ระทึก! เดือนมีนาคม หมูแพงอีกรอบ ขอกู้ 4.5 หมื่นล้านอุ้มรายย่อย

ปัญหาหมูแพงฝุ่นตลบ จับตาสต๊อก 25 ล้านกิโล คาดอีก 7 วันหมด แนวโน้มราคาขาขึ้น ต้น มี.ค.-เม.ย. แพงแน่ กระทรวงเกษตรฯตีกลับ งบฯช่วยรายย่อย 2.9 พันล้าน รอกรมปศุสัตว์วางแนวทางการลงเลี้ยงใหม่ช่วยรายย่อย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุน เตรียมขยายสินเชื่อ 4.5 หมื่นล้านปล่อยกู้ “รมว.เกษตร” ยังมั่นใจสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาสุกรที่ลดลงในตอนนี้

ภายใต้ภาวะการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ที่ทำให้แม่พันธุ์สุกรและหมูขุนในระบบการเลี้ยงหายไปกว่า 50% ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง น่าจะเป็นเกมของพ่อค้าคนกลางกดราคา

และได้รับแรงกดดันจากภาครัฐให้ปรับราคาลงมา ประกอบกับความต้องการบริโภคสุกรลดลงไปกว่า 50% กดดันราคาสุกรขุนให้อ่อนตัวลง โดยเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยแต่ละภาค 94-97 บาทต่อ กก. แต่ราคาขายจริงต่ำลงไปเหลือ 82-92 บาทต่อ กก.

สต๊อกหมูหมด-มีนาคมราคาขยับ

นายนิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ภาครัฐแจ้งราคาปรับสูงขึ้น เพราะมีการกักตุนสต๊อกสุกรมากถึง 25 ล้านกิโลกรัมนั้น หากพิจารณาปริมาณการบริโภคสุกรปกติเฉลี่ยวันละ 3,500,000 กก. หรือประมาณ 3.5 พันตันต่อวัน

เท่ากับสต๊อกดังกล่าวจะบริโภคได้เพียง 7 วันหมดแล้ว โดยที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่และรายกลางไม่สามารถเพิ่มปริมาณการเลี้ยงขึ้นมาทดแทนได้ทันกับสุกรที่หายไป และคาดว่าช่วงเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไปราคาสุกรจะค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น เพราะสุกรในระบบจะไม่มี

ด้านแหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ราคาหมูที่ลดลงในเวลานี้ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายย่อยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เนื่องจากราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 94-97 บาทต่อ กก.

แต่ราคาขายจริงอยู่ที่ 82-92 บาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 85 บาทต่อ กก. เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น และมีค่าบริหารจัดการ ค่ายา ฯลฯ จึงเท่ากับว่า ผู้เลี้ยงขาดทุน ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายผู้เลี้ยงรายย่อย รายกลางเลิกเลี้ยง

“การเลี้ยงหมูให้รอดในภาวะโรค ASF ระบาด เป็นเรื่องที่ยากมาก ตอนนี้ผู้เลี้ยงรายใหญ่ รายกลาง ที่ยังมีหมูเลี้ยงอยู่ ก็มีแม่พันธุ์ทยอยตายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมูในห้องเย็นที่เอกชนเก็บไว้ในสต๊อกน่าจะทยอยออกมาเกือบหมดแล้ว เมื่อซัพพลายหมดประมาณปลายมีนาคมเข้าเมษายน ราคาหมูคงทะยานขึ้นและคงยากที่จะควบคุม”

แหล่งข่าวย้ำว่า กรมปศุสัตว์ต้องเร่งทำแผนฟื้นฟูเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่เคยเลี้ยงหมูอยู่ไม่เกิน 500 ตัว ประมาณ 80,000 รายกลับมาเลี้ยงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ของบฯไปแล้ว 2,900 ล้านบาท

พร้อมตั้งแผนขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เกษตรกรรายย่อย สำหรับการเลี้ยงใหม่เพิ่มจาก 30,000 ล้านบาท เป็น 45,000 ล้านบาท

แต่โครงการถูกเลื่อนออกไป และตอนนี้สมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มได้เร่งระดมความเห็นในเรื่องแนวทางการลงเลี้ยงใหม่ หากได้ข้อสรุปจะนำเสนอให้กรมปศุสัตว์นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณและวงเงินสินเชื่อต่อไป

ตีกลับงบฯ 2,900 ล้าน ช่วยรายย่อย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้เสนอแนวทางเพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

ด้วยการขอใช้งบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2565 เพื่อป้องกันโรค ASF วงเงิน 2,937.47 ล้านบาทแต่ต้องตีตกไปก่อน

เพราะขณะนี้จะต้องหารือหลาย ๆ ประเทศที่เคยประสบปัญหาในการระบาดโรคดังกล่าว โดยปศุสัตว์อยู่ระหว่างหารือกับจีน เวียดนาม และหลาย ๆ ประเทศ จากนั้นจึงจะทำแผนและเสนอของบฯกลับมาอีกครั้ง

สำหรับแนวทางการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย จะเน้นการจัดการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อลดปัญหาจากโรคระบาดและส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์มีความปลอดภัย

ด้วยมาตรการ 3S คือ 1.scan ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง pig sandbox หรือพื้นที่ควบคุมพิเศษ 2.screen ตั้งแต่ผู้เลี้ยง คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม และ 3.support สนับสนุน ช่วยเหลือ ด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาด และแหล่งทุน

ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต กล่าวว่า ล่าสุด (ข้อมูล ณ 10 ก.พ.) พบเชื้อ ASF แล้ว 18 จังหวัด อาทิ นครปฐม (โรงฆ่า) กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ ขอนแก่น และหนองบัวลำภู เป็นต้น

และขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความชัดเจน ส่วนกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อแก้ปัญหาและกันการกักตุนซากสุกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุด (9 ก.พ.) ตรวจพบซากสุกรสะสม 24 ล้านกิโลกรัม

ธ.ก.ส.เตรียม 3 หมื่นล้านปล่อยกู้

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้จัดเตรียมสินเชื่อพิเศษสำหรับเป็นทุนในการสนับสนุนการเลี้ยงสุกร วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท

ได้แก่ สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ, สินเชื่อ Food Safety และสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร โดยที่ผ่านมาลูกค้าที่เป็นเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะขอสินเชื่อดังกล่าวได้ จะต้องผ่านเงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์กำหนดก่อน เช่น ต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้การดูแลจัดการสุขอนามัยในการเลี้ยงหมู เพื่อป้องกันโรค ASF เป็นต้น

“ตอนนี้ยังไม่ทราบจำนวนตัวเลขที่ชัดเจน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.มีลูกหนี้เกษตรกรที่เป็นผู้เลี้ยงหมูรายเดิมประมาณ 50,000 ราย

และต้องรอดูว่าลูกค้าส่วนนี้มีความพร้อมในการขอสินเชื่อเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นตัวเลขเกษตรกรขอสินเชื่อและอนุมัติสินเชื่อได้ในช่วงไตรมาส 1 ของปีบัญชี 2565 หรือช่วงเดือน พ.ค.นี้” นายสมเกียรติกล่าว

มั่นใจสถานการณ์ไม่ต้องนำเข้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (3 ก.พ.) นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ทำหนังสือถึงนายทองเปลวกองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เพื่อเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอพิจารณาให้อนุญาตนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศสเปน หลังจากหมูในประเทศมีราคาสูงขึ้น พร้อมให้เหตุผลว่า หากไม่นำเข้าอาจมีการลักลอบนำสัตว์ข้ามแดนจากเพื่อนบ้าน และอาจส่งผลก่อให้เกิดโรคระบาดได้

โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ (10 ก.พ.) ยังยืนยันว่าไม่ให้มีการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพราะแนวโน้มราคาหมูลดลงแล้ว และในไม่นานนี้สถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เช่นเดียวกับนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ

แม้ว่าจะทำให้ราคาในประเทศถูกลง แต่มองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ เกษตรกรรายย่อยที่รอดจะขายหมูไม่ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณหมูในตลาดต้องใช้เวลาในการผลิตไปอีกสักระยะ

แต่ขณะนี้ก็เริ่มเห็นราคาปรับลดลงมาต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ด้วยการจัดการระบบฟาร์มในไทยค่อนข้างดี เข้มงวด ทั้งความร่วมมือ ประสานงานกับกรมปศุสัตว์ มั่นใจว่าจะสามารถขจัดโรคได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีจากนี้