TU ทุ่ม 6 พันล้านขยายธุรกิจปี’65 รุกอาหารอนาคต เล็งคลอดซีเล็คทูน่าผสมกัญชง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

TU เดินหน้าขยายธุรกิจปี 2565 วางงบฯลงทุน 6,000 ล้านบาท รุกอาหารอนาคต เล็งคลอดสินค้าใหม่ทูน่าผสมกัญชง มองการลงทุนปีนี้ ยังท้าทายทั้งอัตราเงินเฟ้อ การแพร่ระบาด ห่วงโซ่อุปทาน ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ชี้ความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครนไม่กระทบภาพรวมบริษัท

วันที่ 23 มีนาคม 2565 นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนดำเนินงานปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ พร้อมกับวางงบฯลงทุนทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯที่ไม่รวมการเข้าซื้อธุรกิจใหม่ ขณะที่เป้าหมายรายได้คาดการณ์โต 5% โดยปีนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้นและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่า พร้อมนำจุดเเข็งนวัตกรรม R&D ต่อยอดสินค้าใหม่ ๆ

โดยเฉพาะส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและโปรตีนทางเลือก (plant based) โดยปีนี้จะเห็นความชัดเจนของการพัฒนาสินค้าร่วมกับ Startup สัญชาติอิสราเอล ผู้ผลิตโปรตีนจากการเพาะเลี้ยงแมลง ซึ่งอยู่ระหว่างสร้างโรงงาน จ.เพชรบุรี และ Startup สิงคโปร์ โรงงานทำแป้งลดเบาหวาน จ.สมุทรสาคร รวมทั้ง Startup เยอรมนี เรื่องของเทคโนโลยี เป็นการนำระบบ AI มาใช้ในระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่เติบโตเร็วในธุรกิจเหล่านี้ตามเทรนด์บริโภค พร้อมทั้งอยู่ระหว่างจับมือพันธมิตรเพื่อออกผลิตภัณฑ์ “แบรนด์ ซีเล็คทูน่า” ผสมกัญชง ซึ่งต้องรอความชัดเจนของกฎหมายภาครัฐ รวมทั้งมีแผนนำบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยบริษัทนี้ถือเป็นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงรายแรกในประเทศไทยที่เป็นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นผู้รับจ้างผลิต OEM ซึ่งจะเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งมองว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตต่อเนื่องจากวิถีใหม่ที่คนหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในเอเชียที่ยังมีศักยภาพมากซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ (Growth engine) ในอนาคตอีกด้วย

ส่วนแผนขยายตลาดต่างประเทศ จากการที่บริษัทประสบผลสำเร็จผลิตภัณฑ์แบรนด์ ซีเล็คทูน่าใน สปป.ลาวและกัมพูชา ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ปีนี้ยังมีแผนขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างยูเครน รัสเซีย ยังไม่มีผลต่อภาพรวมธุรกิจของไทยยูเนี่ยน แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนในรัสเซีย แต่ก็น้อยและเป็นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบในรัสเซียเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยประชาชนในรัสเซียยังเป็นปกติ แต่ปัจจัยหลักที่ต้องระมัดระวังในการลงทุนคืออัตราเฟ้อ ราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทั่วโลกเหมือนกันหมด ตั้งแต่ก่อนวิกฤตรัสเซีย ยูเครน

ดังนั้น สินค้าของไทยยูเนี่ยนจึงจำเป็นต้องปรับราคาตามเงินเฟ้อ อยู่ที่ 5-7% ตามชนิดแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ขณะเดียวกัน การปรับราคาดังกล่าวจะทำควบคู่ไปกับการลดต้นทุน นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้มากที่สุด ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการได้

“ในปี 2565 นี้ แม้ว่าจะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับทุกคน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การแพร่ระบาด ห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แต่ภาวะรัสเซีย ยูเครน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท ทั้งนี้ไทยยูเนี่ยนจะยังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อสร้างผลงานให้ได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมา”

สำหรับปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนทำผลงานได้ดีเยี่ยมเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรสุทธิเติบโต 28.3 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 8,013 ล้านบาท ยอดขายเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 141,048 ล้านบาท ส่วนกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 9.9 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 25,727 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยอดขายในไตรมาส 4 ปี 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 38,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นที่ฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา ภายหลังมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการผ่อนคลายและร้านอาหารและโรงแรมเริ่มทยอยเปิดให้บริการ

นอกจากนี้ยอดขายจากหน่วยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจเพิ่มมูลค่ายังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้กำไรสุทธิของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาทะยานขึ้นถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 1,930 ล้านบาท แม้จะประสบสภาวะการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็ตาม

โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด นอกจากไทยยูเนี่ยนจะบริหารธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้แล้ว ทีมผู้บริหารยังมองถึงการพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด แต่ไทยยูเนี่ยนยังมองไปยังอนาคต โดยมีการลงทุนกลยุทธ์ทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตในอนาคต

ไทยยูเนี่ยนยังได้ตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยน ไลฟ์ไซเอนซ์ จำกัด ขึ้นเพื่อเข้ามาดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเร็ว รวมทั้งในปี 2564 บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือยังได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะรองรับการเติบโตและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในเอเชีย ไทยยูเนี่ยนยังให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยมีการเปลี่ยนชื่อ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทในเครือ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็นบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับการพัฒนาและขยายกิจการในธุรกิจสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไทยยูเนี่ยนมีแผนจะนำบริษัท ไอ-เทล จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปีนี้


พร้อมกันนี้ ไทยยูเนี่ยนได้เริ่มก้าวสู่ Blue Finance โดยเป็นบริษัทแรก ๆ ในประเทศไทยที่เดินหน้าการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนและตั้งเป้าหมายการทำงานที่สนับสนุนการอนุรักษ์มหาสมุทร และผลสำเร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของเครื่องมือการเงินชนิดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อหรือหุ้นกู้ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับสินเชื่อและออกหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 27,000 ล้านบาท โดยไทยยูเนี่ยนได้ตั้งเป้าหมายระยะยาว ให้ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัทเป็น Blue Finance ภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มจาก 50 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นปี 2564