เทียบชัด ๆ โรคระบาดหมู ASF กับ PRRS อาการต่างกันอย่างไร

FILE PHOTO: REUTERS/Jason Lee

เทียบความต่าง โรคระบาดในสุกร ASF กับ PRRS อาการ การรักษา การแพร่เชื้อ ต่างกันอย่างไร 

โรคระบาดในหมูที่สะสมมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562-2564 และในต้นปี 2565 ถูกระบุจากกรมปศุสัตว์ประเทศไทยว่า เป็นเพียงโรคพีอาร์อาร์เอส หรือ เพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS)  ไม่ใช่โรคไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF)

ปมปัญหาโรคระบาดในหมูดังกล่าว ถูกเปิดโปงโดยเอกสารจริง จากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ออกมายืนยันว่าพบเชื้อ ASF ในสุกรจริง ขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมีให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการร่วมหาทางแก้ไขปัญหา

โรคระบาดในหมู ส่งผลให้หมูตายหายจากระบบกว่า 50 % ราคาหมูพุ่งแพงขึ้นทะลุกิโลกรัมละ 300 บาท เชื่อมโยงกับปัญหาการปกปิดและปฏิเสธข่าวการระบาดของโรคไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ระบาดใน 35 ประเทศทั่วในโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านชายแดนไทย แต่ยกเว้นประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่รัฐบาล และส่วนราชการไทย ปฏิเสธมาตลอด 3 ปี ว่าประเทศไทย ยังไม่มีการระบาดของโรค ASF แต่เป็นโรคเพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS)  ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ทําให้แม่สุกรแท้ง ลูกตายแรกคลอดสูง

โรคระบาดในหมูระหว่าง ไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF)  กับโรคเพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) อาการต่างกันอย่างไร เปรียบเทียบกันได้ ดังนี้

ASF – PRRS ต่างกันอย่างไร

African Swine Fever : ASF 

เป็นโรคติดต่อรุนแรงเฉพาะหมูเลี้ยง และหมูป่า เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Asfivirus เป็น DNA Virus ที่มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมได้นาน และอยู่ในเนื้อหมูแช่แข็งได้หลายปี พบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2464 ที่ประเทศเคนย่า ทวีปแอฟริกา

โรคนี้ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน หมูที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง มีจุดเลือดออก โดยเฉพาะใบหู ท้อง และขาหลัง โดยหมูจะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 3-4 วัน หากเกิดโรคนี้กับฟาร์มใดจะทำให้หมูตายฉับพลันทันที (อัตราการตายสูง 80-100%)

กลุ่มอาการ 

  • ระบบทางเดินหายใจ
  • ระบบทางเดินอาหาร

การแพร่กระจายของเชื้อโรค 

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของสุกรป่วย
  • การหายใจเอาเชื้อเข้าไป
  • การกินอาหารที่เชื้อปนเปื้อน
  • การโดนเห็บที่มีเชื้อกัน

อาการ 

  • มีไข้สูง
  • ผิวหนังแดง มีเลือดออก
  • มีรอยช้ำที่ใบหู ท้อง ขาหลัง
  • ไอ แท้ง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด

การรักษา

  • ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่สามารถป้องกันได้
  • เน้นการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio security)

อาการทั้งหมดนี้ ยืนยันโดยสำเนาเอกสารแจ้งผลการชันสูตรซากหมูที่ตาย ซึ่งตรวจชันสูตรโดยห้องแล็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2564 ระบุว่า ตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ซึ่งหลังทราบผลชันสูตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในกรมปศุสัตว์

และเอกสารจาก ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ระบุมีการตรวจพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) โดยตรวจพบในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว

Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS 

เป็นโรคติดต่อที่เกิดเฉพาะในหมูเช่นกัน ซึ่งโรคนี้ก่อให้เกิดปัญหาระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ ทำให้แม่หมูแท้ง ลูกตายแรกคลอดสูง อัตราการผสมติดต่ำ ความเสียหายอาจไม่รุนแรงเท่าโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) พบรายงานการระบาดครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2530 และประเทศเยอรมนี ทวีปยุโรป ในปี 2533 ปัจจุบันโรคนี้สามารถพบได้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

อาการของโรคทั้งสองนี้คล้าย ๆ กัน คือ มีอาการไข้ เบื่ออาหาร และมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ แต่อัตราการตายต่างกัน ซึ่งทั้งสองโรคนี้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู ไม่ได้เป็นโรคติดต่อสู่คน

กลุ่มอาการ 

  • ระบบทางเดินหายใจ
  • ระบบทางสืบพันธุ์

การแพร่กระจายของเชื้อโรค 

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของสุกรป่วย
  • ทางอากาศ (รัศมี 3 กม.)
  • การสืบพันธุ์ น้ำเชื้อ
  • แมลงดูดเลือด
  • เครื่องมือต่าง ๆ ในฟาร์ม

อาการ 

  • มีไข้สูง
  • หายใจลำบาก
  • มีการติดเชื้อแทรกซ้อน
  • มีโอกาสแท้งหรือลูกตายแรกคลอดสูง

การรักษา

  • ให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดการอักเสบและลดไข้
  • มีวัคซีนป้องกัน แต่ประสิทธิภาพยังเห็นผลไม่แน่นอน
  • เน้นการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio security)