พลังงานสะอาด โจทย์ปี 2565 “บิ๊กธุรกิจ” ปักหมุดลดคาร์บอน

พลังงานแสงอาทิตย์
PIXABAY/torstensimon

เทรนด์พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น หลังจากการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมพร้อมประกาศจุดยืนให้ไทยร่วมก้าวสู่เป้าหมายnet zero ลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065-2070

ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้รัฐ-เอกชนต้องเร่งปรับนโยบาย มุ่งสู่ “พลังงานสะอาด”ซึ่งไม่เพียงแค่รักษาอุณหภูมิโลก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ยังต้องทำให้สอดรับกับกฎระเบียบการค้าโลกที่แต่ละประเทศได้เริ่มกำหนดกฎกติกาเงื่อนไขเรื่องนี้อย่างเข้มข้นขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” ประมวลภาพแนวทางการปรับแผนดำเนินงานสู่ยุคพลังงานสะอาด

แผนพลังงานแห่งชาติ

ปี 2564 กระทรวงพลังงานลุยนโยบาย “พลังงานสะอาด” โดยเริ่มยกร่าง “แผนพลังงานชาติ” เพื่อกำหนดทิศทางสนับสนุนประเทศไทยสู่ยุคพลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ สร้างแรงดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดใน 1-10 ปีข้างหน้า

หัวใจหลักมุ่งสู่พลังงานสะอาด ไม่เพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทยอยลดการใช้ฟอสซิลลง

สำหรับแผนนี้ ประกอบด้วย 5 แผนพลังงาน ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) 2.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือgas plan 3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 4.แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง

ระหว่างนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นประกอบการร่างแผนพลังงานแห่งชาติให้สมบูรณ์ เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (neutral-carbon economy) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สุพัฒนพงษ์ชู C4C

โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งธงว่า ในปี 2565 กระทรวงพลังงานจะดำเนินงานภายใต้มิติ “Collaboration for Change : C4C ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด จะร่วมจับมือพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

มุ่งเน้นการปรับบทบาทองค์กรเพื่อก้าวสู่ยุค energy transition โดยขณะนี้ได้หารือกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือกระทรวงเศรษฐกิจ (เมติ) ญี่ปุ่น ที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน

“ในการประชุม COP26 ผู้นำทั่วโลกมุ่งควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2050 ทั้งยังออกกฎกติกาต่าง ๆ มาบังคับใช้กับคู่ค้ามากขึ้นโดยปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 350 ล้านตันต่อปี

ซึ่งภาคพลังงานปล่อยสูงสุด 250 ตันต่อปีหากจะลดลงให้เป็นศูนย์จะต้องซื้อคาร์บอนเครดิต ประการสำคัญคือ การค้าจากนี้ไทยจะเจอภาษีคาร์บอน (carbon tax) เมื่อคิดเป็นต้นทุนประเทศที่จะเพิ่มขึ้น 6-7 แสนล้านบาทต่อปี หากไม่มีการดำเนินการอะไร”

บิ๊กน้ำมันเริ่มปรับสัดส่วนลงทุน

ขณะที่ภาคเอกชนต่างตื่นตัวต่อเรื่องนี้อย่างมาก “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศจุดยืนอนาคตมุ่งไปสู่พลังงานสีเขียวและไฟฟ้ามากขึ้น

ปตท.พร้อมลงทุนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนพลังงานทดแทนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ โดยวางกลยุทธ์ 2 ส่วน 1.พลังงานอนาคต (future energy)

อาทิ การมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและ 2.พลังงานไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ “go green” และ “go electric” มากขึ้น

พร้อมวางกลยุทธ์ PTT Group Clean and Green Strategy เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลง 15% จากปริมาณการปล่อยคาร์บอนปี 2020 และกำลังทบทวนเป้าหมายการมุ่งสู่ net zero ของกลุ่มให้เร็วขึ้น

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มบางจากตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050

โดยกำหนดแผนดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอาทิ โรงกลั่น สถานีชาร์จ EV เพื่อสร้างecosystem และใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะลดการปล่อย emission ได้ 20% ในปี 2024 และไปได้ถึง 30% ในปี 2030 ขณะที่อีก 70% ต้องมีกลไกอื่นมาช่วย เช่น ลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียว และสร้างเครือข่ายในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

“ใน 5 ปีจากนี้บางจากฯจะเพิ่มสัดส่วนรายได้พลังงานสะอาดจาก 40% เป็น 50%และลดฟอสซิลจาก 60% เหลือ 50%”

นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ระบุว่า เชลล์ส่งเสริมพลังงานสะอาดรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเชลล์ประเทศไทยได้รับเลือกให้เปิดตัวสถานีต้นแบบ site of the future

เป็นประเทศแรก เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานอนาคตอื่น ๆ และเป็นสถานีบริการแห่งแรกของเชลล์ที่ให้บริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Shell Recharge ในสถานีบริการ

ธุรกิจไฟฟ้าขานรับเทรนด์

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.จะมุ่งสู่เป้าหมาย carbon neutrality ในปี 2050 โดยมีมาตรการหลักในด้าน sources คือการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน โดยเฉพาะ hydro-floating solar hybrid มีเป้าหมาย 5,325 เมกะวัตต์ในปี 2037 พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยี EV ทุกรูปแบบ

เช่นเดียวกับ นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ระบุว่าบี.กริมฯมองเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างแน่นอน

โดยเตรียมจัดทำแผนลงทุน 10 ปี เน้นธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เป็นพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่ธุรกิจต่อเนื่องรองรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานโซลาร์รูฟท็อปทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 และตั้งเป้าหมายระยะกลางในปี 2030

โดยมุ่งลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% จากระดับปี 2020 และกำหนดกลยุทธ์ Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth

ธุรกิจปรับลดการลงทุนถ่านหิน

จะเห็นว่าแผนธุรกิจของบริษัทพลังงานรายใหญ่ในธุรกิจถ่านหินเริ่มปรับลดการใช้ฟอสซิล นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 2565 จะเห็นการทำงานตามเป้าหมายด้านการให้บริการพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น

รวมถึงลดการใช้พลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ มุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียน พร้อมตั้งเป้าหมายการมี EBITDA จากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานในสัดส่วนกว่า 50% ในปี 2568 และตั้งเป้าไม่มีการลงทุนในถ่านหินแล้ว

เช่นเดียวกับ นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดแผนงานปี 2564-2568 จะปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าสัดส่วน 80% และอีก 20% เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยธุรกิจไฟฟ้าจะเน้นเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 25% หรือ 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 และเพิ่มให้ได้ 40% ในปี 2573 จากปัจจุบัน 16% โดยเป็นก๊าซ 5,500 เมกะวัตต์ และถ่านหินไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหยุดการลงทุนเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อมุ่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น