เปิดไส้ในร่างแผนพลังงานชาติ ลดฟอสซิลเพิ่มโรงไฟฟ้าขยะ-ลม-น้ำ

สนพ.เร่งเครื่องแผนพลังงานชาติ หลังปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บแล้ว ยืนยันแนวทางลดการใช้ฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 10 ปีแรก 64-73 ทะลุ 1 หมื่นเมกะวัตต์ เน้นเพิ่ม “ไฟฟ้าพลังน้ำ-ลม-ขยะ” ลดสัดส่วนแสงอาทิตย์-ชีวมวล-ชีวภาพ เตรียมส่งไม้ต่อหน่วยงานรัฐให้ความเห็นก่อนชงเข้า กบง.

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าของการจัดทำกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ว่า ขณะนี้ปิดรับฟังความเห็นการประชาพิจารณ์ผ่านทาง web แล้ว

โดยจากนี้จะสรุปเพื่อให้แต่ละหน่วยที่รับผิดชอบในแต่ละแผนย่อยทั้ง 5 แผน เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำต่อไป โดยจากนี้จะต้องเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก่อนจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในตุลาคมนี้

สำหรับแผนดังกล่าวยังเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ได้มีมติเมื่อ 28 ตุลาคม 2564 เห็นชอบปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง 10 ปีแรก (ปี 2564-2573) ตามการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ที่ต้องตอบโจทย์การลดโลกร้อนด้วยการมุ่งเน้นพลังงานสะอาด

โดยเบื้องต้นได้มีการพิจารณาปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลลงจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่แผนพีดีพีเดิม (PDP2018 rev.1) กำหนดไว้อยู่ที่ 5,550 เมกะวัตต์ จะเป็น 4,850 เมกะวัตต์ ลดลง 700 เมกะวัตต์ คงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 10,193 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มจากแผนเดิม 1,000 เมกะวัตต์

สำหรับรายละเอียดของพลังงานหมุนเวียนที่ปรับปรุง ประกอบด้วย การเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำต่างประเทศ จากแผนเดิม 1,400 เมกะวัตต์ จะเป็น 2,766 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1,366 เมกะวัตต์, พลังงานลมเดิม 270 เมกะวัตต์ เป็น 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1,230 เมกะวัตต์, พลังงานไฟฟ้าจากขยะเดิม 400 เมกะวัตต์ เป็น 600 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์ โดยเป็นการปรับเพิ่มในส่วนของขยะอุตสาหกรรมเดิม 44 เมกะวัตต์ เป็น 200 เมกะวัตต์

ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์เดิม 5,149 เมกะวัตต์ เป็น 4,455 เมกะวัตต์ ลดลง 739 เมกะวัตต์, ชีวมวลเดิม 1,120 เมกะวัตต์ เป็น 485 เมกะวัตต์ ลดลง 635 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพแผนเดิม 783 เมกะวัตต์ เป็น 335 เมกะวัตต์ ลดลง 448 เมกะวัตต์

ซึ่งในส่วนการจัดทำแผน PDP2022 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมปี 2565 จากนั้นทาง สนพ.จะหารือกับทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อจัดทำรายละเอียด โดยใน 10 ปีแรกนี้อาจยังเห็นการเพิ่มไม่มาก แต่หลังจากนั้นจะมาค่อนข้างมาก และจากการปรับครั้งนี้จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใน 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 26-27% จากปัจจุบัน 23%

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างแผนพลังงานแห่งชาติ เรื่องพลังงานหมุนเวียนยังคลุมเครือและขาดรายละเอียดว่าจะก้าวสู่ความเป็นคาร์บอนนิวทรัลลิตี้อย่างไรให้ได้ในปี 2050 ตามที่ผู้นำได้ประกาศไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26)


“ข้อมูลที่ระบุในร่างแผนยังเป็นข้อมูลกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งปัจจุบันไทยมีการผลิตพลังงานหมุนเวียนใช้จริง ๆ ไม่ถึง 10% โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานโซลาร์และลมซึ่งศักยภาพ ในการผลิตแต่ละวันยังไม่ถึง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแผนนี้อาจกระทบต่อนักลงทุนตามแผนเดิม จึงอาจทำให้ขาดอิสระในการทำแผนเพื่อให้สอดรับกับเรื่องคาร์บอนนิวทรัลโดยแท้จริง ซึ่งต้องระบุให้ได้ว่าแต่ละปีจะลดการใช้ฟอสซิลปีละเท่าไร และจะเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนเท่าไร”