อาหารแห่งอนาคต มูลค่าเพิ่มแสนล้าน-ตอบโจทย์ BCG

ปัจจุบันโลกเกิดความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ส่งผลกระทบต่อการดํารงชีวิตและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “ความมั่นคงทางอาหาร” เมื่อทุกคนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ และเลือกรับประทานอาหารคุณภาพดี และมีประโยชน์ ทำให้ “อาหารแห่งอนาคต” หรือ “future food” ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด TasteBud Biobuddy Network ร่วมกับ วีเอ็นยูฯ และกลุ่ม FoodConnext จัดเสวนา Future Food Forum 2022 และ WHERE IS THE FUTURE OF FUTURE FOOD ปีที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 สะท้อนภาพว่าปัจจุบันตลาดอาหารแห่งอนาคตยังเปิดกว้างอีกมาก

โดยข้อมูลจากหอการค้าไทยระบุว่า มูลค่าส่งออกอาหาร future food ของไทย ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (2010-2021) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าในปี 2020 (2563) ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่การส่งออกอาหารกลุ่มนี้มีมูลค่าถึง 123,146 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด 1.09 ล้านล้านบาท

ล่าสุดเฉพาะในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2564 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารกลุ่ม future food กว่า 71,570 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 10% จากมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด 806,430 ล้านบาท

ไทยปั๊มยอด future food

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเทรนด์ของผู้บริโภคให้มีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ ส่งผลให้อาหารอนาคต (future food) กลายเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเติบโตและเพิ่มความยั่งยืนของอาหารให้เพียงพอต่อประชากรในโลก

โดยจะเป็นโอกาสและโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการรุ่นใหม่และ SMEs จะสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งวัตถุดิบและสามารถใช้วัตถุดิบให้ไม่เหลือทิ้งได้อย่างไร เพื่อสร้างคุณค่าของอาหาร (value added)

“วันนี้นับเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน APEC 2022 ซึ่งจะต้อนรับผู้ที่มาจาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ที่เราจะสามารถแสดงศักยภาพและภาพลักษณ์ด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และอาหารแห่งอนาคตต่อไปอีกด้วย”

ส่อง 4 เทรนด์อาหารอนาคต

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักด์สมาคมผู้ผลิตอาหารสําเร็จรูป กล่าวว่า การพัฒนา future food อาจเป็นกุญแจจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหารได้นับแสนล้านบาทต่อปีให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้ 4 เทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง คือ 1.อาหารฟังก์ชั่น (functional food) 2.อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food)

3.อาหารทางการแพทย์ (medical food) และ 4.อาหารอินทรีย์ (organic food) ซึ่งอาหารอนาคตจะตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลกที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร (food security) และเป็นอนาคตของการส่งออกของไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศได้ดีกว่าการส่งออกสินค้าขั้นปฐมเพียงอย่างเดียว

อาหารอนาคตมีโอกาสจะเติบโตต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีตลาดส่งออกเป้าหมายหลัก ได้แก่ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

แต่สิ่งสำคัญต้องผลักดันวัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น วัตถุดิบบางตัวโอกาสแข่งขันสูง แต่เมื่อเราพัฒนาให้เกิดการวิจัย เช่น เพิ่มการผลิตถั่วเหลืองทดแทนการนำเข้า และต่อยอดอาหารทางเลือก (alternative food) กลุ่มโปรตีนทางเลือก (alternative protein) ที่เริ่มต้นจากอาหารจากพืช (plant besed food)

ซึ่งจะเห็นว่าหลายบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วต่อยอดไปยังอาหารแปรรูปรสชาติต่าง ๆ อาหารอนาคตจะมีความหลากหลายทั้งชื่อเรียก ชนิด องค์ประกอบ ซึ่งไม่ได้มีแค่จากพืชผักผลไม้เท่านั้น แต่รวมถึงซากสัตว์ สมอง แมลง เซลล์สัตว์ ส่วนที่มาจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งจุลินทรีย์ แร่ธาตุ ที่สามารถผลิตให้มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์

สวทช.ชี้ตอบโจทย์ BCG

นายวรรณพ วิเศษสงวน รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่ออุตสาหกรรมศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า สวทช.ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดัน alternative food เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งโจทย์สำคัญที่เราได้รับคือจะแปลงวัตถุดิบอย่างไรให้มีมูลค่า ที่ปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท ภายใน 5 ปีจะต้องเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท

ท่ามกลางข้อจำกัดการจัดหาวัตถุดิบในการนำเข้า โดยเฉพาะอาหารทางเลือกที่ยังมีวอลุ่มไม่มากพอที่จะผลิตเพื่อส่งออกได้ ขณะเดียวกันต้องหาวัตถุดิบอื่นที่น่าสนใจนอกจากถั่วเหลือง และจะทำอย่างไรที่ผู้ประกอบการจะเข้าถึงเทคโนโลยี ที่สำคัญคือ กฎระเบียบ กฎหมาย ตามมาตรฐานสากล สวทช.จะเป็นหน่วยงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ BCG เกิดประโยชน์กับทุกคน

อาหารอนาคตบุกตลาดทุน

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวถึงโอกาสเส้นทางตลาดทุนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจอาหารอนาคตว่า หลายบริษัทไทยได้ยกระดับธุรกิจอาหาร จากการรู้จักจุดยืนของแบรนด์ แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือการสร้างการเติบโต โ

ดยยกตัวอย่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน จากบริษัทที่มีพนักงานไม่กี่ร้อยคน วันนี้เติบโตจนมีฐานการผลิตทั่วโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป เอเชีย จากการสร้างโอกาสให้ตัวเอง เริ่มจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ได้ใช้เครื่องมือตลาดทุนเทกโอเวอร์แบรนด์ทูน่าที่สหรัฐ ใช้เครื่องมือทางการเงินเทกโอเวอร์หลายบริษัท

รวมทั้งลงทุนสร้างแบรนด์ นับเป็น globle company และมี globle responsibility ดูแลสิ่งแวดล้อม มีระบบดูแลแรงงาน ระบบจับปลา มีศูนย์วิจัย ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดมากกว่าแสนล้าน เฉพาะปี 2563 มีโควิด รายได้ 1.3 แสนล้านบาท อนาคตจะใช้นวัตกรรมอาหารสร้างมูลค่าได้อีกมาก นี่คือตัวอย่าง SMEs ไทยสู่ตลาดโลก

“ภารกิจสำคัญขณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯโดยตลาดทุนจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงให้มากขึ้น เราต้องการบริษัทที่ทำธุรกิจที่มีรายได้และกำลังเติบโต อาจจะเป็นสตาร์ตอัพที่มีการลงทุนรายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์แต่มีอนาคตเติบโตสูง นี่คือสิ่งใหม่ที่เปิดโอกาส SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เราสร้าง lives platfrom ในการสร้างความรู้ นี่คือการสร้างโอกาสในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบที่จะทำธุรกิจ future food”