เกษตรฯ-ธ.ก.ส.-เอกชน ผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงส่งออกเจาะตลาดอาเซียน

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท พรีเมียม บีฟ จำกัด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) โครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากโคนม ชี้เป็นโอกาสดีของไทยผลิตโคเนื้อเพื่อการส่งออก ลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศ

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากข้อมูลสถิติโคเนื้อของประเทศไทยที่ผ่านมาปี 2564 ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมปศุสัตว์สำรวจนั้น มีจำนวนโคเนื้อกว่า 7.6 ล้านตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อประมาณ 1.1 ล้านราย คิดเป็นเนื้อโค 200,000 ตัน ผลผลิตเนื้อโคที่ได้ส่วนใหญ่จะบริโภคภายในประเทศ และมีการนำเข้าเนื้อโคจากประเทศเพื่อนบ้าน

โดยที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้มีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ โครงการโคเนื้อต้นแบบธนาคารโค-กระบือ โครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นต้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) โครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากฝูงโคนม ระหว่าง กรมปศุสัตว์ บริษัทพรีเมี่ยม บีฟ จํากัด บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งวัตถุประสงค์ของการลงนามฯในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือดำเนินโครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากโคนมในการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง

โดยขยายการผลิตจากฝูงโคนมสาวท้องที่ให้ปริมาณผลผลิตต่ำ ใช้โคนมสาวมาเป็นฐานในการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง โดยการผสมเทียมโคนมเหล่านี้ด้วยน้ำเชื้อที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น สายพันธุ์ลูกผสมวากิว ลูกผสมแองกัส บีฟมาสเตอร์ ชาร์โลเลส์ เป็นต้น

เพื่อเพิ่มจำนวนโคขุนคุณภาพสูงตามที่ตลาดต้องการและลดปัญหาโคนมล้นตลาด สร้างรายได้เพิ่มในการผลิตโคต้นน้ำให้กับสหกรณ์โคนม กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนตลอดจนสามารถเลี้ยงควบคู่ระหว่างโคนมและโคเนื้อ โดยตลอดการดำเนินการโครงการฯเกษตรกรจะได้รับความรู้ คำแนะนำ ด้านการลงทุน และการจัดทำแผนธุรกิจให้เป็นไปตามที่กำหนดรวมทั้งสนับสนุนด้านการตลาดตลอดห่วงโซ่

​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปัจจุบันการบริโภคเนื้อโคของไทยเฉลี่ย 2.89 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบการการบริโภคเนื้อโปรตีนจากสัตว์ชนิดอื่นและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะผลิตโคเนื้อคุณภาพดีเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคและเพื่อการส่งออก ยังเป็นลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศอีกด้วย