“ชัชพล” วางอนาคต UAC ผุดสถานีชาร์จ ขอโตคู่รถอีวี

ชัชพล ประสพโชค
ชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC
สัมภาษณ์พิเศษ

เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้ากำลังไปได้ดี จากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคึกคักขึ้น เป็นโอกาสของการลงทุนธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่ “UAC” ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนซึ่งได้เห็นถึงโอกาสการสร้างความเติบโตจากเทรนด์อีวี จึงได้ร่วมทุนกับพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายชัชพล ประสพโชค” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ถึงทิศทางธุรกิจ UAC ในปี 2565

เป้ารายได้อนาต UAC

UAC ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงบประมาณในการลงทุนธุรกิจใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักของเรา คือ ธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยวางเป้าหมายการเติบโตแต่ละธุรกิจปีละ 10-15% ซึ่งจะทำให้ภาพรวม UAC มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2024 ตามที่เคยตั้งไว้ก่อนที่จะเกิดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมียอดรายได้เติบโตที่ 2,970 ล้านบาท

ดังนั้น หากต้องการให้มีการเติบโตของรายได้ต้องลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งบริษัทได้ลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน 3 เมกะวัตต์ MW ที่ขอนแก่น จะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบต้นปี 2565 จะเริ่มเห็นรายได้เข้ามาโครงการโรงคัดแยกขยะที่ สปป.ลาว เฟสแรกก็ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและจะเห็นผลของรายได้เข้ามา

ลุยสถานีชาร์จอีวี ปี’65

บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) โดยถือหุ้นสัดส่วน 50 : 50 เพื่อทำสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV) โดยจะเปิดให้บริการนำร่อง 4 สถานี 12 หัวจ่าย โดยการลงทุนเฉลี่ยแต่ละสถานีอยู่ที่ 3-4 ล้านบาท จะเริ่มตั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลรัศมี 300 กิโลเมตร ตามการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าจะชัดเจนในสิ้นปีนี้

และมีเป้าหมายจะขยายให้ได้ 50 สถานี ภายใน 2 ปี วางงบประมาณการลงทุน 40 ล้านบาท ซึ่งจะกระจายไปในหัวเมืองสำคัญ เช่น เหนือ อีสาน ใต้ จะพิจารณาไปตามการใช้งานของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรายได้ก็น่าจะเริ่มเห็นในไตรมาส 2 ของปี 2565 และจะเป็นผลรายได้ที่ค่อยเติบโตตามการใช้งานและน่าจะโตแบบก้าวกระโดด

“เห็นโอกาสการเติบโตของรถอีวี ในประเทศจะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีไปประชุม COP26 ทางสหรัฐ ยุโรป ต่างผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเร็วมาก จีนก็มีกว่า 100 แบรนด์ อีกทั้ง 3-4 แบรนด์ก็เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย และยังมีบริษัทไทยเองก็ร่วมทุนกับไต้หวัน จีนในการลงทุนรถอีวี”

“ซึ่งตลาดจะมีเร็วและความเคลื่อนไหวของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า งานแสดงมอเตอร์เอ็กซ์โปก็น่าจะบอกได้ชัด และเทรนด์อนาคตรถที่ใช้เครื่องยนต์โอกาสในการเก็บภาษีก็จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากจะนำรถอีวีมาใช้ก็ต้องมีสถานีชาร์จไว้ให้บริการทั่วประเทศ นอกจากที่ชาร์จภายในบ้าน แต่ข้างนอกที่จะให้บริการก็ต้องพร้อม และภายในครึ่งชั่วโมงจะต้องประจุไฟฟ้าให้ได้เร็ว ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของประเทศ โดยเป็นผลจากการส่งเสริมของกระทรวงพลังงานผลักดันให้เกิดขึ้น เราก็จะเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจด้านนี้”

ไม่ทิ้งธุรกิจพลังงาน

ขณะเดียวกัน UAC ก็ยังมีการลงทุนธุรกิจด้านบริหารจัดการขยะชุมชนให้ได้ประโยชน์สูงสุด เริ่มใน สปป.ลาวแล้ว เรามีพันธมิตรที่เข้าร่วมลงทุนเรื่องคัดแยกขยะ อยู่ในการพัฒนาโครงการเฟสแรกในการคัดแยกขยะไปแล้ว ต่อไปจะขยายต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 6 MW เป็นต้น

นอกจาก สปป.ลาวแล้วยังมีที่เวียดนาม อินโดนีเซีย อนาคตเราก็จะออกไปลงทุน ร่วมทุน และอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการที่จะไปทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น เป้าหมายจะไปในตลาด CLMV อยู่แล้ว

ส่วนในประเทศบริษัทจะดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนพลังงานของกระทรวงพลังงาน ด้านโรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งก็ต้องรอความชัดเจนในเรื่องของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่จะออกมา คาดว่าในอนาคตจะมีการลงทุนด้านนี้มากขึ้น บริษัทสนใจและพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ตามเป้า 3 ปีข้างหน้า

“โรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ เราก็พร้อมที่จะร่วมแต่ก็รอความชัดเจน PPA และนโยบายของภาครัฐ แต่สำหรับโรงไฟฟ้าขยะนั้นเรามีพาร์ตเนอร์ที่ดี เราอาจจะไม่ใช่ผู้ลงทุนหลักแต่พร้อมสนใจ”

ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนที่เราชนะประมูลมานั้น ซึ่งดำเนินการที่จังหวัดขอนแก่นก็แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และจะเริ่มจ่ายไฟได้ในปีหน้า และก็จะเห็นผลของรายได้เข้ามา จริง ๆ เราประมูลไปทั้ง 6 โครงการ แต่ชนะมา 1 โครงการ

ซึ่งก็ยอมรับว่ามีการแข่งขันด้านราคาสูง แต่มั่นใจว่าในส่วนของเราที่ชนะมานั้น สามารถดำเนินการได้ออกดอกออกผลได้แน่นอน ซึ่งเรามีประสบการณ์ด้านนี้มา 10 ปี ดังนั้น ด้านวัตถุดิบ การจัดการ การบริหารต้นทุนเชื่อว่าเราทำได้

“แม้ 2 ปีที่ผ่านมาหลายประเทศ หลายกลุ่มธุรกิจจะเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่บริษัทเองก็สามารถประคองธุรกิจและสร้างสภาพคล่องทางการเงินได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาแม้ไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่บริษัทก็ได้เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนให้แล้วเสร็จจากที่ชนะการประมูลไปก่อนหน้านี้ คาดว่าจะเริ่มเห็นรายได้ได้ในต้นปี 2565”

โค้งสุดท้ายก่อนปิดปี’64

ปีนี้คาดว่าทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลักเติบโตตามเป้าหมายในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ บริษัทยังทำรายได้และ EBITDA ได้เกินเป้าหมายอย่างแน่นอน ต้นปีเราตั้งเป้าหมาย EBITDA อยู่ที่ 350 ล้านบาท ยอดขายอยู่ที่ 1,500-1,600 ล้านบาท หรือขยายตัว 10-15% น่าจะเป็นไปตามที่ตั้งไว้ ปีนี้เป็นปีที่ดีของ UAC ที่ดีของบริษัท

ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สามธุรกิจหลักขยายตัวดี ทำให้มียอดขาย 1,130.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.52% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 192.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.54% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 163.55 ล้านบาท โดยมี gross margin ที่ระดับ 17.31% ส่งผลให้ EBITDA งวด 9 เดือนแรกปี 2564 อยู่ที่ระดับ 322.14 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 296 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดรายได้หลักมาจากเทรดดิ้งที่มีการนำเข้าสารเคมี เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจน้ำมัน สำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ถึง 60% มีการเติบโตเพราะโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเคมีกลับมาผลิตปกติ ความต้องการสินค้ากลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 เชื่อว่าการที่ประเทศจะทำให้ความต้องการกลับมาเพิ่ม

ธุรกิจการผลิตพลังงานสัดส่วนประมาณ 40% นั้น มาจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ เช่น โรงไฟฟ้าแม่แตง ขนาด 1.5 MW โรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป 2 โครงการ 8 MW โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 7 MW และโรงไฟฟ้าพืชพลังงาน 3 MW

นอกจากนี้ ก็ทำธุรกิจไบโอดีเซลที่ลงทุนร่วมบางจากฯ กำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเราถือหุ้นอยู่ที่ 30% โดยโรงงานอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีโรงผลิตปิโตรเลียมที่ใช้แยกก๊าซธรรมชาติขนาดเล็กไว้แยกเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง LPG และตัวทำละลาย NGL และธุรกิจด้านเคมีภัณฑ์ เราก็จะมีกาวลาเท็กซ์ กาวน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมสี เป็นต้น

รับมือแผนลดไบโอดีเซล

การใช้ไบโอดีเซลช่วงไตรมาส 2-3 ชะลอตัวลงมาเยอะ แต่ไตรมาส 4 มีการเปิดประเทศการใช้รถยนต์มากขึ้นโดยเฉพาะภาคขนส่ง รถสาธารณะ ความต้องการ ใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นแม้จะมีปัจจัยผลกระทบทางด้านราคาบ้าง ราคาผลปาล์มปรับสูงขึ้น ผลผลิตน้อย แรงงานเก็บผลปาล์มน้อย หลัก ๆ มาจากโควิด-19 ซึ่งเทียบแล้วกำลังผลิตของไทยยังน้อยกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่เชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้น

“รัฐบาลมีมาตรการลดการผสมน้ำมันปาล์มดิบจากบี 10 เป็นบี 6 เป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น ขณะนี้ก็กลับมาผลิตบี 7 และบี 10 เหมือนเดิมแล้ว เพราะสุดท้ายไม่ได้ช่วยเพราะราคาน้ำมันปาล์มดิบก็ต้องอิงราคาจากต่างประเทศด้วย ผู้ประกอบการไบโอดีเซลทิศทางยังดีอยู่ ส่วนใหญ่ลงทุนไปมากแล้ว”

“ส่วนโรงงานไบโอดีเซลของบริษัทกับบางจากฯ กลไกราคากำหนดสูตรพิจารณาตามราคาน้ำมันปาล์มดิบก็ยังเห็นรายได้และกำไรจากธุรกิจนี้อยู่ ในปี 2564 รายได้ กำไรสุทธิได้ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แน่นอน”