นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกฯหมูราชบุรีแจงทำไมหมูแพง? ผู้บริโภคเจ็บ คนเลี้ยงเจ๊ง

หลายคนบ่นว่า “ทำไมหมูราคาแพง?” กว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม และกล่าวโทษไปยัง “คนเลี้ยงหมู” ว่าฉวยโอกาสช่วงเทศกาลต้อนรับปีใหม่ปรับราคาขึ้นหรือไม่ โดยที่หลายคนไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ”นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม” หรือ“เฮียมิตร” อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ซึ่งอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีถูกกล่าวขานว่าเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร เพราะมีปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์สุกรเฉียด 3 แสนตัว ได้มาบอกเล่าถึงภาพรวมสถานการณ์การเลี้ยงหมูทั้งระบบในประเทศไทยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้ราคาหมูทะยานขึ้นต่อเนื่อง

หมูแพง: ปศุสัตว์แจง เพราะต้นทุนค่าอาหารสัตว์ ยารักษาสูง ควบโรคระบาด
กรมการค้าภายในถกสมาคมผู้เลี้ยงฯ ไล่บี้แก้ปัญหาราคาหมูแพง

สาเหตุที่ราคาหมูสูงกว่า 200 บาท/กก.

ข่าวหมูแพงออกมา 3-4 วันแล้ว เราไม่อยากบอกว่าหมูจะขึ้นไปสูงสุดเท่าไหร่ ผมถึงบอกว่าถ้าเรารีบบริหารจัดการแก้ปัญหา เพราะผู้บริโภคเดือดร้อน เราไม่เคยเจอ เมื่อผู้บริโภคเดือดร้อนราคาหมูแพง คนเลี้ยงต้องมีเงินขี่เครื่องบิน แต่วันนี้ผู้บริโภคเดือดร้อน คนเลี้ยงหมูก็เดือดร้อนด้วย มันไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ผู้เลี้ยงเจ็บน้อยที่สุด

ต้องมาดูภาพรวมคนเลี้ยงหมูทั้งประเทศไทยก่อน ที่ผ่านมาคนเลี้ยงหมูเผชิญกับโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ซึ่งเป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรงในหมู หมูได้รับความเสียหายไปจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่ไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษา 

เนื่องจากหมูตายเกือบหมดประเทศไทยแล้ว ผมเลี้ยงหมูมา 30 กว่าปีถือว่าหนักสุด โรคระบาดส่งผลให้หมูแม่พันธุ์ทั้งประเทศไทยที่มีประมาณ 1.1 ล้านตัว ปกติผลิตลูกหมูหรือเรียกว่า“หมูขุน”ได้ 21-22 ล้านตัว ปัจจุบันโรคระบาดสร้างความเสียหายกว่า 50% เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ  550,000 ตัว ผลิตหมูขุนได้ประมาณ 12-13 ล้านตัวต่อปี 

บางคนบอกหมูเสียหายไป 70%

อาจจะเสียหายมากกว่านี้ อาจจะเสียหายไปถึง 80% แล้วก็ได้เราไม่ทราบตัวเลขแน่ชัด ในหลักการทฤษฎีภาครัฐพูดกันในที่ประชุมหลายเดือนก่อนว่าหมูเสียหาย 40% แต่อย่าลืมโรคระบาดยังไม่ได้หยุด เพราะมันไม่มียา ไม่มีวัคซีนรักษา ลงเลี้ยงใหม่ก็ไม่รอด

ภาพรวมมีแต่เท่ากับ หรือลดลง ไม่มีเพิ่มขึ้น คนเลี้ยงขาดทุน เจ๊ง บางคนเสียหาย 100% หมดทั้งฟาร์มก็มี โดยที่ภาครัฐไม่ได้เข้ามาเหลียวแล หมูเป็นโรคผู้เลี้ยงลงทุนฝังกลบกันเอง ผู้เลี้ยงยังไม่ได้รับเงินจ่ายชดเชย 75% จากภาครัฐ

คนเลี้ยงถัวเฉลี่ยราคา

ยกตัวอย่าง ผมเคยเลี้ยงหมูขุนอยู่ 1,000 ตัว ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเสียหายไป 500 ตัว เหลืออยู่ 500 ตัว สมมุติต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 80 บาทต่อกก. ขายหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มได้ราคาตัวละ 8,000 บาท แต่ถ้าหมูขุนอยู่ครบ 1,000 ตัวจะขายได้เงิน 8 ล้านบาท แต่วันนี้เหลือหมูขุน 500 ตัวได้เงินเพียง 4 ล้านบาทขาดทุนเจ๊งไป ถ้าขายที่ต้นทุน 160 บาทต่อกก. คนเลี้ยงยังได้เท่าทุน ความเสียหายเรียกกลับคืนมาไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง ทำให้วันนี้ราคาหมูเป็นมีชีวิตหน้าฟาร์มจาก 80 บาทขึ้นเป็น 90-100 บาท ราคาหมูชำแหละแล้วจะคูณ 2 และมีแนวโน้มปรับราคาขึ้นไปอีก เพราะความเสียหายยังคงอยู่ 

วันนี้คนได้ประโยชน์คือ ภาคบริษัทใหญ่ ซึ่งมีหมูมากที่สุด ดังนั้นบริษัทใหญ่ต้องมีอะไรมาสนับสนุนผู้เลี้ยงรายกลาง รายย่อยด้วย การที่บริษัทผู้เลี้ยงรายใหญ่บอกบาดเจ็บเสียหายเหมือนกัน แต่บริษัทใหญ่เจ็บระดับ 10 บาทแต่ได้หยิบเงินล้าน แต่หมูที่ขึ้นราคาวันนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยหมูตายไปหมดแล้ว วันนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยแต่ละรายเสียหายเกิน 50-60% บางรายเสียหาย 100% แต่บริษัทใหญ่เสียหายไม่เกิน 30% ผลกระทบต่างกัน หมูของรายใหญ่ที่เหลือ 70% มีหมูขายราคา 100 บาทต่อตัว 

กรมปศุสัตว์ยันไทยไม่มี ASF

วันนี้ผู้เลี้ยงทุกคน และทั่วโลกรู้ว่าไทยมีโรค ASF แต่กรมปศุสัตว์ประกาศเป็นโรคเพิร์ส(PRRS) ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ลักษณะวิการของโรคคล้ายกัน แต่โรคเพิร์สมีวัคซีนป้องกัน แถมวันนี้มีการนำเข้าวัคซีนจากจีน และเวียดนามที่ใช้ไม่ได้ผลมาหลอกขายให้ผู้เลี้ยง ซึ่งไม่ได้ผลและทำให้หมูตายจำนวนมากขึ้น  

วันนี้กรมปศุสัตว์จะยอมรับว่ามีโรค ASF หรือไม่ ตอนนี้เหตุการณ์มันล่วงเลยมาจนความสูญเสียขนาดนี้ มันเลยมาที่จะไปแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดแล้ว ภาครัฐต้องมาดูว่าพรุ่งนี้จะช่วยคนเลี้ยงอย่างไร

สมาคมฯเสนอนำเข้าหมูจากต่างประเทศมาทดแทน

ยังไม่ได้เสนอ เพียงแต่เรามีแนวคิดว่า เพื่อให้ราคาหมูอยู่ในภาวะสมดุลไม่ขึ้นสูงมากนัก แต่ขณะเดียวกันไม่ใช่นำหมูจากต่างประเทศเข้ามาจนส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงในอนาคต แต่ยังบอกปริมาณที่นำเข้าไม่ได้ จึงอยากให้กรมปศุสัตว์นำงบประมาณไปทำการสำรวจทำฐานข้อมูลจำนวนประชากรหมูในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยโดยใช้อีสมาร์ท(e-Smart)ก่อนว่า มีจำนวนหมูเหลืออยู่เท่าไหร่ หายไปกี่ตัว เพราะกรมปศุสัตว์มีรายชื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทุกรายในประเทศไทยอยู่แล้ว เมื่อได้ข้อมูลเสร็จแล้วนำจำนวนหมูที่มีมาเทียบกับความต้องการบริโภคหมูภายในประเทศ ซึ่งกำลังการบริโภคดูได้จากจำนวนหมูที่เข้าโรงเชือด เช่น หากมีความต้องการบริโภค 10 ตัว มีหมูอยู่ 6 ตัวขาดอีก 4 ตัวนำเข้าจากต่างประเทศมาทดแทน

การบริโภคหมูต่อคนต่อปีของไทยตอนนี้เท่าไหร่

ตอนเศรษฐกิจดี ยังไม่เกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีความต้องการบริโภคหมูภายในประมาณ 22 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เราเคยผลิตหมูขุนได้ 21-22 ล้านตัวต่อปี วันนี้เศรษฐกิจไม่ดี มีโรคระบาดโควิดคนไม่เข้ามาท่องเที่ยวการบริโภคอาจจะเหลือแค่ 15 ล้านตัวต่อปี ถ้าเฉลี่ยเป็นรายเดือนเท่ากับ 1.25 ล้านตัว สมมุติต้องไปเอาหมูมา 50,000 ตัวต่อเดือน ประเมินถ้า 50,000 ตัวไม่พอก็ค่อยนำเข้ามาอีก เป็นเพียงแนวคิด ทั้งหมดขึ้นกับภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ 

คำว่าราคาสมดุลเฉลี่ยประมาณเท่าไหร่เพียงพอกับต้นทุนคนเลี้ยง

ผมไม่อยากให้หมูเป็นมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้นราคาเกิน 90 บาท/กก. ผมอยากขายอยู่ 65-75 บาท/กก. หมูชิ้นส่วนไม่เกิน 160 บาทนั่นคือเป้าหมาย เรามีกำไรส่วนต่างที่พอเหมาะ ถ้าไม่เกิดโรคต้นทุนเราไม่สูง แต่วันนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ขึ้นสูง และรัฐบาลไปประกันราคาข้าวโพด 8 บาท/กก. ไม่ให้นำเข้าข้าวสาลี สุดท้ายราคาข้าวโพดขึ้นไป 12 บาท/กก. ข้าวขึ้นไป 11-12 บาท/กก. มันสำปะหลัง ราคาขึ้นตามหมด ต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นอีก 30-40% หมูกินอาหารสัตว์แพง ยา การดูแลเรื่องโรคก็ไม่ดูแลเลย คิดว่าคนเลี้ยงหมูรวยน่าดู สุดท้ายพอหมูตายขึ้นมา คนที่กระทบนอกจากผู้บริโภค ธนาคารที่ปล่อยกู้ก็หนัก เพราะคนเลี้ยงหมูและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ไปหมดแล้ว  

ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าหมูอยู่แล้ว

มีการนำเข้าตับไตไส้พุง เครื่องใน หัวขา โดยแจ้งว่านำทำเป็นอาหารสัตว์ แต่จริงๆ นำเข้ามาเป็นอาหารคน และยังมีอีกมากที่สำแดงเป็นอย่างอื่น วันนี้เราต้องมาคุยกัน และต้องเริ่มหาความชัดเจนโดยการสำรวจปริมาณหมูที่เสียหายก่อน 


มีการเสนอแนวคิดให้เก็บค่าธรรมเนียม(Surcharge)จากหมูนำเข้า

ผมเป็นคนเสนอกับกรมปศุสัตว์ว่าวันนี้รัฐบาลไม่มีงบประมาณมาช่วยคนเลี้ยงหมูรายย่อย แล้วเราไม่อยากนำเข้าหมูจากต่างประเทศ แต่เผอิญวันนี้เราเจอปัญหาเรื่องโรคระบาด เราจะไปเห็นกับผลประโยชน์ส่วนตัวคงไม่ได้ ถ้าหมูเราขาด คงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเสนอขอเป็นผู้จัดสรรโควตาในการนำเข้ามา โดยต้องมีข้อมูลรองรับว่า การนำเข้ามาต้องมีนัยว่าจะนำชิ้นส่วนไหนเข้ามา และนำเข้ามาเท่าไหร่เพื่อให้เกิดการสมดุล การนำเข้ามามาก ล้นตลาดราคาหมูจะลง คนเลี้ยงหมูจะได้รับผลกระทบ 

เพราะฉะนั้นการนำเข้าจะต้องมีรับรู้ปริมาณหมูที่เหลืออยู่ในประเทศ และความต้องการที่จะนำเข้ามา เช่น การนำเข้าหมูอาจจะเป็นลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล(G TO G)ดำเนินการจัดโควตามา ทุกคนที่นำเข้าต้องลงนามผ่านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติว่าต้องการนำเข้ากี่ตัน และราคาซื้อจากต่างประเทศ สมมุติ ซื้อมาจากต่างประเทศ 10 บาท อาจบวกค่าเซอร์ชาร์จไป 2 บาท 

วัตถุประสงค์หลักของการเก็บค่าเซอร์ชาร์จคือ เราจะนำเงินก้อนนี้ไปเป็นเงินกองกลางของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board)แล้วให้ตั้งคณะกรรมการโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีการตั้งตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายในเข้ามา โดยสมาคมจะไม่ใช่เงินสักบาทเดียว แต่จะเอาเงินก้อนนี้ไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหา แล้วแจ้งกับภาครัฐไว้ แต่ภาครัฐยังไม่มีเงินชดเชยให้เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้เลย วันนี้ยังค้างอยู่อีกหลายพันล้านบาท 

สำคัญการนำเข้าหมูจะทำให้ราคามีเสถียรภาพ หาจุดที่มีเสถียรภาพและยืนให้อยู่ ให้คนเลี้ยงอยู่ได้ ให้มีการนำเข้าได้มีเงินมาสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงรายย่อย และพัฒนายาและวัคซีนให้สามารถกลับมาเลี้ยงใหม่ได้ นี่คือการทำงานอย่างมีระบบ ถ้าทำอย่างนี้ได้ตั้งแต่ปีที่แล้วจะไม่เกิดเหตุการณ์เสียหายหนักอย่างนี้ขึ้นมา แต่ทางราชการไม่มีการดำเนินการอะไรเลย

ที่ผ่านมาภาคเอกชนเคยระดมเงิน 100-200 ล้านบาทไปช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือ ภาคอีสาน แต่วันนี้เราจะช่วยอีกเราก็ช่วยไม่ไหว เพราะตัวเราก็แย่ เพราะฉะนั้นการนำเข้าหมูจากต่างประเทศมันถูกกว่า ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเก็บค่าเซอร์ชาร์จได้ 100-500 ล้านบาทเอาไปจ่ายช่วยเกษตรกรรายย่อย 

ทำไมคนกินต้องแบกรับเซอร์ชาร์จกินหมูแพงด้วย

สิ่งที่เราขอเซอร์ชาร์จ ปกติการนำเข้าหมูต้องเสียภาษีนำเข้าไปที่กองคลังอยู่แล้ว การที่เราขอเก็บเงินมาเอง เพราะที่ผ่านมางบประมาณกว่าจะขอเบิกออกมาได้ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย กว่าครม.จะอนุมัติออกมาให้ แต่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเปรียบเสมือนเป็นนักธุรกิจแต่เป็นนักธุรกิจใจบุญที่เอาเงินมา แต่ไม่แตะเงินแต่เอาเงินไปให้เกษตรกร ที่ผ่านมารัฐบาลติดหนี้ยังไม่จ่ายชดเชยให้ 75% ตอนนี้รัฐบาลบอกงบประมาณที่มีไปจ่ายกับโรคโควิด-19 หมดไม่จ่ายให้ผู้เลี้ยงหมู แล้วการนำผลกำไรจากการนำเข้าหมูมาให้คนเลี้ยงหมูผิดตรงไหน คนเลี้ยงหมูเสียหายไปไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทถ้ารวมรายใหญ่เกิน 50,000 ล้านบาท 

ที่ปกปิดเรื่องโรค ASF ที่ผ่านมาเพื่อปกป้องผู้ส่งออกไม่กี่คน

ตอนปี 2563 ปริมาณหมูภายในประเทศไทยยังล้นส่งออกวันละ 4,000-5,000 ตัว ถ้าไม่ส่งออกหมูเป็นมีชีวิตหน้าฟาร์มวันนั้นราคาจะวิ่งลงเหลือ 30 บาทต่อกก. เราต้องป้องกันธุรกิจเรา เมื่อต่างประเทศขาดเราต้องส่งออก แต่วันนี้ไม่มีการส่งออก แต่ราคาขึ้น เพราะหมูไม่มี วันนี้ซัพพลายน้อยกว่าดีมานต์ไม่มีการส่งออกแล้ว และราคาหมูขายในประเทศราคาดีกว่า

ช่วงแรกที่เกิดการระบาดเราคิดว่าจะทำให้เกษตรกรไทยอยู่ได้ เอกชนจึงช่วยกันระดมเงินลงขันกันได้ 200 กว่าล้านบาทเก็บจากผู้เลี้ยงหมูขุนตัวละ 10 บาท แม่หมูตัวละ 30 บาทเอาไปช่วยภาคเหนือ ภาคอีสาน ไม่ใช่เงินงบประมาณเลย เราหวังว่าจะปกป้องโดยหมูฟาร์มไหนมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคก็ซื้อทำลาย วันนั้นเราหวังว่าจะหยุดการระบาดของโรคไม่ให้กระจายเข้ามาประเทศไทยจะปลอด ASF แต่ทำไปเงินก็เสีย สุดท้ายมาถึงวันนี้การประกาศโรคมันสายเกินไปแล้ว 

แต่วันนี้ถามว่าเกิดอะไรขึ้นทำให้โรคมันลุกลามกระจายไปทั่วประเทศทำให้เกิดปัญหา เราไม่อยากโทษใคร “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติก็พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหา วันนี้อยากให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ กรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยง บริษัทใหญ่มานั่งคุยกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร แต่สุดท้ายมาถึงวันนี้จนได้ ก็บอกถ้าไม่ทำ อะไรจะเกิดขึ้น ภาครัฐทำเพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6-7 ชุดก็รอดูกันต่อไป อนาคตหมูปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าภาครัฐไม่ทำอะไร จะเหลือแต่ผู้เลี้ยงรายใหญ่

ที่พูดกันว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเสียหาย 2 แสนล้านบาท

ใช่ ถ้ารวมความเสียหายของคนเลี้ยงหมู คนขายอุปกรณ์ คนขายเวชภัณฑ์ คนขายวัตถุดิบ คนขายอาหารสัตว์ ฯลฯ รวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะคนเลี้ยงหมู เรามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน เพราะธุรกิจหมูเวลาเสียหาย ตายหมดฟาร์ม สิ่งที่เหลือคือซาก กับที่ดิน 

ฟาร์มหมูมี 2 อย่างที่กู้มาคือ 1.ต้นทุนคงที (Fixed Cost) คือโรงเลี้ยงหมู กับที่ดิน 2.ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) 60-70% คือ ตัวหมูหายตายไปหมดแล้ว และที่ดิน และใน 100% ธนาคารตีที่ดินให้ 30% แต่ใน 100% หายไปแล้ว 60-70% จะเอาที่ไหนมาคืน เลี้ยงใหม่ก็ยังไม่ได้ โดยผู้เลี้ยงรายกลาง รายเล็กมีการเลี้ยงอยู่ฟาร์มเดียวถ้าโดนโรคระบาดตายหมดก็หมดตัว แต่บริษัทใหญ่มีกระจายการเลี้ยงทั่วประเทศ และยังมีลูกเล้าอีกหลายแห่ง

อยากฝากอะไรกับภาครัฐ

อยากให้ภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา 3 ข้อ คือ 1.การแก้ปัญหาเรื่องการทำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 2.ทำอย่างไรให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่มีอยู่ 2 แสนรายกลับเข้ามาอยู่ในอาชีพการเลี้ยงหมูได้เหมือนเดิม จนถึงวันนี้ผู้เลี้ยงรายย่อย 2 แสนกว่ารายไม่เหลือแล้ว ผู้เลี้ยงรายกลางเสียหาย 50-60% ที่ยังเหลือรอดก็เจ็บหนัก ส่วนผู้เลี้ยงรายใหญ่เสียหายกันอย่างมากเพียง 30% เพราะมีฟาร์มเลี้ยงเอง และฟาร์มลูกเล้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 

3.การฟื้นฟูเยียวยา แม้กระทั่งการแก้ปัญหาเรื่องราคาของผู้บริโภค ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคอยู่ร่วมกับผู้เลี้ยง อะไรที่ผู้เลี้ยงทำแล้วต้องสร้างความสมดุลกับผู้บริโภค ถ้าเราทำให้เกิดความสำเร็จได้ 

ขณะนี้ ผู้เลี้ยงก็เหนื่อย ผู้บริโภคก็เหนื่อย เราต้องมาหาวิธีที่ทำให้ทุกอย่างมันสมดุลกัน เราไม่อยากนำเข้าหมู แต่การนำเข้าเป็นวิธีทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการสมดุลของสินค้าได้ ทำให้ราคาอยู่ในระดับที่สามารถตอบโจทย์กับสังคมได้