เปิดไทม์ไลน์โรคระบาดหมู ข้อเท็จจริง-คำปฏิเสธของกรมปศุสัตว์ ยังไม่ใช่ ASF

ราคาเนื้อหมูแพงกลายเป็นปัญหาความมั่นคงด้านอาหารในประเทศไทย ลุกลามกลายเป็นปัญหาการปกปิดและปฏิเสธข่าวการระบาดของโรคไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกร ที่ระบาด 35 ประเทศ ในโลก ยกเว้นประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทางการไทย ตอบอะไรแล้วบ้าง

ระบาดครั้งแรก-ไทยเสี่ยงสูง ปี 2561

โรคระบาดจากไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกร เกิดขึ้นครั้งแรก ตั้งแต่ช่วงปี 2561 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พบการระบาดของเชื้อ “ASF” และมีแนวโน้มการแพร่กระจายในวงกว้าง ทั้งเกาหลีรวมทั้งประเทศไทยตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรจากผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนําติดตัวเข้าประเทศ

ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียรวมท้ังประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมาโดยตลอด จากปัจจัยหลายประการ เช่น การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว ค้าขาย การขนส่งสินค้า หรือปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ทางภูมิศาสตร์ที่มีข้อจํากัดชายแดนมีระยะทางยาวมาก รวมถึงความต้องการซากสุกรและ ผลิตภัณฑ์สุกรบางประเภทซึ่งส่งผลให้มีการลักลอบเคลื่อนย้าย

ต้นปี 2562 ไทยเฝ้าระวังชายแดน

ต้นปี 2562 พบการระบาดในผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งระบุว่าเป็นโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) กรมปศุสัตว์ ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า “ยังไม่พบการระบาด ASF ในไทย” ยืนยันไทยยังคงปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู แต่ด้วยลักษณะอาการของโรคทั้งเพิร์ส และอหิวาต์แอฟริกาในหมู คล้ายคลึงกันและอัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงกัน อาจทำให้เกิดความสับสน ดังนั้น การระบาดจึงมีเพียงประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องเฝ้าระวังตามแนวชายแดนคุมเข้มการลักลอบในทุกครั้ง

หากย้อนไทม์ไลน์ กรมปศุสัตว์ต้องออกมาปฏิเสธ ครั้งแล้วครั้งเล่าในที่ผ่านมา (2564) นับตั้งแต่ต้นปีมีการระบาดแทบทุกภาคตั้งแต่ภาคเหนือ พะเยา เชียงราย ภาคใต้ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง

กลางปี 2564 มีโรคระบาดฟาร์มหมูในประเทศ

ช่วงกลางปี มิถุนายน-กันยายน 2564 เริ่มระบาด ที่ จ.สระแก้ว และได้ลุกลามเข้ามาในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง หนักสุดก็ฟาร์มหมู จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของไทย และเพชรบูรณ์ ภาคอีสาน นครพนม ฟาร์มหมูเหล่านี้ ทะยอยป่วย ตาย โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงหมูในประเทศกำลังเผชิญปัญหาต้องทิ้งหมูจำนานมาก ขาดรายได้สาหัส

Advertisment

มากไปกว่านั้น ไทยยังไม่มียา วัคซีนรักษา จนสร้างความสงสัยต่อผู้เลี้ยง “สับสน” ว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นในหมูขณะนี้เป็นโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) หรือโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) กันแน่

กระทั่งช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ 2564 ต่อนเนื่อง 2565 รายงานข่าวระบุ ไต้หวันพบอีกเชื้อ ASF ในพัสดุ “กุนเชียงหมู” จากไทย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ซึ่งกรมปศุสัตว์ปฏิเสธอีกครั้งว่า เป็นการนำเข้าเนื้อหมูจากเขตระบาดที่ไม่ไทย

Advertisment

ส่วนการตรวจพบครั้งที่ 2 พบเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 อยู่ระหว่างตรวจสอบ และในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 กรมได้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่ามีผู้ซื้อตับหมูจากห้างแห่งหนึ่งมาปรุงให้สุนัขทาน แล้วสุนัขเกิดอาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษา ก็ยืนยันหนักแน่นว่ามีการควบคุมการระบาดมาตลอด ยืนยันว่า ไทยไม่พบหมูป่วยโรคอหิวาต์แอฟริกา

ผลชันสูตรซากหมูระบุป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

ประกอบกับล่าสุดที่มีกระแสข่าวรายงานโดยเวบไซต์ไทยรัฐพลัส ระบุสำเนาเอกสารแจ้งผลการชันสูตรซากหมูที่ตาย ซึ่งตรวจชันสูตรโดยห้องแล็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2564 เอกสารระบุชัดว่า ตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ซึ่งหลังทราบผลชันสูตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว

แต่ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ทั้งระดับอธิบดีและรองอธิบดี ยืนยันว่า “ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย ยังดำเนินการลดความเสี่ยงการระบาดของโรค เฝ้าระวังเชิงรับและเชิงรุก ระวังการเคลื่อนย้ายและการลักลอบการเคลื่อนย้ายทุกกรณี ถ้าพบเกิดโรคจะทำลายทันที และจะแจ้งให้ทราบ เท่าที่การรายงานยังไม่มี”

ประชุมกว่า 100 รอบ เห็นสัญญาณการระบาด 2561

ในช่วงที่กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิเสธว่าไม่มีการระบาดของ ASF ครั้งแล้วครั้งเล่า ช่วงกลางปี2564 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พยายามค้นหาข้อเท็จจริง ด้วยการสัมภาษณ์พิเศษ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ถึงการวางยุทธศาสตร์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF

ซึ่งได้ระบุไทม์ไลน์การระบาด ASF ว่า กรมปศุสัตว์เริ่มเห็นว่ามีสัญญาณการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู หรือ ASF เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่จีนรับต่อมาจากฝั่งรัสเซียและยุโรป จึงเริ่มระดมสมองเชิญนักวิชาการมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการเข้ามาประชุมกว่า 100 ครั้ง ทุกคนบอกว่า ยากที่จะยับยั้งการแพร่ระบาด เพราะโรคนี้เป็นไวรัสที่ไม่เหมือนกับชนิดอื่น เกิดในแอฟริกามา 60-70 ปี เมื่อมาถึงจีน เสี่ยงที่จะกระจาย เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่

“ด้วยเหตุที่เกิดโรค ASF ที่จีนเราจึงมุ่งเฝ้าระวังด้านทิศตะวันออก เพราะโรคอาจแพร่จากจีนมาลาว-เวียดนาม-กัมพูชา และเข้าไทยได้ โดยมีด่านปศุสัตว์ 58 แห่ง เกณฑ์คนไปเฝ้าการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ เราตรวจยึดพบทั้งผลิตภัณฑ์ ไส้กรอก กุนเชียงหลายเคส แต่กลับพบการระบาดของ ASF ที่ฝั่งเมียนมาในรัฐฉาน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเชียงราย ด้วยความที่เป็นรัฐอิสระ ชาวบ้านฝั่งนั้นมีการโยนหมูทิ้งน้ำ ทางเจ้าหน้าที่ไปช่วยเก็บทำลาย เพราะห่วง 2-3 อำเภอบริเวณนั้นมีรายย่อยเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก”

แต่หลักการสัตวเเพทย์โดยทั่วไปคือ “รู้โรค รู้เร็ว สงบเร็ว” ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีงบประมาณ ต้องอาศัยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรช่วยลงขันช่วยกันเอง เพราะสมาคมก็ห่วงอาชีพของเขา เราจึงเริ่มทำแอปพลิเคชั่น Smart Plus ประเมินความเสี่ยงคล้าย ๆ กับ “ไทยชนะ”

“หากทุกคนมองว่า พอเกิดโรค (ASF) ประกาศทันที นั้น จริงอยู่มันเป็นการทำงานที่ง่ายมาก และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วย แต่เราเลือกทำสิ่งที่ยาก เรารายงานให้รัฐมนตรีทราบเกือบทุกวันเพื่อพิจารณาในระดับนโยบาย พร้อมทั้งยกระดับการป้องกัน ขอ “งบฯกลาง” เป็นครั้งแรก โดยต้องชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นว่า การป้องกันโรค ASF มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร”

ถ้ายอมรับมีโรค ASF จะถูกขึ้นลิสต์ห้ามส่งออกถึงปี 2573

นายแพทย์สรวิศยังอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกว่า “ประเทศใดประกาศการระบาดของโรค ASF ตามหลักต้องรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ก็จะถูกขึ้นตัวเเดงทันที เป็นลิสต์ที่ห้ามส่งออกแต่ถึงจะคุมการระบาดได้หลังจากนั้นทันที ทาง OIE ก็จะไม่คืนสถานะให้ทันทีต้องอาศัยเวลาอีกหลายปี อาจจะถึงปี 2570-2573 ก็ได้ สถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตอนนี้ในโลกกระทบมากขึ้น เราจะเดินอย่างไรต่อ เพราะโรคนี้มีอยู่ในโลกเเล้ว เราจะเอายังไงกับอนาคตข้างหน้า”

“แน่นอนว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราถูกจับจ้องจากแต่ละประเทศที่ต่างก็เกิดการระบาดของโรค ASF หมด แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศอื่นยังเชื่อมั่นว่าไทยไม่มี ASF ก็คือ ไทยยังมีหมู ปี 2563 ส่งออกไป 2 ล้านตัว มูลค่า 13,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 344.30% และยังมีผลิตภัณฑ์จากหมู 43,000 ล้านตัน มูลค่า 5.1 พันล้านบาท “ถ้าวันไหนโรคระบาดสร้างความเสียหาย หมูตายส่งออกไม่ได้ หมูตายมากก็อีกเรื่องหนึ่ง”

ปัจจุบันปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัว ลดลงเหลือ 19 ล้านตัว ซึ่งส่งออกไปต่างประเทศ 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว

เหล่านี้คือเหตุผลที่รัฐไทยยังไม่ยอมรับการระบาดของโรค ASF ตราบใดที่ภาครัฐ ไม่ยอมรับและประกาศว่าประเทศไทยมีการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์หมู แนวทางการแก้ปัญหาหมูแพง และการแก้ระบบปศุสัตว์ทั้งระบบ ก็จะเป็นเพียงขายผ้าเอาหน้ารอด ไปวันต่อวันเท่านั้น