โรงงานอาหารสำเร็จรูปตั้งรับ ภาษี AD ฟิล์ม BOPP 32%

สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ชี้ภาษีเอดีฟิล์ม BOPP ยังไม่กระทบต้นทุนอุตสาหกรรม เหตุเรียกเก็บอัตราสูงสุดแค่ 3 บริษัท ที่เหลือภาษียังเป็น 0%-กำลังการผลิตพลาสติกอุตสาหกรรมภายในประเทศยังเพียงพอใช้ แต่แนะรัฐต้องดูแลการปรับราคาเพื่อไม่ให้กระทบผู้ผลิตปลายน้ำ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้พิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอ็กเซียลลีโอเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในอัตรา 0.73-32.84% กับสินค้าที่นำเข้าจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้

โดยอัตราอากรเอดีที่จะเก็บจากบริษัทจีน ได้แก่ บริษัท Suqian Gettel Plastic Industry Co., Ltd. อัตรา 0 % บริษัท Yunnan Hongta Plastic Co., Ltd. อัตรา 5.49% และบริษัทอื่น ๆ อัตรา 32.80% จากอินโดนีเซีย ได้แก่ บริษัท PT Argha Karya Prima Industry Tbk อัตรา 5.71% และบริษัทอื่น ๆ อัตรา 15.32% และจากมาเลเซีย ได้แก่ บริษัท Scientex Great Wall SDN. BHD. อัตรา 4.72% และบริษัทอื่น ๆ อัตรา 32.84% ทั้งนี้ การใช้มาตรการเอดีกับฟิล์มบีโอพีพีดังกล่าว เป็นไปตามข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมในประเทศ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลผลการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอ็กเซียลลีโอเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้น ยังไม่น่ากระทบอุตสาหกรรมอาหารเพราะมีผู้ผลิต 3 ราย และกำลังผลิตมากเพียงพอที่จะส่งออกไปแข่งกับตลาดต่างประเทศ แม้ว่าภาษีที่ตั้งสูงสุด 5.71% แต่เรียกเก็บแค่จาก 3 บริษัท ที่เหลือส่งข้อมูลมาภาษี 0%

“เอดียังไม่กระทบทันที เพราะผู้ผลิตพลาสติกของไทยยังสามารถผลิตได้ในปริมาณที่ครอบคลุมความต้องการใช้แต่ต้องติดตามสภาพการแข่งขัน กับประเทศต่าง ๆ หลังจากที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นไปตามกลไกตลาด การปกป้องอุตสาหกรรมหนึ่งมีผลกับหลายอุตสาหกรรม ถ้าคุมราคาไม่ดีผู้บริโภครับผลกระทบในที่สุด”


ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวถูกนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง ซองเครื่องปรุงรส ฉลากบนขวดบรรจุภัณฑ์ซองบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ผงซักฟอก ถุงบรรจุภัณฑ์ยา เป็นต้น