“ขยะ” ท่วมพื้นที่ EEC จิสด้า-TDRI ส่งสัญญาณเร่งรับมือ

ขยะ EEC

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในระยะที่ 2 ใน 5 ปี (2565-2570) ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนถึง 2.2 แสนล้านบาท เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่การพัฒนา “อีสเทิร์นซีบอร์ด” หรือ ESB ที่เคยพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจประเทศเมื่อครั้งที่ไทยอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เมื่อ 30 ปีก่อน

แน่นอนว่าเศรษฐกิจเติบโตจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ย่อมแลกมาจากการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ แต่มีแนวทางใดที่จะมาสร้างการเติบโต EEC อย่างยั่งยืน

ล่าสุดสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับมูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก” นำเสนอรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564 ถอดบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกจาก ESB สู่ EEC

โดยใช้เครื่องมือ actionable intelligence policy หรือ AIP ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการติดตามความเปลี่ยนแปลง พร้อมสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดในทุกมิติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการ GISTDA กล่าวว่า ผลการศึกษานี้เป็นการติดตามสถานะ EEC และบริบทของพื้นที่ในภาคตะวันออก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ปี 2564) พร้อมขับเคลื่อนแนวคิดและหลักการใช้ข้อมูล การใช้เทคโนโลยี actionable intelligence policy หรือ AIP มาแก้ปัญหาในพื้นที่สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ซึ่ง GISTDA มีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big geospatial data) และพัฒนา platform AIP วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป็น platform แสดงผลบน dashboard ให้ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาและสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อการพัฒนาอีอีซี

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล กล่าวว่า ภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะในด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจภาคนี้มีชายฝั่งทะเลยาวอยู่ใกล้เมืองหลวง มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ สามารถเชื่อมต่อทุกภูมิภาคทั้งในและต่างประเทศ เป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ ทำให้มีการพัฒนาพื้นที่นี้เพื่อเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมายาวนาน

ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ในชื่อ ESB จนถึงปัจจุบันเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในชื่อ EEC ซึ่งมีการกล่าวถึงการพัฒนาเป็น corridor หมายถึงทางเชื่อมที่เชื่อมระหว่างภาคต่าง ๆ และเชื่อมไทยออกสู่ภายนอก ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงไปถึงภูมิภาคอื่น เช่น วันนี้จีนอยากมีพื้นที่เชื่อมสำคัญอย่าง One Belt One Road

“EEC เป็นโครงการที่มีการออกแบบมาดีกว่า ESB มีเครื่องมือครบทั้งงบประมาณ กำลังคน และกฎหมายเฉพาะ สามารถนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนได้ แต่ต้องมองครอบคลุมมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม คือ น้ำ อากาศ และการจัดการขยะ ด้านเศรษฐกิจ ทั้งความยากจน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และด้านสังคม คือ เรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมดำเนินการโครงการนี้กับ GISTDA และ TDRI”

“รายงานนี้เราตั้งใจจะจัดทำเป็นรายงานประจำปีซึ่งใช้หลักฐานจริง AIP วิเคราะห์จริง ซึ่งรายงานในปีนี้จะเน้นเรื่องขยะภาคตะวันออกเป็นพิเศษ ทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม แสดงความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)”

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา บรรณาธิการของรายงานจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า ผลการศึกษามี 4 แนวทางในการพัฒนา EEC และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ได้แก่

1.การจัดทำและบังคับใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC เพื่อให้สามารถกำหนดพื้นที่เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ได้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และการอยู่ร่วมกันในสังคม

2.การกำหนดจำนวนผู้ประกอบการหรือจำนวนโรงงานแต่ละประเภท

3.การพัฒนาระบบขนส่งขยะ ของเสีย การคัดแยก และกำจัดขยะ ของเสียในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการกำหนดพื้นที่และมีนวัตกรรมสำหรับการกำจัดขยะทุกประเภทอย่างเหมาะสม

4.ผลักดันให้นำธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (environmental governance)

โควิดทำขยะติดเชื้อเพิ่ม

ไฮไลต์สำคัญของการศึกษาปีนี้ เรื่องการจัดการขยะ “ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์” นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว TDRI กล่าวว่า ใน EEC มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะติดเชื้อ และขยะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณขยะติดเชื้อในพื้นที่อีอีซีเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ศักยภาพในการกำจัดขยะยังมีข้อจำกัด ซึ่งหากพิจารณาเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวมของ 3 จังหวัดจะพบว่ายังมีการจัดการแบบที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีการใช้วิธีการเทกองกลางแจ้งคิดเป็นสัดส่วนถึง 52%

“ขยะติดเชื้อที่ต้องมีการจัดการและกำจัดโดยใช้วิธีการเผาด้วยความร้อนสูง เช่น จ.ระยอง จะมีศูนย์บริการกำจัดขยะติดเชื้อที่ได้มาตรฐานแต่ศูนย์ดังกล่าวยังมีศักยภาพในการกำจัดขยะติดเชื้อได้เพียง 3.6 ตันต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณขยะติดเชื้อ 10-12 ตันต่อวัน ในอนาคตจึงต้องเตรียมแผนในการรองรับขยะติดเชื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร”

ปริมาณขยะ

ที่สำคัญในงานวิจัยได้คาดการณ์แนวโน้มปริมาณขยะในพื้นที่อีอีซีในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 คาดว่าปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนจะเพิ่มขึ้น 63.95% เมื่อเทียบกับปี 2563 ขณะที่ขยะอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 65.48% ซึ่งผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ จะต้องเตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญกับการหาแนวทางมารองรับเพื่อแก้ไขปัญหากับเรื่องนี้

ดร.กรรณิการ์ ระบุว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีแผนการจัดการขยะในพื้นที่อีอีซีระยะที่ 1 และมีกรอบของระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้ว แต่อาจจะไม่เพียงพอสำหรับแผนจัดการขยะในระยะที่ 1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งจัดการขยะตกค้าง และวางระบบรองรับการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย

รวมถึงมาตรการกำกับดูแลโรงงานในพื้นที่ให้มีการจัดการขยะอุตสาหกรรมและขยะติดเชื้อ ส่วนร่างแผนระยะที่ 2 ได้มีการกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดขยะและส่งเสริมให้นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

“การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนต้นทางที่เกิดจากครัวเรือน สถานประกอบการต่าง ๆ ใช้หลัก 3Rs มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ ลดการสร้างขยะ คัดแยกและนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด กลางทางเน้นแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม”

“ส่วนปลายทางเน้นการจัดการขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่มพื้นที่หรือคลัสเตอร์ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงการรวมกลุ่มกันสร้างศูนย์กำจัดขยะและบริหารจัดการร่วมกันควบคู่กับการปิดสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องจังหวัดระยองเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะได้ 1 แห่ง รองรับขยะได้ 500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์จังหวัดชลบุรีอยู่ระหว่างการรวมกลุ่มคลัสเตอร์คาดว่าจะดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะได้ในปี 2565 จังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ระหว่างการศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสม”

อุปสรรคการกำจัดขยะ

ที่ผ่านมายังมีปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่อีอีซี 4 เรื่อง คือ

1.การสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ

2.อปท.มีข้อจำกัดงบประมาณสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์บุคลากรกำจัดขยะ

3.ศักยภาพพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่เพียงพอรองรับปริมาณขยะที่เข้ามา

และ 4.การฝังกลบยังประสบอุปสรรคและข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ดิน ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

ส่วนปัญหาด้านการจัดการขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีก็เช่นกัน แม้จะมีโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สมดุลกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งขีดความสามารถในการรองรับการกำจัดขยะอุตสาหกรรมโดยรวมยังไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากการจัดการขยะอุตสาหกรรมอันตรายมีต้นทุนสูง ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า จึงมักมีปัญหาการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยมีข้อเสนอแนะในการจัดการขยะในอีอีซีตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง เร่งสร้างความตระหนักเรื่องการลดการทิ้ง สร้างแรงจูงใจให้คัดแยก พัฒนาศักยภาพบุคลากร อปท. พร้อมทั้งควรสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ต้องการทิ้ง/ขายขยะรีไซเคิล และผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล

เช่น ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ควรอำนวยความสะดวกโดยจัดให้มีจุดรับทิ้งขยะรีไซเคิล (drop off points) ให้ครอบคลุมพื้นที่และอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก และควรส่งเสริมการนำขยะมูลฝอยชุมชนที่ผ่านการคัดแยกไปเป็นวัตถุดิบรอบ 2 เพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และปลายทางควรสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ MOU ระหว่างกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้ประกอบการวางแผนด้านการจัดการขยะ

ควรสนับสนุน อปท.จัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยในอัตราที่สอดคล้องกับต้นทุน และควรเลือกพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยและสถานที่ในการกำจัดขยะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการขยะอุตสาหกรรมที่ต้นทาง ควรสร้างแรงจูงใจให้ลดการสร้างขยะที่ต้นทาง อีกทั้งพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม เช่น กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register : PRTR) เป็นต้น

ที่กลางทางควรส่งเสริมให้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการกำจัด โดยอาจพิจารณานำเทคโนโลยีในการนำขยะอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรมอันตรายและสารเคมีที่ใช้แล้ว อีกทั้งส่งเสริมแนวคิดอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (industrial symbiosis) ที่ปลายทาง ควรคำนึงถึงศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ (carrying capacity) โดยจำเป็นจะต้องจัดหาพื้นที่สำหรับกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่เหมาะสมและบริหารจัดการอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

ด้านสังคม รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ NIDA กล่าวว่า ผู้วิจัยได้ออกแบบ dashboard ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน 8 องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในสิ่งแวดล้อมมองถึงการจัดการน้ำใน EEC ยังมีค่าดัชนีชี้วัด 3.35 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และต้องให้ความสำคัญกับการั่วไหลของสารระเหย VOC และการจัดการขยะ

ด้านเศรษฐกิจมองมิติความยากจนพื้นที่ EEC มีจำนวนคนจนเฉลี่ย 6.36 คนต่อประชากร 1,000 คน และมีค่าครองชีพขั้นต่ำ 3,100 บาท ซึ่ง “สูงกว่า” ค่าเฉลี่ยประเทศที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพราะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 25,293.43 บาทต่อเดือน และมี GPP 672,996 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็น 2.8 เท่าของค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

ด้านสังคมในมิติสุขภาพประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ และมีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็ง 106.14 คนต่อประชากร 1 แสนคน “ต่ำกว่า” ระดับประเทศ คุณภาพชีวิตยังมีพื้นที่สีเขียวน้อยหรือ 41.40 ตร.ม.ต่อคน หรือเพียงครึ่งหนึ่งของระดับประเทศ ส่วนด้านการศึกษาพบว่ามีอัตราการเข้าถึงการศึกษาในระดับ ม.ปลายและอาชีวศึกษา ร้อยละ 86.39 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับประเทศที่ 76.42

อย่างไรก็ตาม ใน EEC มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศถึง 1.4 เท่า หรือ 121.36 คดีต่อ 1 แสนประชากร และความเท่าเทียมกันของรายได้ พบว่าการกระจายรายได้หรือค่า GINI อยู่ที่ 34.43 ดีกว่าในระดับประเทศซึ่งอยู่ที่ 43.01