ลดภาษีดีเซลตรึงค่าไฟ 6 เดือน ธุรกิจงัดแผนรับน้ำมันขาขึ้น

น้ำมันขึ้นราคา
(Photo by Patrick T. FALLON / AFP)

สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบและก๊าซในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสวิ่งอยู่ระหว่าง 119-120 เหรียญ/บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์ 123-124 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ 118-125 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา “ยกเว้น” น้ำมันดีเซล ที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันยอมตรึงราคาตามนโยบายของรัฐบาลที่จะจ่าย “เงินอุดหนุน” ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ท่ามกลางสภาพการณ์ที่ไม่แน่นอนของกองทุนเอง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบได้พุ่งขึ้นสูงเกินกว่าความสามารถของกองทุนน้ำมันฯปัจจุบันที่จะอุดหนุนได้แล้ว

ขณะที่ภาคเอกชนต่างกังวลกับ “ต้นทุน” การผลิต-จำหน่ายสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ส่งผลให้หลายบริษัทเตรียมนำมาตรการลดค่าขนส่งมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด

BJC ห่วงกำลังซื้อชะลอตัว

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC กล่าวว่า ปัญหาราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับ BJC เอง โดยเฉพาะต้นทุนในการผลิตขวดแก้วที่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็ได้มีการส่งต่อราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปกับราคาขายขวดแก้ว เนื่องจากได้ทำสัญญากับลูกค้าไว้แล้ว

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น การผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค “ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก” เพราะมีการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการขนส่งไว้รองรับ หากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น บริษัทอาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยน รถส่งสินค้าในเครือที่มีอยู่หลายพันคันเป็น “รถไฟฟ้า” พร้อมทั้งมีการจัดทำสถานีชาร์จเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

เดอะมอลล์ตรึงราคาสู้

ด้านนางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวกรณีราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของหลายธุรกิจ ซึ่งในส่วนของเดอะมอลล์ โดยเฉพาะ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” มีบ้างที่กระทบต่อต้นทุนสินค้า แต่บริษัทยังคงพยายามตรึงราคาสินค้าจำเป็นหรือสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการเจรจากับ “ซัพพลายเออร์” ในการบริหารจัดการการส่งสินค้าต่อครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณการขนส่งมากขึ้นเพื่อลดจำนวนต่อรอบเป็นการลดต้นทุน

ขนส่งหันใช้รถยนต์ไฟฟ้า

นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในเรื่องของ “ต้นทุน” จึงต้องวางแผนการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มี โดยบริษัทต้องยอมรับต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น แต่จะไม่ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาค่าขนส่งกับลูกค้า ทั้งยังมีนโยบายให้พนักงานหันมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก เช่น B10 รวมไปถึงการมองหาพลังงานทางเลือกประเภทอื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและขับเคลื่อนบริษัทไปสู่การเป็น green logistics ในอนาคต

ด้านนายเจสัน เชียน ผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เบสท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และลากยาวจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน บริษัทในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนภายใต้แบรนด์ “เบสท์ เอ็กซ์เพรส” และ “เบสท์ ซัพพลายเชน” และธุรกิจบริหารจัดการคลังสินค้าแบบครบวงจร ได้วางแนวทางรับมือไว้หลายส่วน

1) เริ่มโครงการใช้รถไฟฟ้า EV ขนส่งพัสดุด่วน โดยร่วมมือกับ บริษัท ไทยคิงมอเตอร์ อินโนเวชั่น พัฒนา “รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า” เข้ามาใช้ขนส่งพัสดุด่วน เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าส่งพัสดุในตรอกซอยและประหยัดพลังงาน ตลอดจนลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และ 2) หาพันธมิตรเพิ่มขึ้นทุกช่องทาง เพื่อเพิ่มปริมาณพัสดุจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนต่อราคาค่าส่งถูกลง

ส่วนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ก่อนหน้านี้ นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า “น้ำมัน” ถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจขนส่ง สำหรับ ปณท มีสัดส่วนถึง 30% ของต้นทุนทั้งหมด จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องหันมาเน้นการบริหารจัดการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งมีแผนระยะกลางและระยะยาวในการนำรถไฟฟ้ามาใช้ขนส่งพัสดุมากขึ้น

โดยในเดือนมีนาคมนี้จะเซ็น MOU กับมิตซูบิชิ และบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในการนำ “รถยนต์ไฟฟ้า” เข้ามาใช้ขนส่งพัสดุไปรษณีย์ หลังจากเคยร่วมกับบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) นำรถบรรทุก 6 ล้อระบบขับเคลื่อนกำลังไฟฟ้า 100% มาทดลองใช้ขนส่งสิ่งของในกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว 1 คัน

นายกฯให้ประหยัด

วันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “นายกฯสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารพลังงานอย่างเหมาะสม ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย และให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีผลกระทบโดยตรง”

นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้การรณรงค์ประหยัดพลังงานเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล ด้วยการให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 และให้มีการลดการใช้น้ำมันร้อยละ 10 รวมทั้งหาวิธีประหยัดพลังงานอย่างง่าย ๆ เช่น เวิร์กฟรอมโฮม ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส

ลดสรรพสามิตตรึงค่าไฟ 6 เดือน

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1 – 1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงด้วย เนื่องจากภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลง

กองทุนน้ำมันฯวิกฤต

สำหรับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท/ลิตร (2 บาทลดราคาขายปลีกดีเซลโดยตรง กับอีก 1 บาทหักเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง) ปรากฏราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 120 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้ความสามารถในการตรึงราคาดีเซลตามมาตรการลดภาษีสรรพสามิต “ไม่เพียงพอที่จะตรึงราคาไว้ได้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า” ประกอบกับกระบวนการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้วงเงิน 20,000 ล้าบาทจากสถาบันทางการเงินก็ยังไม่เสร็จสิ้น และมีแนวโน้มว่าวงเงินกู้ดังกล่าวจะไม่เพียงพอต่อการรักษาสภาพคล่องของกองทุน

อย่างไรก็ตาม กพช.มีข้อน่าสังเกตในโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลภายหลังการใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตลง 2 บาท/ลิตร ปรากฏในส่วนของเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯล่าสุด ติดลบไปแล้วกว่า -6.5000 บาท/ลิตร

ปตท.สำรองน้ำมันดิบสูงสุด

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้เตรียมความพร้อมทั้งการจัดหาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ

โดยได้บริหารความเสี่ยงด้านการจัดหาน้ำมันดิบจากหลายแหล่งให้สำรองน้ำมันคงคลังในระดับสูงสุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอเมริกาประมาณ 95 ล้านลิตร โดยเก็บไว้ในถังน้ำมันที่ศรีราชา ประสานเครือข่ายคู่ค้าเพื่อเตรียมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติอย่างน้อยประมาณ 160 ล้านลิตร รวมทั้งการนำปริมาณน้ำมันที่ทำการค้าสากลเข้ามาในประเทศเพื่อสำรองด้านความมั่นคงอีกประมาณ 320 ล้านลิตร

โดยจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวทำให้ประเทศมีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 640 ล้านลิตร การระงับการส่งออกน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว โดยนำเข้าน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 30 ล้านลิตรต่อเดือน ในส่วนของน้ำมันเตา ได้นำเข้าเพื่อส่งให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงเดือนละ 4,000 ตัน

ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเฝ้าติดตามสถานการณ์เรื่องรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยยังคงดำเนินแผนการนำเข้า และสต๊อกน้ำมันตามปกติทางบางจากไม่ได้มุ่งมองเรื่องการเก็งกำไร

ส่วนกระบวนการกลั่นยังปกติ ผลิตที่ 120,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าแทบจะไม่พอขายแล้ว เนื่องจากยังประเมินว่าสถานการณ์การรัสเซีย-ยูเครนจะเป็นปัจจัยระยะสั้น กระทบราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 2 ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไปถึง 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวเสริมว่า แผนรับมือกับผลกระทบบริษัทจะบริหารสต๊อกน้ำมันให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด และรักษากระแสเงินสด แม้ว่าอาจจะไม่เพียงพอและอาจจะขาดไปบางช่วงก็ต้องยอมรับ เพราะภาษีสรรพสามิตสูงมาก