ชงบอร์ด กนอ.ตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ร่วมทุนเอกชนปักหมุดธุรกิจไฟฟ้าโซลาร์

นิคม

ผู้ว่าการ กนอ.เผยอนุกรรมการการเงินงบประมาณฯ ไฟเขียวตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมทุนเอกชน จ่อชงเข้าบอร์ด กนอ.ต้นปี’65 ลุยธุรกิจไฟฟ้าโซลาร์รูฟเจาะลูกค้า 5 พันโรงงานใน 15 นิคม กนอ.มั่นใจสร้างรายได้ ปั้นธุรกิจวิศวกรรมพลังงาน รับเทรนด์ลดคาร์บอน BCG

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน งบประมาณ และการลงทุน พิจารณาเห็นชอบแผนการศึกษาการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี ซึ่งเป็นบริษัทลูก กนอ.ถือหุ้น 100% และแผนการร่วมทุนกับธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ

ซึ่ง กนอ.เสนอให้มีการเดินหน้าคู่ขนานกันไป หลังจากนี้ จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) พิจารณา โดยคาดว่าแผนการร่วมทุนของ กนอ.จะเห็นเป็นรูปธรรมและเห็นแผนความชัดเจนของการร่วมทุนในต้นปี 2565 แน่นอน

“เมื่อบอร์ด กนอ.เห็นชอบก็จะเสนอเรื่องต่อสภาพัฒน์ เพื่อขออนุมัติงบลงทุนกรณีแผนการร่วมทุน ส่วนการตั้งบริษัทลูก หลังบอร์ดอนุมัติจะเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยจะคัดเลือกกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและอยู่ในความต้องการของตลาด เช่น วิศวกรรมด้านพลังงาน ธุรกิจไหนน่าสนใจก็จะขออนุมัติงบประมาณจาก กนอ.เพื่อออกไปร่วมทุนกับบริษัทธุรกิจนั้น โดยคาดว่าในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมเกิดการร่วมทุน การทำธุรกิจหารายได้มากขึ้น”

สำหรับกระบวนการตั้งบริษัทนั้น กนอ.จะดำเนินการตามขั้นตอน โดยจะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาถึงแผนการจัดตั้ง โอกาสการลงทุนและการหารายได้ซึ่งทำการศึกษาโดยละเอียดเพื่อที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป กนอ.เองก็จะต้องนำแผนเสนอเข้าสู่บอร์ด กนอ.พิจารณาก่อนที่จะเสนอ ครม.

“การตั้งบริษัทลูกโดยกฎหมายสามารถดำเนินการได้ ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับ ขั้นตอน โดยต้องยอมรับว่ามีระยะเวลา แต่ด้วยความตั้งใจต้องการให้เริ่มเห็นแผนนี้สามารถนำแผนเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 แต่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ต้องพิจารณา มีการตั้งคำถามถึงแผนต่าง ๆ เช่น รายได้จะหาอย่างไร คนที่จะเข้ามาทำงาน ที่ตั้งอยู่ตรงไหน ซึ่งแผนต่าง ๆ เหล่านี้ กนอ.มีแผนชัดเจนไว้รองรับแล้ว แต่ขั้นตอนก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาน่าจะเห็นการดำเนินการจริงอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565”

ส่วนแผนการลงทุนเบื้องต้นคาดว่าจะร่วมลงทุนในบริษัทวิศวกรรมพลังงาน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ กระบวนการผลิต ติดแผงโซลาร์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ

โดย กนอ.จะร่วมลงทุนถือหุ้นไม่เกิน 25% และมุ่งเป้าหมายเจาะกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ซึ่งมีอยู่ 15 นิคม ประมาณ 5,000 โรงงาน เช่น นิคมบางปู บางพลี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ที่มีโรงงานซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นหลัก ส่วนบริษัทขนาดใหญ่นั้นมีระบบการจัดการครบถ้วนแล้ว จึงเน้นที่เอสเอ็มอีที่ยังมีความต้องการด้านนี้เป็นจำนวนมาก

น่าจะสนใจผู้ที่จะเข้ามาจัดการดูแลและให้คำปรึกษา พร้อมกันนี้จะหาสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย

“ธุรกิจวิศวกรรมพลังงานที่ กนอ.พิจารณาไว้ตอนนี้มีประมาณ 3-4 บริษัท ดูจากขนาดความสนใจร่วมทุนด้วย ซึ่งเป็นบริษัทในไทยโดย กนอ.ก็ประสานหารือกับบริษัทที่น่าสนใจก่อนที่ กนอ.จะประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อเปิดการร่วมทุน”

“ซึ่งเหตุที่ กนอ.สนใจที่จะไปร่วมลงทุนในกลุ่มวิศวกรรมพลังงานเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากตามนโยบาย กนอ.ที่ต้องการดำเนินการตามนโยบายเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน นโยบาย BCG ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศด้วย อย่างไรก็ตามยังมองหาโอกาสลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นตามเทรนด์โลกด้วย”