ปิดจ็อบส่งออกข้าว 6 ล้านตัน “เอเซียโกลเด้นไรซ์” ยืนหนึ่งคว้ายอด 8 แสนตัน

ปิดปี’64 ไทยส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตัน “เอเซีย โกลเด้น ไรซ์” ยังครองแท่นเบอร์ 1 คว้า 8 แสนตันต่อเนื่อง สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดปี’65 ส่งออกได้ 7 ล้านตัน “ธนสรรไรซ์” มั่นใจอิรักออร์เดอร์ข้าวไทยต่อเนื่องอีก 4-5 แสนตัน หอการค้าแนะเอกชนไทยปรับตัวลุยสู้ข้าวคุณภาพดี-เน้นสุขภาพ ลดการแข่งขันราคา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยปี 2564 มีปริมาณ 6.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.72 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกระทรวงพาณิชย์ก่อนหน้านี้ เป็นผลจากการส่งออกข้าวเดือนธันวาคม 2564 ส่งออกได้ปริมาณ 665,185.65 ตัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ทำได้ 755,492 ตัน ซึ่งภาพรวมการส่งออกดังกล่าวทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและเวียดนาม

สำหรับรายชื่อผู้ส่งออกข้าวไทยสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2564 นำโดย กลุ่มเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ ปริมาณ 864,172.13 ตัน รองลงมา คือ กลุ่มนครหลวงค้าข้าว 727,447.97 ตัน กลุ่ม ซี.พี. 468,400.39 ตัน โกลเด้น แกรนารี่ 354,207.83 ตัน และไร้ซ์แลนด์ อินเตอร์ฯ 300,697.54 ตัน

ปี’65 ดันส่งออก 7 ล้านตัน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 ไทยส่งออกได้ 6 ล้านตัน ซึ่งถือว่าดีขึ้น เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยประสบปัญหาภัยแล้ง และค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งขันได้ลำบาก ส่วนแนวโน้มปี 2565 สมาคมคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวจะทำได้ถึง 7 ล้านตัน เพราะจากการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อนยังอยู่ระดับที่ดี และมีพื้นที่ปลูกมากขึ้น คนหันกลับไปทำนามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตดีขึ้น

รถไฟจีน-ลาวแก้ตู้สินค้าขาด

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการใช้รถไฟจีน-ลาว จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการส่งออก แต่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องเทียบว่าการขนส่งขึ้นไปถึงคุณหมิง ซึ่งเป็นโซนเหนือสุดของจีนต้องถูกส่งกลับทางรถไฟในประเทศ เพื่อมาที่กว่างโจว ซึ่งเป็นตลาดข้าวหลัก ใช้เวลา 2-3 วัน ว่า ต้นทุนจะคุ้มค่าหรือไม่ หากเทียบกับค่าเรือไปฮ่องกงที่เพิ่มจาก 100 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เป็น 1,300 เหรียญสหรัฐ หรือไปจีนจาก 280 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,300-1,400 เหรียญสหรัฐต่อตู้ อย่างไรก็ตาม มองโอกาสอีกด้านว่าหากไปคุณหมิงก็อาจจะขนส่งต่อไปทางรัสเซียที่เชื่อมต่อกับจีนได้

เอเซียฯ​ตั้งเป้า 8 แสนตัน

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 นี้ยังมองว่าการส่งออกข้าวไทยจะได้ใกล้เคียงกับปี 2564 คือ ปริมาณ 6-6.2 ล้านตัน ซึ่งในส่วนของบริษัทก็ยังคงวางเป้าหมายที่จะรักษาการส่งออกให้ได้ 8 แสนตัน ใกล้เคียงกับปีก่อน

ส่วนแนวโน้มด้านราคาข้าวในปีนี้มองว่า ช่วงสั้นมีโอกาสที่ราคาจะขยับขึ้นบ้าง ส่วนระยะยาวต้องติดตามสถานการณ์การส่งออกของอินเดียว่าจะมีการส่งออกมากขึ้นหรือไม่

“ในส่วนของการส่งออกไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าตัวเลขของเราลดลงมามากพอสมควร โอกาสที่จะฟื้นกลับไปเป็น 8-9 ล้านตัน ไม่มีทางเลย เพราะพื้นที่เพาะปลูกข้าวเราก็ลดลง ชาวนาลดการปลูกไปพอสมควร และในปีนี้เป็นปีแรกที่กัมพูชาได้มีโอกาสส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปโดยปลอดโควตาด้วย สามารถขายได้ไม่จำกัดจำนวน ในส่วนเราก็คงต้องพยายามรักษาการส่งออกของเราให้ได้ปริมาณเดิมให้ได้”

ลุ้นขายข้าว “อิรัก” อีก

ด้านนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 บริษัทได้คำสั่งซื้อจากตลาดอิรัก 4 ลำ ลำละ 44,000 ตัน รวมปริมาณ 176,000 ตัน ซึ่งเป็นการหวนกลับมาสั่งซื้อข้าวไทยครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่งผลให้การส่งออกของธนสรรไรซ์ในปี 2564 มีปริมาณ 300,000-400,000 ตัน

ขณะที่แนวโน้มปี 2565 บริษัทคาดการณ์จะส่งออกได้ 400,000-500,000 ตัน โดยยังมองว่าปัจจัยหลักตลาดอิรักจะยังคงซื้อข้าวไทยต่อเนื่อง มีโอกาสซื้อมากถึง 400,000-500,000 ตัน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับสัดส่วนไปมุ่งเน้นการทำตลาดข้าวถุงในประเทศแบรนด์จัสมินมากขึ้นและแตกไลน์ผลิตข้าวหุงต้นฤดูรุกออกมาทำตลาด เพราะในส่วนของตลาดส่งออกปีที่ผ่านมาแข่งขันกันรุนแรงและมีหลายตลาดที่ต้องระวังการรับออร์เดอร์จากลูกค้ามากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี อาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นจึงต้องรอดูจังหวะ

แนะรุกตลาดข้าวคุณภาพสูง

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้การส่งออกข้าวของไทยซึ่งเป็นสินค้า 1 ใน 5 สินค้าหลักของกลุ่มอาหาร ติดลบ 11% ซึ่งหลังจากนี้มองว่าเราควรมาเน้นในเรื่องของข้าวที่มีมูลค่า เช่น ข้าวที่มีผลดีต่อสุขภาพ บริโภคแล้วมีปริมาณน้ำตาลต่ำ ข้าวพันธุ์พิเศษ อย่างข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวที่มีมูลค่าสูงเป็นหลัก เพราะการแข่งขันด้านราคาคงยากขึ้น

เพราะที่ผ่านมาผู้ส่งออกต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง ทั้งเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และมีต้นทุนสูง หลังตรุษจีนจะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของสายเรือว่าจะยินดีจะแบกตู้เปล่ากลับมาได้มากน้อยเพียงใด เพราะว่าก็ยังจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนในอนาคตอาจจะต้องใช้ระยะเวลาพร้อมทั้งจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของสายพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อมาแข่งขัน


“ก่อนหน้านี้ เรามีแนวทางการผลิตข้าวขาวที่เป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่ปรับว่าควรมาเพิ่มข้าวที่มีคุณภาพสูงแทนข้าวขาว เพราะหากจะเพิ่มปริมาณข้าวขาว เท่ากับว่าเราไปแข่งที่ราคา ซึ่งเราควรมาแข่งขันเรื่องคุณภาพมากกว่า เรามาถึงจุดนี้ ถอยหลังไปไม่ได้ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ๋ยยาแรงงานเราสูงกว่าเพื่อนบ้านหมด จะแข่งขันเรื่องของราคาเป็นไปไม่ได้แล้ว”