิกฤตขาดแรงงานโดยเร่งด่วน

“ต้องขอบคุณภาครัฐที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานสีดำและสีเทา จะช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนแรงงานได้บ้าง แต่ระยะยาวต้องแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เราสนับสนุนการนำเข้าแรงงาน MOU แต่ต้องกำกับดูแลการนำเข้าให้เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ไม่ส่งผลกระทบผู้ผลิตทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะจะซ้ำเติมปัญหาที่ถูกกระทบจากโควิดอยู่แล้ว”

ALQ 14 วัน กว่า 3 หมื่นบาท/คน

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายภายในประเทศไทยที่นายจ้างต้องรับผิดชอบในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU หากนายจ้างดำเนินการเอง ประมาณ 4,900-7,600 บาท

หากจ้างผู้รับอนุญาตหรือนายหน้าดำเนินการ ประมาณ 8,848-13,060 บาท ทั้งนี้ มีค่าใช้จ่าย ณ ประเทศต้นทางที่นายจ้างต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีก 10,790-14,590 บาท (ยังไม่รวมค่ากักตัวในรูปแบบทางเลือก ALQ ของแต่ละจังหวัด)

สรุปเป็นค่าใช้จ่ายที่นายจ้างต้องรับผิดชอบประมาณ 15,690-22,190 บาท (ยังไม่รวม ALQ กักตัว 14 วัน) และหากนายหน้าดำเนินการรวมประมาณ 19,638-27,650 บาท (ยังไม่รวม ALQ กักตัว 14 วัน)

สำหรับประมาณการค่าใช้จ่ายในการกักตัวในรูปแบบทางเลือก (ALQ)ของแต่ละจังหวัด 14 วัน เช่น จ.ตาก เหมาจ่าย 12,000/14 วัน/คน, จ.ระนอง 1,000 บาท/วัน/คน, จ.หนองคาย 500 บาท/วัน/คน, จ.สระแก้ว 550-850 บาท/วัน/คน, จ.มุกดาหาร เหมาจ่าย 65,500 บาท/14 วัน/คน

รวมค่าตรวจแล้ว นอกจากนี้มีค่าพาหนะรับคนต่างด้าวไปสถานที่กักตัว และสถานที่ทำงาน 250-500 บาท/คน, ค่าอาหารช่วงกักตัว 1,400 บาทขึ้นไป/คน/14 วัน

ขาดแรงงานทะลุ 8 แสนคน

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกได้เสนอให้รัฐบาลเร่งนำเข้าแรงงาน MOU แต่ติดปัญหาที่ประเทศต้นทางมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

อุตสาหกรรมนี้จึงยังขาดแคลนแรงงานราว 20,000 คน ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เช่น ไทยยูเนี่ยนต้องการแรงงานอีก 5,000 คน และสนับสนุนการนำเข้าแบบ MOU เช่นเดียวกัน

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า รายงานตัวเลขแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยก่อนการแพร่ระบาดของโควิดปี 2562 มีจำนวน 2.6-3 ล้านคน แต่ปัจจุบันจากปัญหาที่เกิดขึ้นแรงงานในระบบลดลงเหลือ 2.14 ล้านคน

เนื่องจากแรงงานกลับประเทศและไม่สามารถเข้ามาได้ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมยังต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนคน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหามาตรการในการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในระบบให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มภาคการผลิตซึ่งเริ่มฟื้นตัว มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“จะเห็นว่าแรงงานขาดประมาณ 8 แสนคน รัฐจึงต้องผลักดันแรงงานเข้ามาในระบบให้มากขึ้น รองรับการเติบโตของการส่งออก ให้ยอดส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย โดยขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือกัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว ในประเทศขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง จากที่ผ่านมาเข้าระบบเพียง 1.6-2 แสนคน นอกจากนี้ต้องการให้เพิ่มรูปแบบการจ้างงานลักษณะพาร์ตไทม์ ระยะเวลาจ้างไม่ต่ำ 4 ชั่วโมง เป็นต้น”

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ในส่วนของอุตฯ เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงโรงงานพิมพ์, โรงปักเสื้อ, โรงงานผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ บนตัวเสื้อ ขาดแคลนแรงงาน 10% หรือ 20,000 คน

11 พ.ย.เคาะนำเข้าแรงงานต่างด้าว

ขณะเดียวกันมีรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ล่าสุด 11 พ.ย.นี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (อคบต.) ซึ่งได้ประชุมไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2564

แต่ยังหา “ข้อสรุป” เกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่มี MOU โดยให้แต่ละหน่วยงานไปประเมินหาข้อสรุปประเด็นเรื่องกระบวนการนำเข้า และมาตรการดูแลค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับการนำเข้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

พร้อมทั้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรงในการตรวจสอบปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย ส่วนประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายยังไม่ได้ข้อสรุปเรตค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งการให้ที่พัก อาหาร การฉีดวัคซีน และการตรวจสอบเชื้อด้วยชุดทดสอบ ซึ่งหากมีต้นทุนสูงเกินไปอาจจะกระทบหรือเป็นภาระต่อผู้ประกอบการ

มท.ต้อนต่างด้าวผิด กม.ขึ้นทะเบียน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานกำลังเร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย รองรับความต้องการของภาคการผลิต และภาคบริการที่กำลังขยายตัวต่อเนื่องจากการเดินหน้าเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้นของรัฐบาล

แนวทางแก้ปัญหาส่วนหนึ่งจะบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางกลุ่มอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 5 พ.ย. 2564 มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 ให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ถกนำเข้าแรงงาน MOU

ส่วนการนำเข้าแรงงานมาเพิ่มเติมตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) จะประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 พ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และ ครม.ให้ความเห็นชอบ

“กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและก่อสร้าง เราทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด เช่น การให้สิทธิคนไทยได้ทำงานก่อน หากแรงงานไม่เพียงพอจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา ตามขั้นตอนของมติ ครม. และเป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดตามที่ ศบค.กำหนด”

ส่วนการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามแนวชายแดน กระทรวงแรงงานได้บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายความมั่นคงเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการขยายผลจับกุมขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองต่อไป

นำเข้า 3 กลุ่ม 4.2 แสนคน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั่วประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย 2.4 ล้านคน แบ่งเป็นเมียนมา ร้อยละ 62 (1.5 ล้านคน) กัมพูชา ร้อยละ 20 (4.6 แสนคน) และลาว ร้อยละ 9 (2.18 แสนคน)

ทั้งนี้ จากที่ กกจ.สำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวของนายจ้างทั้งประเทศ พบว่าต้องการแรงงานต่างด้าว 4.2 แสนคน เป็นที่มาของการจัดทำ MOU นำเข้าแรงงาน

เบื้องต้นจะจัดกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนำเข้า 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม 1 เดือนขึ้นไป กลุ่มสีเหลือง ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยังไม่ครบ 1 เดือน และกลุ่มสีแดง ฉีดวัคซีน 1 เข็ม หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

ตอนนี้กำลังเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.), กระทรวงการต่างประเทศ (กต.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 7 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ

2.การดำเนินการของประเทศต้นทาง 3.การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว 4.การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

5.จุดผ่านแดน/ด่านตรวจคนเข้าเมือง 6.สถานที่กักตัวและระยะเวลากักตัวแต่ละกลุ่ม และ 7.การอบรมและรับใบอนุญาตทำงาน

ทั้งหมดนี้จะเสนอ ศบค.พิจารณา 12 พ.ย.นี้ จากนั้นจะนำเข้า ครม.และเริ่มดำเนินการทันที สำหรับระยะวลากักตัวของแรงงานแต่ละกลุ่มที่คิดไว้เบื้องต้นกลุ่มสีเขียวอาจกักตัว 7 วัน กลุ่มสีเหลือง 10 วัน สีแดง 14 วัน แต่ต้องรอผลจาก ครม. อีกครั้ง”

กระทรวงแรงงานรับภาระค่าวัคซีน

นายไพโรจน์กล่าวว่า ขั้นตอนการแจ้งความประสงค์การจ้างงานแรงงานต่างด้าวตาม MOU ภายใต้สถานการณ์โควิดจะต่างจาก MOU ที่ผ่าน ๆ มา โดยนายจ้างต้องแจ้งมาที่ กกจ.โดยตรง ไม่ได้ผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร (กทม.) เขตพื้นที่ 1-10

ซึ่งกรมได้จัดตั้งบอร์ดที่ส่วนกลางพิจารณานายจ้างที่มีความพร้อม เช่น พร้อมรับภาระค่าใช้จ่าย ค่ากักตัวแรงงานต่างด้าวที่นำเข้า มีความพร้อมในการจ้างงานที่มีความมั่นคงและปลอดภัย เป็นต้น

ในส่วนของการฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าว ล่าสุด ได้ข้อสรุปว่ากระทรวงแรงงานจะรับภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ขณะที่นายจ้างที่ต้องการแรงงานต่างด้าวจะต้องลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้อยู่ในระบบประกันสังคม

“เกษตร-ก่อสร้าง-บริการ” ขาดแรงงานสูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลการสำรวจความต้องการจ้างงานแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ ล่าสุด เมื่อเดือน พ.ย. 2564 พบว่า นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติ 424,703 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 256,029 คน สัญชาติกัมพูชา 130,138 คน และสัญชาติลาว 38,536 คน

โดยประเภทกิจการที่ต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.เกษตรและปศุสัตว์ 2.ก่อสร้าง 3.บริการ 4.เกษตรต่อเนื่อง 5.ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนจังหวัดที่ต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่, กทม., จันทบุรี, สมุทรสาคร และระยอง

ประยุทธ์สั่งสกัดแรงงานเถื่อน

วันที่ 9 พ.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงปัญหาแรงงานลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือในที่ประชุม ครม.

และมอบหมายให้ทำ MOU นำเข้าแรงงานในส่วนที่ขาดแคลน แต่ต้องปลอดภัยจากโควิด โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ต้องหยุดชะงัก และบางกิจกรรมที่ขาดแคลน

“เพื่อการแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมือง ทุกวันนี้ได้มีการสกัดควบคุม ส่งกลับทุกวัน และสอบสวนผู้อยู่เบื้องหลังผู้นำเข้าแรงงานเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นนายทุน ข้าราชการ เรือ รถรับจ้าง ถือเป็นการค้ามนุษย์”