ไข่ไก่แพง เพราะอะไร นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย มีคำตอบ

สุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย
สุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย

สถานการณ์ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นฟองละ 6 บาท หลังจากเปิดปีใหม่ 2565 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรก ในรอบ 6 เดือน นับจากที่เคยปรับขึ้นเป็นฟองละ 3 บาทเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ไปแล้วครั้งหนึ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสุธาศิน อมฤก” นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทยถึงสถานการณ์ราคาไข่ไก่ว่า

การปรับราคาไข่ไก่

ขณะนี้สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาแนะนำไข่ไก่ในตลาดทั่วไป ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ว่าปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 0.20 บาท จากฟองละ 2.80 เป็น 3.00 บาท หรือคิดเป็นราคาปรับขึ้น 6 บาทต่อแผง โดยการปรับครั้งนี้เท่ากันทุกไซซ์ทุกเบอร์

ปรับราคา “คนกลาง” ทอดละ 6 บาท ไม่ใช่ 12 บาท

ขณะนี้ไข่ไก่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม แต่ในการกำหนดราคาโดยอิงจากราคาของสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ดังกล่าว กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้ขายไม่เกิน 3 บาท

ซึ่งผลจากการปรับขึ้นราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม 6 บาท ทำให้สมาคมเราซึ่งเป็นผู้ค้าคนกลาง ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ค้าไข่ไก่และสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย ก็จำเป็นจะต้องปรับราคาขึ้นในระดับเดียวกัน คือ แผงละ 6 บาท เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เราปรับรวม 12 บาท ทางต้นทางขึ้นมา 6 บาทเราก็ปรับ 6 บาท

โดยเราจะนำไข่ไก่คละที่ซื้อได้มาคัดไซซ์เช่นเดิมไข่ไก่เบอร์2 ขายส่งแผงค้าที่ราคาแพ็กละ 87 บาทก็จะ + ขึ้นไปอีก 6 บาทเป็น 93 บาท

ส่วนราคาขายปลีกขึ้นอยู่กับแผงค้าไข่ว่าจะปรับขึ้นเท่าไร อาจจะปรับขึ้นน้อยกว่าหรือมากกว่า 6 บาทก็ได้ เช่นถ้ารับไข่ไก่เบอร์สองไปในราคาต้นทุน 93 บาท แผงไข่ก็อาจจะขึ้นอีกแผงละ 7 บาทเพื่อให้เป็นราคา 100 บาทเพื่อจะได้ไม่ต้องทอนก็เป็นไปได้

สาเหตุการปรับขึ้นราคา

สาเหตุหลัก ของการปรับขึ้นราคามาจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ไข่ปรับสูงขึ้นประกอบกับปริมาณไข่ขนาดเล็กเบอร์ 3 เบอร์ 4 เบอร์ 5 มีปริมาณลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าแม่ไก่ได้จากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ไทยไม่สามารถผลิตไก่สาวที่จะเป็นแม่พันธุ์ไข่ขนาดเล็ก จึงเหลือเพียงแม่ไก่แก่ที่มีจำนวนมากและผลิตไข่ขนาดใหญ่ เบอร์ 0- เบอร์ 1

ไข่จะไม่ขาดตลาด

โดยเฉลี่ยตลาดไข่ไก่จะมีการบริโภคอยู่ที่ 40 ล้านฟองต่อวัน ขณะนี้ปริมาณไข่ที่ลดลงจะเป็นส่วนของไข่ไก่เล็กแต่เรายังมีไข่ไก่เบอร์ใหญ่ที่ประชาชนนิยมน้อยกว่า สถานการณ์ไม่รุนแรงถึงเกิดปัญหาขาดตลาดแน่นอน

ส่วนสถานการณ์ราคา จะปรับขึ้นอีกหรือไม่ยังไม่ทราบและจะมีราคาสูงอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถนำเข้า ปู่ย่าพันธุ์ (GP) ได้เมื่อไร ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ข้อสรุปเรื่องการนำเข้าแล้ว แต่หลังจากนำเข้าปู่ย่าแล้วก็ต้องมาผลิตแม่ไก่พันธุ์ และแม่ไก่ยืนกรุงก่อนที่จะได้ไข่ไก่ล็อตใหม่ออกมาซึ่งก็คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่ระดับราคาขายน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 3 บาท เพราะกรมการค้าภายในยังขอความร่วมมือให้จำหน่ายในราคาดังกล่าว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาไข่ไก่นี้ผมมองว่าไม่ได้เกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาหมู เพราะโดยปกติคนที่บริโภคไข่ก็จะบริโภคไข่อยู่แล้ว เช่นสั่งกะเพราก็จะมีไข่ดาว ปกติคนไทยบริโภคอยู่ที่ 220 ฟองต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับราคาแต่หากคำนวณน้ำหนักไข่ไก่ต่อกิโลกรัมออกมาแล้วพบว่าราคาไข่ไก่ 1 กิโลกรัมยังอยู่ที่ 60 ถึง 70 บาทซึ่งยังเป็นราคาโปรตีนชนิดที่ต่ำที่สุดหากเทียบกับ หมูไก่ และเนื้อวัว

ปริมาณการสต๊อกไข่ไก่ของพ่อค้า

โดยปกติแล้วผู้ค้าขายจะไม่มีการเก็บสต๊อกไข่ เพราะว่ามันต้องใช้ห้องเย็นในการเก็บควบคุมอุณหภูมิ ดังนั้น นำเข้ามาเท่าไหร่เราก็จะขายไปเท่านั้น

อย่างเช่นพรุ่งนี้จะปรับขึ้นราคาถึงเรารู้แล้ว ก็ยังปล่อยของไม่ได้สต๊อก แม่ค้าสั่งเพิ่มเข้ามาเท่าไรถ้ามี เราก็ยินดีขายไม่ใช่อ้างว่าของขาดตลาดแล้วไม่ขายเพื่อรอไปปรับราคาในวันพรุ่งนี้

แต่ถ้าถามว่าราคานี้จะอยู่ที่เท่าไหร่จนถึงเมื่อไหร่ตอบได้ยากมากเพราะราคาไข่ค่อนข้าง ผันผวน

ไข่ไก่ปรับราคาครั้งล่าสุด มิ.ย. 64

ที่ผ่านมาราคาไข่ไก่มีความผันผวนพอสมควรโดยมีการปรับขึ้นราคา เป็นฟองละ 3 บาท ไปเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 หลังจากนั้นระดับราคาก็ลดลงมาอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท – 2.80 บาท โดยตลอด

ท้ายที่สุดมองว่า ต่อไปหากสถานการณ์ราคาไข่ไก่ยังสูงต่อเนื่องและในอนาคตผู้เลี้ยงได้มีการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ก็กังวลว่าจะมีการดัมพ์ราคาขาย หรือที่เรียกว่าราคาใต้โต๊ะเช่นฟาร์ม เอขาย 3 บาท ฟาร์มบี ขาย 2.70 บาท ตัดราคากันหรือที่เรียกว่ามีราคาใต้โต๊ะในอีก 30 ถึง 45 วันนับจากนี้ถ้าเกิดไข่ล้นตลาด ก็จะเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง