ปี’64 ไทยจ่อปิดจ็อบส่งออกพุ่ง 15-16% มูลค่า 2.68 แสนล้าน สูงสุดรอบ 12 ปี

ส่งออก

“จุรินทร์” มั่นใจปี’64 ไทยส่งออกได้ 15-16% ทุบสถิติสูงสุดรอบ 12 ปี มูลค่า 2.68 แสนล้าน หลังยอดส่งออก พ.ย. 2564 พุ่ง 24.7% ดัน 11 เดือนไปได้ถึง 16.4% แล้ว

วันที่ 20 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2564 ว่าการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2564 มีมูลค่า 23,647.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 783,425 ล้านบาท ขยายตัว 24.7% การนำเข้ามูลค่า 22.629.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.5% ส่งผลให้ได้ดุลการค้า เกินดุล 1,018.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออก 11 เดือน มูลค่ารวม 246,243.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7,731,391 ล้านบาท ขยายตัว 16.4% และนำเข้า 242,315.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 29.4% ส่งผลให้ได้ดุลการค้า เกินดุล 3,927.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ต้องรอเดือน ธ.ค.อีกเดือนจะได้ 16.4% แล้ว อย่างน้อย 15-16% น่าจะได้ ผมจะประชุม กรอ.พาณิชย์ แล้วจะประเมินร่วมกันอีกครั้ง ตั้งใจจะประชุมปลายปีอาจจะสัปดาห์สุดท้าย หรือสัปดาห์แรกของปีหน้า ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมอยู่แล้วก็จะมาประเมินร่วมกันอีกครั้ง”

ทั้งนี้ สินค้าหมวดสินค้าเกษตร 68,462 ล้านบาท ขยายตัว 14.2% เป็นบวก 13 เดือนต่อเนื่องติดต่อกัน โดยสินค้าที่ส่งออกขยายตัวดี คือ ทุเรียนสด เพิ่มขึ้น 138.9% ขยายตัวดีมากในตลาดจีนและเกาหลีใต้
มะม่วงสด 48.6% ขยายตัวดีมากในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ เมียนมา ญี่ปุ่น และลาว

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 48.6% ขยายตัวดีมาก ในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้และมาเลเซีย ลำไยสด ขยายตัว 24.7% เป็นบวก 6 เดือนต่อเนื่อง ขยายตัวดีในตลาดจีน ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ยางพารา 23.5% เป็นบวก 14 เดือนต่อเนื่อง

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวม ขยายตัว 21.2% สินค้าสำคัญ เช่น น้ำตาลทราย ขยายตัว 74% ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 34.5% บวกเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และอาหารสัตว์เลี้ยง บวก 25.9% ต่อเนื่อง 27 เดือน

สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 23.1% ต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกันโดยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมเหลว ขยายตัว 72.9% เป็นบวก 10 เดือนต่อเนื่อง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 51.9% อัญมณีและเครื่องประดับ 24.9% แผงวงจรไฟฟ้า 26.7% และคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 19.9% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 12%

ทั้งนี้ หากแยกเฉพาะตลาดส่งออก พบว่าขยายตัวสูง 10 อันดับแรกประกอบด้วย

เอเชียใต้ ขยายตัวสูงสุด 66% อาเซียน 55.1% ตะวันออกกลาง 40.7% เกาหลีใต้ 30.6% สภาพยุโรป 30.2% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CSI 27.3% จีน 24.3% ไต้หวัน 24.2% สหรัฐ 20.5% และทวีปแอฟริกา 18.4%

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือนพฤศจิกายนดีขึ้นถึง 24.7% จาก 1) การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในทุกรูปแบบร่วมกับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์)

2)การบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่องในหลายประเทศ 3) การขยายตัวของภาคการผลิตทั่วโลก ดัชนี PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการผลิตโลก เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ส่งผลให้ขายดีขึ้น

4) ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ จะช่วยให้เราเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ในตลาดโลก และ 5)การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งสินค้าเกษตร น้ำมันดิบ โลหะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออก ทำให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น

พร้อมกันนี้ รองนายกมอบนโยบาย 3 นโยบายหลักให้กับทูตพาณิชย์ทั่วโลก คือ 1) ขอให้พัฒนาช่องทางออนไลน์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการส่งออก 2) ผลักดันสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง เช่น สินค้าดิจิทัล สินค้า BCG และ 3) ขอให้พัฒนาสร้างผู้ประกอบการส่งออกที่มีศักยภาพให้มากขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากล่าวว่า สนค.ประเมินว่าแนวโน้มมูลค่าการส่งออกปีหน้าจะไม่ต่ำกว่าปีนี้ ซึ่งทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 15-16% สูงสุดในรอบ 12 ปี โดยมูลค่าการส่งออกปีนี้คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 268,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8 ล้านล้านบาท นับจากปี 2553 หรือเท่ากับเฉลี่ย 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ