ปิดฉากประกันรายได้ยาง 3 ปี งบฯ 5 หมื่นล้านแต่มี “ทอน”

ปิดฉากไปแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับโครงการประกันรายได้ยางเฟส 3 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึง 31 มีนาคม 2565 โดยได้ประกาศราคาประกันในงวดสุดท้ายงวดที่ 6 ไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 หลังจากนี้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะทยอยจ่ายเงินประกันรายไปจนสิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน 2565

เบื้องต้นโครงการเฟส 3 นี้ มีเป้าหมายจะช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วม 1.88 ล้านราย รายละไม่เกิน 15 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 19.163 ล้านไร่ โดยวางงบประมาณรวม 10,065 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย เงินทุนจากธนาคาร 9,783.61 ล้านบาท ชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. 195.67 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 9.40 ล้านบาท แต่จ่ายจริงเพียง 2,292 ล้านบาท (ตามตาราง)

ไม่ต้องจ่ายชดเชยงวดที่ 6

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาตลาดงวดสุดท้ายสูงกว่าราคาเกณฑ์ ทำให้ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในงวดที่ 6 ส่วนภาพรวมของโครงการประกันรายได้เฟส 3 รวมทั้งหมด 6 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วม 533,048 ราย คิดเป็นเงิน 2,292 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใช้งบประมาณ “น้อยกว่า” โครงการระยะที่ 1 และ 2 เนื่องจากความต้องการที่มีมากขึ้น เป็นผลให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคายางพาราเริ่มฟื้นกลับมาสูงกว่าราคาที่ภาครัฐประกันรายได้ ดังนั้น ในงวดที่ 5 และ 6 ของเฟสที่ 3 จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

ภาพรวม 3 เฟส

สำหรับภาพรวมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1-3 ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562-มีนาคม 2565 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดราคาประกันยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาทต่อ กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาทต่อ กก. “เท่ากัน” ทั้ง 3 ปี

ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินโครงการระยะที่ 1 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) กำหนดงบประมาณ 24,278 ล้านบาท จ่ายชดเชยไป 24,172 ล้านบาท ให้แก่เกษตรกร 1.27 ล้านราย ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 (ต.ค. 2563-ก.ย. 2564) วางงบประมาณ 10,042 ล้านบาท จ่ายชดเชย 7,553 ล้านบาทให้กับเกษตรกร 1.12 ล้านราย

หากรวม 3 โครงการที่ผ่านมารัฐจ่ายชดเชยให้เกษตรกรไป 34,017 ล้านบาท จากวงเงินงบฯรวม 54,427 ล้านบาท เท่ากับมีงบประมาณเหลือทอน 20,410 ล้านบาท สะท้อนว่า โครงการ 3 ปีนี้สามารถรักษางบประมาณได้อย่างมาก

ลุยมาตรการคู่ขนาน

นอกจากนี้ กยท.ยังช่วยเหลือเกษตรกรโดยใช้มาตรการคู่ขนาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สม่ำเสมอในภาวะวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 โดยการจัดทำ “โครงการชะลอยาง” ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อดูดซับซัพพลายไว้ เพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกร ไม่ต้องเร่งขายผลผลิตรอจนกว่าราคายางปรับขึ้นในระดับที่เหมาะสม พร้อมบริหารจัดการน้ำยางสดให้แปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน และซื้อขายผ่านตลาดกลางล่วงหน้า 7 วัน ช่วยในการบริหารต้นทุนการแปรรูปยาง และลดความเสี่ยงด้านราคายางลงได้

อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างความมั่นคงเกษตรกร กยท.ยังเดินหน้าโครงการ RUBBER WAY เป็นความร่วมมือระหว่าง กยท. กับบริษัท RUBBER WAY PTE Ltd. โดยมีบริษัทผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ของโลกให้การสนับสนุน ได้แก่ กลุ่มมิชลินและคอนติเนนทอลเป็นเครื่องมือในการสำรวจข้อมูล การดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีแนวทางในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืนตามความต้องการของผู้ใช้ยางหลักของโลก รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการจำหน่ายยางตรงสู่ผู้ผลิตยางล้อและสร้างอำนาจต่อรองการแข่งขัน

ลุ้นต่อประกันรายได้เฟส 4

ส่วนในอนาคตจะพิจารณาของบประมาณประกันรายได้เฟส 4 หรือไม่ นายณกรณ์กล่าวว่า การพิจารณาขึ้นอยู่กับการประเมินจากหลายปัจจัย

โดยแนวโน้มราคายางจะยังสูงกว่าราคาประกันต่อไปอีกสักระยะ จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความต้องการและราคายาง ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับขึ้น และส่งผลดีต่อราคายางสังเคราะห์

ประกอบกับปีนี้คาดการณ์ผลผลิตยางประมาณ 4.905 ล้านตัน แม้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.82% แต่ต้นปีให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลง จากการปิดกรีด ทำให้มีผลผลิตน้อย ความต้องการยางโลกสูง สต๊อกยางโลกลดลง โดยเฉพาะสต๊อกชิงเต่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้การส่งออก

ขณะที่ผลผลิตยางทั้งโลกประมาณ 14.554 ล้านตัน ปริมาณการใช้ 14.398-14.822 ล้านตัน โดยมีการนำไปแปรรูปถุงมือยางและชุด PPE ยังมากขึ้น บวกกับกระแสการลดโลกร้อน ทำให้มีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้น ความต้องการยางล้อก็เพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราในปริมาณเพิ่มมากขึ้น เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง สายยาง ดังนั้น ประกันรายได้ยางจึงน่าจะจบที่เฟส 3 ไปก่อนในปีนี้

“ความท้าทายของยางพาราปีนี้ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อปริมาณการใช้ยางปีนี้คือ ยังพบปัญหาการขาดแคลนชิป semiconductor ส่งผลต่อปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทุนการขนส่งที่แพงขึ้น การเคลียร์สินค้าช้ากว่าปกติ ส่งผลต่อ supply chain แต่ปัจจัยหลัก ๆ คือผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคายังสูงไปอีกสักพัก ไปจนถึงปีหน้า และสูงกว่าราคาประกัน ส่วนจะมีการประกันรายได้ต่อเฟส 4 ไปอีกหรือไม่ ต้องรอดูต่อไป”