วิกฤตน้ำมันดันต้นทุนพุ่ง! ขนส่ง-สินค้าดาหน้าขึ้นราคา

Photo by SAEED KHAN / AFP

รัฐกัดฟัน “ไฟเขียว” กองทุนน้ำมันฯกู้ก้อนสุดท้าย 20,000 ล้านบาท ตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตร ถึงสิ้นไตรมาส 1/2565 หลังน้ำมันดิบแนวโน้มไม่ต่ำกว่า 80 เหรียญ/บาร์เรล สินค้าหลายรายการที่มีต้นทุนจากน้ำมัน-ค่าขนส่ง เตรียมขอปรับขึ้นราคา ด้านกรมการค้าภายในออกโรงแจง น้ำมันแพงกระทบต้นทุนสินค้าไม่ถึง 1% ปัดตอนนี้ยังไม่มีใครขอปรับขึ้นราคาสินค้า

สถานการณ์ด้านพลังงานกำลังเต็มไปด้วยความตึงเครียด เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นกว่า 80 เหรียญ/บาร์เรล ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันดิบจะไม่ต่ำไปกว่านี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลจำหน่ายปลีกในประเทศปรับขึ้นสูงกว่า 30 บาท/ลิตร

ในขณะที่รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท โดยใช้การบริหารจัดการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามา “อุดหนุน” ราคาดีเซล

หนุนกู้เงินโปะกองทุนน้ำมันฯ

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า การกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในระยะสั้นเท่านั้น

โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยไม่เกิน 80 เหรียญ/บาร์เรล การกู้เงินจำนวนนี้จะสามารถใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปจนถึงไตรมาส 1/2565 และถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด กว่าการไปปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันละ 1-2 บาท/ลิตร

“ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯเหลือเงินไม่ถึง 10,000 ล้านบาทแล้ว หากกู้มาให้กองทุนอีก 20,000 ล้านบาท และยังมีเงินกู้จากรัฐบาลที่นำมาให้การช่วยเหลือเสริมเข้ามาได้อีก 10,000 ล้านบาท ผมมองว่าน่าจะเพียงพอที่ใช้ดูแลราคาน้ำมันไปถึงไตรมาส 1/2565

แต่ถ้าหลังจากนั้น ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปอีก จึงค่อยไปใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตเข้ามาช่วยเป็นสเต็ปต่อไป ส่วนการที่จะขยายกรอบเงินกู้ไปถึง 40,000 ล้านบาทนั้น คิดว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องไปแก้ไขกฎหมายที่ให้เพดานไว้แค่ 20,000 ล้านบาท

ส่วนการใช้คืนเงินกู้กองทุนก็จะต้องไปรอจังหวะเก็บเงินเข้ากองทุนอีกครั้ง หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง” นายพรายพลกล่าว

สำหรับราคาน้ำมันดีเซลก่อนที่กองทุนน้ำมันฯจะเข้าไปอุดหนุนได้ปรับขึ้นไปถึง 32-33 บาท/ลิตร ดังนั้นการใช้เงินกองทุนเข้าไปตรึงราคาดีเซลจะมีส่วนสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะเอฟเฟ็กต์การปรับราคาน้ำมันอาจจะกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้าและเงินเฟ้อ

หากรัฐบาลปล่อยให้สินค้าปรับราคาขึ้นตอนน้ำมันแพง แต่หลังจากนี้ราคาน้ำมันลดลง แต่ราคาสินค้าอาจจะไม่ลดลงตาม และระดับราคาน้ำมันขึ้น-ลงเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่ใช่ว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปตลอด

“อีก 5-6 เดือนราคาน้ำมันอาจจะปรับลดลง ดังนั้นการดูแลในช่วงนี้จะดีในแง่ของเศรษฐกิจ ส่วนที่จะมีผลต่อเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ” นายพรายพลกล่าว

เอกชนอ่วมต้นทุนพุ่ง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่า “สถานการณ์ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้า-ค่าขนส่ง ส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มสินค้าพื้นฐานด้วย

“ผมเชื่อว่าราคาสินค้าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นไปจนถึงไตรมาส 1/2565 แต่เอกชนพร้อมจับมือรัฐบาลเพื่อรักษาระดับราคาสินค้าที่จำหน่ายในปัจจุบันให้ได้นานที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าอนาคตสินค้าจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นแน่นอน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการและมีรายได้”

สอดคล้องกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะ “น้ำมัน” ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมาก และมีสินค้าบางส่วนได้ขยับขึ้นราคาไปแล้ว

ทาง ส.อ.ท.คาดว่า หากราคาน้ำมันยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ภาครัฐยังปล่อยให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นต่อไป เอกชนอาจมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มเติมอีกแน่นอน เช่นเดียวกันกับที่ทาง กกพ.กำลังจะพิจารณาค่า Ft ไฟฟ้าเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทางเอกชนมองว่า รัฐบาลควรตรึงราคาไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชนไปอีกระยะหนึ่ง หรือประมาณ 1 ปี

กระทบต้นทุนสินค้าไม่ถึง 1%

ด้านร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในได้มีการติดตามดูแลราคาสินค้าอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ว่าจะส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งอย่างไร เบื้องต้นพบว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นจาก 26 บาท/ลิตร จนถึงราคา 30 บาท/ลิตร

“จะมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าไม่ถึง 1% เท่านั้น” และยังไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค-วัสดุก่อสร้าง-เครื่องใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนที่พบว่ามีการปรับขึ้นราคานั้น ส่วนใหญ่ปรับขึ้นไปตามโปรโมชั่นหรือกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งเป็นช่วงของปกติในการทำราคาซื้อขาย

“จากการติดตามยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาขอขึ้นราคาสินค้ากับกรมการค้าภายใน ด้วยเหตุผลต้นทุนหรือค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และกรมได้ติดตามถึงปัญหาของการหยุดรถขนส่งไปยังห้างสรรพสินค้า หรือกลุ่มผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ

เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยืนยันว่าสินค้ายังมีเพียงพอและสามารถขนส่งสินค้ากระจายไปยังห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่าง ๆ ได้โดยไม่สะดุดหรือติดขัด ส่วนกรณีน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับราคาขึ้นไปนั้น (จาก 46 บาท/ขวด เป็น 50-53 บาท/ขวด) มั่นใจว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า” ร้อยตรีจักรากล่าว

สินค้าจ่อปรับขึ้นราคาแน่

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ กล่าวว่า ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะมีผลต่อพื้นฐานของราคาวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นผงซักฟอกและอุปกรณ์ซักผ้าต่าง ๆ ตลอดจนน้ำมันปาล์ม

รวมถึงสินค้าเกษตรต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีค่าระวางเรือที่มีราคาสูงขึ้น ตลอดจนค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงสูงด้วย ทั้งหมดนี้ส่งผลไปทั้งระบบซัพพลายเชนและต้นทุนการผลิต จนวันนี้ระบบโลจิสติกส์มีการขอปรับขึ้นราคาแล้ว “เราต้องเข้าใจและต้องช่วยกันรับมือ”

ในขณะที่สหพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อครัวเรือน “ตอนนี้ยังไม่มีการขยับราคา” แต่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าสินค้ากลุ่มไหนปรับเพิ่มได้ก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของบริษัท ส่วนสินค้ากลุ่มไหนที่รัฐบาลควบคุมหรือรัฐขอความร่วมมือก็จะพิจารณาให้ความร่วมมือกับรัฐบาล “ให้มากที่สุด” และถ้าปรับราคาขึ้นไม่ได้ก็ต้องปรับตัวลดต้นทุนอย่างอื่นแทน และหันมา suffer กำไรลดลง

ส่วน นายอำนาจ สิงห์จันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบกับต้นทุนสินค้าในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก

และซ้ำเติมกับต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งระหว่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มชิ้นใหญ่อย่าง “เครื่องซักผ้าและตู้เย็น” ซึ่งกินพื้นที่เยอะ ปัจจุบันบริษัทรับมือด้วยการรับผิดชอบส่วนต่างและมุ่งสร้างยอดขายสินค้าระดับพรีเมี่ยมที่มีสัดส่วนกำไรสูงมาเฉลี่ย ช่วยให้สามารถตรึงราคาสินค้าเอาไว้ได้

“แต่หากสถานการณ์ยืดยาวออกไป อาจจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดกับผู้ผลิตทุกราย เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยมีการปรับราคาสินค้าไปบ้างแล้ว เฉลี่ยประมาณ 5-10% แตกต่างกันตามแบรนด์และสินค้า” นายอำนาจกล่าว

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนการผลิต เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในเร็ว ๆ นี้ กรมการค้าภายในเตรียมเรียกผู้ประกอบการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าเหล็ก ในส่วนของบริษัทเองต้องพยายามตรึงราคาสินค้าไว้ให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค แต่จะตรึงได้ถึงกี่เดือนยังไม่สามารถประเมินได้ ตอนนี้ที่ยังตรึงราคาไม่ปรับขึ้นได้ก็เพราะเดือนนี้ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายก็ปรับลดลงตาม แต่ลงในสัดส่วนที่ไม่ได้ล้อตามตลาดโลก คือราคาขายลงน้อยกว่า แต่ก็พอช่วยชดเชยได้บ้าง” นายประวิทย์กล่าว

ยาง-ข้าวค่าขนส่งพุ่ง

ส่วนทางด้านภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันนั้น นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทุกวงการ

โดยเกษตรกรชาวสวนยางเองก็รับภาระต้นทุนการขนส่ง-โลจิสติกส์เพิ่มขึ้น เพราะพ่อค้าที่มารับน้ำยางสด หรือเกษตรกรที่จะนำไปขายก็ต้องดูค่าขนส่ง ทั้งหมดก็ส่งผลต่อต้นทุน ซึ่งราคายางของเกษตรกรปัจจุบันอยู่ในกรอบ 48-50 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาประกันรายได้

เช่นเดียวกับ นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสมาชิกสมาคมโรงสีข้าวในพื้นที่ต่าง ๆ ว่า มีการปรับราคาค่าขนส่งสูงขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งข้าวสารจากโรงสีจากทางอีสาน

เพื่อส่งเข้าไปให้กับผู้ประกอบการข้าวถุงและผู้ส่งออกในกรุงเทพฯได้ปรับขึ้นไปประมาณ 10% จากปกติเฉลี่ยตันละ 500 บาท ขยับขึ้นไป 550 บาท หรือการขนส่งข้าวเจ้าในพื้นที่ภาคกลางปรับขึ้นประมาณตันละ 20-30 บาทแล้ว

“เคอรี่” บริหารต้นทุนสู้น้ำมันแพง

นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการขนส่งของเคอรี่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้ส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่มีเรื่องต้นทุนคงที่ เช่น จำนวนรถขนส่งและพนักงาน

นั่นหมายถึงจะส่งพัสดุมากขึ้นเท่าไร ต้นทุนส่วนนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้าส่งของได้มาก ต้นทุนต่อการส่งพัสดุ 1 ชิ้นก็ต่ำลง ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับบริษัท ปตท. โดยมีนโยบายให้รถขนส่งประเภท 4 ล้อ และ 6 ล้อ ใช้น้ำมัน PTT UltraForce Diesel B10 และ B5 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วย

“ต้นทุนของเคอรี่มี 2 ส่วน คือ ต้นทุนคงที่ ซึ่งส่วนนี้ยิ่งส่งพัสดุมาก ต้นทุนก็จะลดลง ส่วนต้นทุนผันแปร คือ น้ำมัน เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบบ้าง แต่ไม่เป็นปัจจัยที่เกี่ยวพันกับการจัดการราคา

เพราะเคอรี่ไม่ใช่รถบรรทุก 1 คันที่วิ่งออกไปแล้วให้บริการเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เมื่อน้ำมันขึ้นกำไรก็จะหายไป แต่เคอรี่เป็นแพลตฟอร์ม ดังนั้น ยิ่งส่งพัสดุมาก ต้นทุนก็ยิ่งต่ำลง” นายวราวุธกล่าว