กรมชลประทาน คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำรับภัยแล้ง

กรมชลประทานส่งสัญญาณภัยแล้ง คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำ ย้ำทุกฝ่ายช่วยกันประหยัด หลังลุ่มเจ้าพระยา ปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.51 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 89

วันที่ 7 มกราคม 2565 นางสาวพิมพ์กาญจน์ ศรีสมใจ วิศวกรชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 36,799 ล้าน ลบ.ม. (63%) ขนาดใหญ่ 29,606 ล้าน ลบ.ม. (62%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

ขณะที่ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง เฝ้าระวังค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 6 -10 ม.ค. 65 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและบริเวณใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.8-2.0 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดลำดับความสำคัญของโครงการ และติดตามการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้

โดยกรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการที่ 5 (วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง) ติดตามผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 3.59 ล้านไร่ คิดเป็น 56% ของแผนฯ โดยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 2.51 ล้านไร่ คิดเป็น 89% ของแผนฯ ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการตามมาตรการที่ 2 (จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ)

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (7ม.ค. 65)  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 57,209 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 33,279 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,895 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 7,199 ล้าน ลบ.ม. (40% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 3.59 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ  เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.51 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา พิจารณาเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 65 ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)