คุมไม่อยู่ ราคาหมูทะลุเพดาน

ห้างค้าปลีกหมดทางยื้อ ขยับราคาหมูเนื้อแดงขึ้น 10 บาท ขาย กก.ละ 160 บาท “สามชั้น” แพงสุดทะลุ 232 บาท หลังโรคระบาดทุบฟาร์มรายย่อยเดี้ยง ซ้ำต้นทุนอาหารพุ่ง ด้านนักวิชาการอิสระแนะ 3 ทางออกแก้ปัญหาราคาหมู

วันที่ 3 มกราคม 2565 รายงานข่าวระบุว่า หลังจากกรมการค้าภายในขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ยืดเวลาตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง 150 บาท/กก. ต่อไปอีก 15 วัน จาก 1 ถึง 15 ม.ค. 2565 พร้อมเร่งช่วยเหลือประชาชนโดยการจัดพื้นที่จำหน่ายหมูธงฟ้า 150 บาท/กก. 600 จุดทั่วประเทศ แก้ปัญหาราคาหมูปรับสูงขึ้น

ก่อนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหาทางเพิ่มปริมาณหมูในตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาภาวะ ‘ช็อตซัพพลาย’ จากที่ปัญหาโรคระบาดในสุกรส่งผลให้ปริมาณหมูลดลง 3 ล้านตัวก่อนหน้านี้ เกษตรกรรายย่อย หยุดเลี้ยง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจการจำหน่ายเนื้อหมูในห้างโมเดิร์นเทรดหลายสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี พบว่าได้ปรับราคาจำหน่ายตั้งแต่ 160-232 บาท สูงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้จำหน่าย กก.ละ 150 บาทไปแล้ว

ซึ่งแม้ว่าห้างค้าปลีกมีการจำหน่ายในราคาที่แตกต่างกันในแต่ละชิ้นส่วนของหมูแต่ยังอยู่ระดับสูง อาทิ เนื้อหัวไหล่ เนื้อสะโพกจำหน่ายในราคา กก.160 บาท (ขณะที่ราคาตลาดสดปรับสูงไปถึง กก.180 บาท)

ราคาซี่โครงหมูแผ่น กก.ละ 167-187 บาท ราคาเนื้อหมูสไลด์และเนื้อหมูบด กก. ละ 185 บาท ส่วนหมูสามชั้นเป็นชิ้นส่วนที่ได้รับความนิยม มีราคาจำหน่ายสูงสุด กก.ละ 232 บาท เนื้อหมูสามชั้นสไลด์ กก.ละ 222 บาท ขณะที่ตลาดสดจำหน่ายต่ำกว่าอยู่ที่ กก.ละ 200 บาท

ขณะที่ราคาสินค้าโปรตีนชนิดอื่น เช่น ไก่ ปรับขึ้นราคาตาม โดยไก่สันใน ราคา กก.79 บาท เนื้ออกไก่ติดหนัง กก.ละ 74 บาท ราคาเนื้อเศษไก่ ราคา ก.ก.ละ 66 บาท ราคาน่องไก่ กก.64-65 บาท

นายรัฐพล ศรีเจริญ นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์ เปิดเผยว่า 3 ปีที่ผ่าน เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรครอบด้าน โดยเฉพาะภาวะขาดทุนสะสมที่ต้องแบกรับ จากความผันผวนของราคาสุกร ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคสุกรในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้ปริมาณสุกรล้นตลาด ราคาจึงตกต่ำอย่างหนัก

ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงกลับพุ่งขึ้น จากการเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง และยังต้องเสี่ยงกับภาวะโรคสุกร โดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำเมื่อครั้งน้ำท่วมหนักก่อนหน้านี้

“ปัญหารอบด้าน ประกอบกับราคาที่ไม่จูงใจ เกษตรกรรายที่ไปต่อไม่ไหวเพราะไม่มีทุนรอนก็จำต้องเลิกอาชีพไป ปัจจุบันมีเกษตรกรเหลือในระบบเพียง 8 หมื่นราย จากที่เคยมีอยู่มากถึง 2 แสนรายทั่วประเทศ ปริมาณแม่สุกรพันธุ์จาก 1.1 ล้านตัว ลดลงเหลือ 6.6 แสนตัว หรือหายไปกว่า 40% กระทบต่อปริมาณสุกรขุนเหลือเพียง 15 ล้านตัวต่อปี จากที่เคยมีถึง 19-20 ล้านตัวต่อปี หรือหายไป 30%”

ทั้งนี้ เสนอว่าทางออกของปัญหานี้ ทำได้ด้วยการเร่งเพิ่มซัพพลายเข้าไปในระบบให้มากขึ้น แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน กล่าวคือ

1.รัฐบาลควรผลักดันสถาบันการเงินของรัฐ เร่งปล่อยเงินกู้ และสนับสนุนเกษตรกรที่ประสบปัญหาต้องปล่อยเล้าว่างเพื่อรอดูสถานการณ์ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมทั้งช่วยขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้นานขึ้น มีระยะปลอดชำระในช่วงต้น เพื่อให้ฟื้นฟูธุรกิจได้โดยเร็ว  ถือเป็นการดึงเกษตรกรผู้เลี้ยงที่มีการลงทุนโรงเรือน อุปกรณ์ และระบบการเลี้ยงอยู่แล้ว ให้กลับเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้อีกครั้ง

เพราะการจะให้เกษตรกรรายใหม่ เริ่มต้นเลี้ยงด้วยการลงทุนตั้งแต่เริ่มสร้างฟาร์มนั้น เป็นไปได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และประชาคมหมู่บ้านรอบข้างเพื่อพิจารณาการก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์แห่งใหม่

ดังนั้น การผลักดันให้ผู้เลี้ยงตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง จึงเป็นหนทางแก้ที่เร็วที่สุด เพื่อดันให้ซัพพลายสุกรเพิ่มขึ้น ส่วนในกลุ่มเกษตรกรที่ยังพอมีแรงสู้ต่อ ก็ควรได้รับความช่วยเหลือ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ และยืดระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ทำให้สามารถลงทุนเลี้ยงสุกรได้อย่างเต็มศักยภาพ

2.รัฐควรสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เลี้ยง ด้วยการจารณาสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับภาคผู้เลี้ยง เพราะวันนี้เกษตรกรไม่กล้ากลับมาเลี้ยงสุกร เนื่องจากไม่เห็นอนาคตในอาชีพ รวมทั้งขาดการสนับสนุนและการดูแลจากภาครัฐ การพิจารณาสิทธิประโยชน์แก่เกษตรกร

เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนแก่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย อาทิ การยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงตัดสินใจเร่งลงทุน ทำให้มีปริมาณสุกรกลับสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการสนับสนุนอาชีพและช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารโปรตีนให้กับคนไทย

3.ผู้บริโภคถือเป็นกลไกหลักที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ หากเห็นว่าราคาสูงก็หันไปบริโภคโปรตีนอื่น ๆ ทดแทน เช่น ปลา ไข่ไก่ หรือเนื้อไก่ เพราะผู้บริโภคยังคงมีทางเลือกมากมาย แต่เกษตรกรมีอาชีพเดียวคือการเลี้ยงสุกรที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

“หลังจากนี้เมื่อมีมาตรการของภาครัฐออกมาช่วยเหลือ ทั้งเรื่องสินเชื่อเพื่อเกษตรกร การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับภาคผู้เลี้ยง รวมทั้งปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี เนื้อสุกรซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Goods) ที่ราคามีขึ้นมีลงตามกลไกตลาด ด้วยหลักดีมานด์และซัพพลาย เมื่อปริมาณมากขึ้นเพียงพอกับการบริโภค ราคาก็จะกลับสู่สมดุลได้เอง  โดยไม่ต้องมีใครเข้ามาควบคุมเรื่องนี้ เมื่อเกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ ผู้บริโภคก็มีความมั่นคงทางอาหารเช่นกัน”