กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ม.ค.-ก.พ.65 เพิ่ม 13.9%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงม.ค.–ก.พ. 65 เพิ่มขึ้น 13.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ยอดนำเข้าเฉลี่ยที่ 1,029,709 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 12.5% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 950,269 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7 สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น

วันที่ 30 มีนาคม 2565 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.9 โดยการใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.1 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 การใช้ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8

อย่างไรก็ตาม น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 9.4 การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.12 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.7) เนื่องจากฐานการใช้กลุ่มเบนซินในเดือนมกราคม 2564 อยู่ในระดับต่ำ สาเหตุจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

สำหรับปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.51 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1) การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.61 ล้านลิตร/วัน และ 0.96 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่ การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 7.01 ล้านลิตร/วัน และ 5.93 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ การใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.61 ล้านลิตร/วัน และหากพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 พบว่า การใช้ลดลงร้อยละ 2.9 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่อยู่ในระดับสูง

ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.00 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.1) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63.79 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.6) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.70 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 มีปริมาณการใช้ 0.22 ล้านลิตร/วัน การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และการตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร

นอกจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเพื่อการผลิตไฟฟ้าราว 7.09 ล้านลิตร/วัน การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.88 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.1) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go อีกครั้ง โดยเริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังคงส่งผลให้การใช้น้ำมัน Jet A1 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

ขณะที่ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.23 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.7) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.45 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.7) ภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.93 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7) และภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.04 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.2) สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.81 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.2)

ส่วนการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.28 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.8) เนื่องจากฐานการใช้ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ สาเหตุจากความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19

สำหรับ การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,029,709 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.5) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 950,269 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 83,369 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 82.8)

สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79,440 บาร์เรล/วัน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิดน้ำมัน ยกเว้นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 6,433 ล้านบาท/เดือน


ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 153,954 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 12.5) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 14,833 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.4) มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น