คิกออฟ ชาวนา-ชาวสวนยาง เช็กเลย รัฐบาลจ่ายประกันรายได้ งวดตกค้าง

ประกันราคายางพารา-ข้าว

“จุรินทร์” คิกออฟจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ “ข้าว-ยางพารา” งวดตกค้าง พร้อมแจ้งเงินค่าบริหารจัดการ ค่าปรับปรุงคุณภาพ ครัวเรือนละ 20,000 บาท จะจ่าย 13 ธ.ค.นี้

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการแถลงข่าวการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าว-ยาง ปี 3 ว่า วันนี้เป็นวันที่สำคัญสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับผู้ปลูกยางพารา เนื่องจากรัฐบาลได้ค้างจ่ายเงินส่วนต่างที่จะต้องจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อชดเชยกับราคาตลาดที่ไม่ถึงรายได้ที่ประกัน

โดยข้าวค้างจ่าย 5 งวด และยางค้างจ่าย 2 งวด แต่หลังจากนายกรัฐมนตรีขยายเพดานตาม พ.ร.บ.วินัยการคลัง เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 มีผลให้เพดานเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 35% สามารถนำเงินที่มีอยู่มาจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับยางพาราได้

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

สำหรับข้าวปีที่ 3 เงินที่เกษตรกรจะได้รับ มี 3 ก้อน ก้อนที่หนึ่ง เงินส่วนต่างงวดที่ 1-2 กับงวดที่ 3 บางส่วน ได้จ่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ววงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 3 ที่เหลือ จะมาจ่ายให้ครบโดยเริ่มจ่ายวันนี้ (9 ธ.ค.) โดยจ่ายงวดที่ค้างอยู่ 5 งวดพร้อมกัน คือ งวดที่ 3 บางส่วน และงวด 4-7 รวมเป็นเงิน 64,847 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 8 จะจ่ายวันที่ 14 ธ.ค. 2564 เป็นเงิน 3,720 ล้านบาท และงวดที่ 9-33 จะทยอยจ่ายทุก 7 วันจนครบ โดยงวดสุดท้าย วันที่ 27 พ.ค. 2565

โดยเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่าง สำหรับผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สูงสุด 58,988 บาท ข้าวหอมนอกพื้นที่ สูงสุด 60,086 บาท ข้าวหอมปทุม สูงสุด 36,358 บาท ข้าวเปลือกเจ้า สูงสุด 67,603 บาท ข้าวเหนียว 71,465 บาท สามารถช่วยชาวนาได้ประมาณ 4.7 ล้านครัวเรือน

สำหรับเงินก้อนที่ 2 คือ เงินในมาตรการคู่ขนาน ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากจนเกินไป ช่วยตันละ 1,500 บาท หรือสหกรณ์เก็บไว้จะช่วยตันละ 1,500 บาท และช่วยเหลือดอกเบี้ย ถ้าสหกรณ์เก็บข้าว 12 เดือน ช่วยดอกเบี้ย 3% ถ้าโรงสี เก็บข้าว 6 เดือน จะช่วยดอกเบี้ย 3% เพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากเกินไปและไปกดราคาข้าวในตลาด

ส่วนก้อนที่ 3 คือ ช่วยค่าบริหารจัดการหรือปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท โดยจ่ายวันที่ 13 ธ.ค.2564 เป็นต้นไป เป็นเงิน 53,871 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.7 ล้านครัวเรือน

นอกจากนี้ ชาวนาที่น้ำท่วมเสียหาย จะได้เงินอีกก้อนหนึ่ง คือ เงินชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ โดยชาวนาที่ปลูกข้าวแล้วน้ำท่วม จะยังได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ขอให้ปลูกจริง และไปขึ้นทะเบียน แม้พืชผลจะเสียหายเพราะภัยธรรมชาติ ก็จะยังได้รับเงินช่วยเหลือส่วนต่างเช่นกัน

สำหรับยางพาราจะเริ่มจ่ายงวดที่ 1-2 ในวันนี้ (9 ธ.ค.) เช่นเดียวกัน โดยงวดที่ 1 วงเงินประมาณ 900 ล้านบาท งวดที่ 2 วงเงิน 540 ล้านบาท รวม 1,440 ล้านบาทโดยประมาณ และจะจ่ายงวดที่ 3-6 ทุกเดือนจนถึงเดือน เม.ย. 2565 โดยงวดที่ 3 จะเริ่มจ่ายวันที่ 7 ม.ค. 2565 วงเงิน 8,626 ล้านบาท โดยยางพารามีเงินเตรียมไว้ 10,065 ล้านบาท ซึ่งวงเงินสูงสุดที่ได้รับเฉพาะงวดที่ 1-2 ยางแผ่นดิบสูงสุด 3,835 บาทต่อครัวเรือน น้ำยางข้น 2,975 บาท และยางก้อนถ้วยจะไม่ได้รับเงินส่วนต่าง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยางราคาดีกว่าช่วงก่อน สำหรับน้ำยางข้น ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 57 บาท ตอนนี้ราคาไปกิโลกรัมละ 60 บาทแล้ว ยางก้อนถ้วย ประกันที่กิโลกรัมละ 23 บาท ตอนนี้ 25-26 บาทแล้ว ภาคอีสานมากกว่าภาคใต้ 1 บาท เพราะอยู่ใกล้แหล่งการส่งออก ซึ่งยางก้อนถ้วยราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันมาเป็นปีแล้ว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ข้าว แม้ราคาตกไปช่วงหนึ่ง แต่ขณะนี้ถือว่าราคาข้าวกระเตื้องขึ้น สำหรับข้าวแห้งที่ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาข้าวเปลือกเจ้าขณะนี้ขึ้นไป 7,700-8,100 บาทแล้ว การส่งออกก็ดีขึ้น ครึ่งปีหลังส่งออกข้าวได้เยอะ ครึ่งปีแรกเดือนละ 400,000-500,000 ตัน ตอนนี้เดือนละ 700,000-800,000 ตัน อาจทำได้ทั้งปีถึง 6,000,000 ตัน เพราะเราสามารถแข่งขันเรื่องราคาได้จากค่าเงินบาทที่อ่อนลง และมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยกันทำงานกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม พืชอีก 3 ชนิดที่ประกันรายได้ มีราคาสูงกว่าราคาที่ประกันเอาไว้ โดยข้าวโพด ประกันรายได้ที่ 8.50 บาท ตอนนี้ 9.60 บาท ปาล์มน้ำมันประกันที่ 4 บาท ตอนนี้ราคา 8-9 บาท และมันสำปะหลังประกันที่ 2.50 บาท ก็ไป 2.50-2.70 บาท ถือว่าราคาพืชเกษตรที่ประกันราคาดีเกือบทุกตัว ยกเว้นข้าว แต่ปีก่อนราคาข้าวดีพอสมควร แตะ 10,000 บาทสำหรับข้าวเปลือกเจ้า