สทนช.จัดเวทีชี้แจงผลศึกษาทางเลือกผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล EEC

สทนช.เปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคส่วนเกี่ยวข้องจากระยอง – ชลบุรี ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อปรับปรุงสรุปผลศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ก่อนเสนอ กนช.รับทราบความก้าวหน้าต้น มี.ค.นี้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2665 สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวหลังเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศ “โครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” จังหวัดระยอง ว่า

ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) เพื่อเป็นการเตรียมรองรับความต้องการใช้น้ำที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต 20 ปี

ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงจำเป็นที่จะต้องจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และจัดสรรน้ำให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ชาติ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือก โดยใช้เทคโนโลยีที่ให้น้ำในปริมาณสูงเพียงพอที่จะเสริมความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ได้อย่างยั่งยืน เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) เป็นต้น

โดยพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการความมั่นคงด้านน้ำสูง ปัจจุบันมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง และเมืองท่องเที่ยว เช่น เมืองพัทยา

​อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตน้ำในปริมาณสูง จำเป็นต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงศึกษารูปแบบของการลงทุนที่มีความเหมาะสม เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการความเสี่ยงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง สทนช. ได้มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการศึกษา

คือ 1) แก้ไขปัญหาลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำของพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน 2) เสนอแนวทางการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเลร่วมกับการบริหารจัดการน้ำต้นทุนอื่น ๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองอย่างมีประสิทธิภาพ 3) ศึกษาปริมาณและคุณภาพน้ำที่ต้องการสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเมืองพัทยา และ 4) เสนอรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม แนวทางการคำนวณเพื่อกำหนดราคาค่าน้ำ และปัจจัยที่ควรพิจารณาในการจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อการลงทุนและการก่อสร้างโครงการต่อไป

“การประชุมปัจฉิมนิเทศในวันนี้ ทางคณะผู้ศึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาของโครงการในด้านต่าง ๆ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาของโครงการให้มี ความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.รับทราบในต้นเดือนมีนาคมนี้”