อีกไม่ถึงเดือน เริ่มใช้ RCEP ปลุกตลาดอาหาร 7 แสนล้าน

นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน ผู้ผลิตอาหารไทยเตรียมพร้อมใช้ RCEP ลดภาษี 1 ม.ค. 65 ปีแรกลดภาษีเฉียด 3 หมื่นรายการ ส.ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หวังเปิดตลาดเกษตร-อาหาร 7.86 แสนล้านบาท คึก เตือนรับมือ “อาหารต่างประเทศ” ทะลัก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2565 หรืออีกไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้า จะเป็นความตกลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน ถือเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่สำคัญ

เพราะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 1 ใน 3 หรือมูลค่า 28,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในส่วนของไทยต้องเตรียมความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้ให้มากที่สุด

โดยเบื้องต้นประเมินว่าประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการค้าสินค้า จะมีสินค้า 39,366 รายการที่ประเทศคู่เจรจาลดภาษีเป็น 0% ให้ไทย ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีสินค้า 29,891 รายการ หรือประมาณ 75.9% ของสินค้าทั้งหมดที่จะมีภาษีเป็น 0% ที่เหลืออีก 9,475 รายการจะทยอยลดภาษีเป็น 0% ใน 10-20 ปี

“ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดเพิ่ม 653 ราย จากความตกลงเดิมที่มีอยู่แล้ว แบ่งเป็นจากจีน 33 รายการ ญี่ปุ่น 207 รายการ และเกาหลีใต้ 413 รายการ ซึ่งเกาหลีลดภาษีสินค้าผัก ผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง ส่วนญี่ปุ่นเปิดตลาดเพิ่มให้สินค้าประมง ผัก ผลไม้ ปรุงแต่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟคั่ว น้ำผลไม้ และจีนเปิดตลาดเพิ่มให้พริกไทย สับปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว เป็นต้น”

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563-2564 โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 60.25% สินค้าผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 12.25% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัว 52.83% ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปขยายตัว 6.88% อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 21% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว 91% สิ่งปรุงรสอาหารขยายตัว 5.6% ผลไม้กระป๋องและแปรรูปขยายตัว 5.8%

นอกจากนี้ ประโยชน์สำคัญที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม คือการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น โดยให้สะสมแหล่งกำเนิดสินค้า ช่วยเพิ่มโอกาสในการค้า การลงทุนในภูมิภาค มีการเพิ่มโอกาสด้านการค้าบริการและการลงทุน

เช่น การยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในภาคบริการ รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ ทำให้นักลงทุนจากประเทศไทยสามารถจัดตั้งธุรกิจในประเทศสมาชิกได้เร็วขึ้น

สำหรับการเตรียมความพร้อมสมาชิกในการใช้ประโยชน์ RCEP นั้น ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ ถึงโอกาสและแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA นี้ ควบคู่ไปกับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาด RCEP เพื่อวางกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลง

เพราะต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิดทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่แบบ new normal

“ผู้ประกอบการต้องสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้สินค้า และบริการ และต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าและบริการตัวเองเท่านั้น ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ตลาดใหม่ให้มากขึ้น และหาช่องทางการจำหน่าย เช่น โมเดิร์นเทรด งานแสดงสินค้า และการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ”

อีกด้านหนึ่งแนวทางการรับมือกรณีที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็ถือว่ามีความสำคัญ โดยในปีแรกสินค้ากลุ่มอาหารนำเข้าหลายรายการจะมีภาษีเป็น 0% แบ่งเป็น

กลุ่มประมงแช่แข็ง เช่น แซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน ปลาหมึก กุ้งล็อบสเตอร์

กลุ่มผักสด แช่เย็น แช่แข็ง เช่น มะเขือเทศ บร็อกโคลี กะหล่ำปลี ผักกาดหอม

กลุ่มผลไม้ เช่น สับปะรดแห้ง ฝรั่ง มะม่วงแห้ง สตรอว์เบอรี่ ราสป์เบอรี่ แบล็กเบอรี่ มัลเบอรี่ ลำไย ส้ม ส้มแห้ง กีวี ลิ้นจี่ เงาะ

สินค้ากลุ่มกาแฟ ชา เครื่องเทศ เช่น ซินนามอน

สินค้ากลุ่มธัญพืช เช่น สาหร่าย

สินค้ากลุ่มผักและผลไม้แปรรูป เช่น น้ำส้มโฟรเซ่น น้ำแอปเปิลมีค่าบริกซ์ไม่เกิน 20

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าไทย-RCEP เฉพาะในส่วนของสินค้าอาหาร ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 เท่ากับ 786,267 ล้านบาท จากทั้งหมด 7.19 ล้านล้านบาท โดยขยายตัว 15% โดยไทยส่งออกอาหารไป RCEP มูลค่า 600,269 ล้านบาท ขยายตัว 16% ไทยนำเข้าอาหารจาก RCEP 185,997 ล้านบาท ขยายตัว 12% ทำให้ไทยได้ดุลการค้า 414,272 ล้านบาท

โดยสินค้าอาหารหลักที่ไทยนำเข้า คือธัญพืชแป้ง ผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้ ผักและของปรุงแต่งจากผัก ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ สัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ส่วนสินค้าอาหารที่ไทยส่งออก เช่น ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่ ข้าว สินค้าปศุสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น