สินค้าขึ้นราคายกแผงรอบใหม่ สุดอั้น! ต้นทุนผลิตพุ่งแซงเงินเฟ้อ

ราคาสินค้า

คนไทยติดบ่วงวิกฤตค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด สินค้าพาเหรดปรับราคาระลอกใหม่ไตรมาส 2 หลังสงครามรัสเซียยืดเยื้อ ราคาน้ำมันดิบ 100 เหรียญ/บาร์เรล รัฐบาลหมดเวลาตรึงดีเซล 1 พ.ค.ดีเดย์ปรับขึ้นค่าไฟซ้ำเติมต้นทุนธุรกิจ ยักษ์น้ำดำเตรียมประกาศราคาใหม่ต้นทุนแพ็กเกจจิ้งขึ้นอีก หวั่นกำลังซื้อชะลอตัว “หอการค้า” ยอมรับสินค้าหลายกลุ่มเตรียมปรับขึ้น ฝืนกลไกตลาดไม่ไหว ผู้ผลิตดิ้นปรับแผนผลิตลดขนาด โชว์ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ไตรมาสแรกพุ่งเฉียด 10% แซงเงินเฟ้อ “อะลูมิเนียม-เหล็กเส้น” จ่อขยับราคา 15-30%

1 พ.ค.ขึ้นค่าไฟซ้ำเติมต้นทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการเริ่มส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 “แรงขึ้น” กว่าช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการขยับสูงขึ้น ทั้งปัจจัยภายนอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกล่วงหน้าทรงตัวสูงอยู่เหนือกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และยังมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงผันผวนสูง

ทั้งปัจจัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นกระทบต่อค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลกรวมถึงค่าเงินบาทซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่ากระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบต่าง ๆ

ขณะที่ปัจจัย “ภายในประเทศ” ที่สำคัญที่กระทบต่อการผลิตสินค้าที่เป็นระเบิดเวลาคือ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท ที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นจังหวะเดียวกับต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดใหม่ที่จะใช้ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 จะปรับขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย

รวมถึงต้นทุนราคาก๊าซหุงต้มที่ทยอยลอยตัวเดือนละ 1 บาท/กก. ที่เริ่มจาก 1 เม.ย. 65 โดยถังขนาด 15 กก. ปรับเพิ่มจาก 318 เป็น 333 บาท และ 1 พ.ค. 65 จะปรับขึ้นเป็น 348 บาท/ถัง และ มิ.ย. 65 เป็น 363 บาทต่อถัง

และการพิจารณาปรับค่าแรงงานในเดือน พ.ค.นี้ว่าจะกำหนดอัตราเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย และกำลังซื้อของประชาชน

พาเหรดขึ้นราคารอบใหม่

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.25% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.42% ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน อาหารสด และอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัญหา global supply disruption ที่อาจยืดเยื้อจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงผลกระทบจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่อค่าครองชีพครัวเรือนและต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ครัวเรือนรายได้น้อย ที่รายได้ฟื้นตัวช้าแถมมีหนี้ครัวเรือนสูง

โดยผลสำรวจการปรับราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มเอสเอ็มอีของ ธปท.เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2565 พบว่าผู้ประกอบการ 27% ได้มีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว ส่วนอีก 16% มีแนวโน้มจะปรับราคาในช่วง 3 เดือนข้างหน้าถึง 1 ปี และอีก 57% ยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา แต่ต้องติดตามแนวโน้มราคาวัตถุดิบที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด

รายงานระบุว่า แม้ในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่าจะยังไม่ปรับราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการแบกรับต้นทุนได้มากกว่า และใช้วิธีอื่นแทน เช่น ลดหรือยกเลิกโปรโมชั่น เป็นต้น

หอการค้าชี้ภาคธุรกิจสุดอั้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่าในไตรมาส 2-3 นี้ หลายสินค้าคงต้องมีการปรับขึ้นราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสถานการณ์สินค้าราคาแพงมาจากหลายส่วน ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ที่จะมีการใช้ค่าเอฟทีใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 65) ปรับขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และปัจจัยการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ผลิตหลายสินค้ายังใช้ต้นทุนจากปีที่แล้วหรือต้นปี ซึ่งต้องดูว่าจะสามารถตรึงราคาได้นานขนาดไหน ซึ่งคงฝืนกลไกตลาดมากไม่ได้

“ข้อเสนอเรื่องค่าไฟ หอการค้า และส.อ.ท. (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ที่ได้มีการเสนอไปก่อนหน้านี้ เพราะค่าไฟนอกจากเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของการผลิตทั้งสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบทั่วหน้า ขณะเดียวกันประชาชนก็จะกระทบ และการปรับขึ้นค่าไฟจะทำให้แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เราต้องขอบคุณรัฐบาลที่เคยมีการชะลอการขึ้นค่า ft ที่ผ่านมา ไม่ขึ้นอย่างทันที แต่ทยอยขึ้น เป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคการผลิต”

ส่วนสินค้าต่าง ๆ จะมีการปรับขึ้นราคา หลังค่าเอฟทีขยับในเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ ธุรกิจที่มีการใช้ไฟเยอะก็อาจจะต้องปรับ แต่บางธุรกิจต้นทุนผลิตที่เพิ่มอาจจะไม่เยอะมากจนถึงต้องผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ซึ่งในส่วนนี้ก็มีผู้ประกอบการบางส่วนปรับแผนบริหารจัดการต้นทุน ทั้งการปรับลดขนาด หรือเพิ่มราคาสินค้าตามกลไกตลาดไปแล้ว

อย่างไรก็ตามทางหอหารค้าฯได้ขอความร่วมมือไปยังสมาชิกเพื่อบรรเทาภาระให้ประชาชน คือพยายามไม่ผลักภาระไปผู้บริโภคทั้งหมด ขอให้วางแผนการผลิต การบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเร่งเตรียมการในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

ต้นทุนผลิตพุ่งทุกเซ็กเตอร์

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มราคาสินค้าอาหารในช่วงไตรมาส 2-3 ว่า จากที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 1 ปี 2565 ที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่าเพิ่มขึ้น 4.75% เป็นผลจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 3.81% และสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 5.39% จากราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 26.68% ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับประมาณการเงินเฟ้อขยายตัว 4-5% จากเดิม 0.7-2.4%

สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในไตรมาส 1/2565 ที่ปรับสูงขึ้น 9.8% โดยผู้ผลิตต้องเผชิญปัจจัยด้านราคาพลังงาน จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น จนกระทบต่อต้นทุนสินค้า ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ ทั้งเหล็กที่ใช้ในการผลิตแพ็กเกจจิ้งทั้งกระป๋อง และพลาสติก (บายโปรดักต์ของน้ำมัน) ปรับขึ้น

ขณะที่ต้นทุนปุ๋ยนำเข้าจากรัสเซียปรับสูงขึ้นกระทบต่อภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรอาจจะใส่ปุ๋ยลดน้อยลง ซึ่งก็จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตรายอุตสาหกรรม คือผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและประมงสูงขึ้น 4.7% ผลิตภัณฑ์จากเหมืองสูงขึ้น 61.4% และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปรับสูงขึ้น 8.8%

แพ็กเกจจิ้งขึ้นแล้วขึ้นอีก

เช่นเดียวกับสถานการณ์ปุ๋ยที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสต๊อก ยังไม่ทราบกำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร ในขณะที่ราคาปุ๋ยในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ขณะที่ไทยก็จะเข้าสู่ช่วงเพาะปลูกพืชในเดือน พ.ค.นี้หลายรายการ และราคาแผ่นเหล็กทำกระป๋องที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากซัพพลายเหล็กในตลาดโลกยังไม่ดีขึ้น รวมถึงบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพลาสติกหรือกระดาษที่ปรับราคาขึ้นไปแล้วก็อาจจะปรับราคาขึ้นอีก

“อย่างไรก็ตามจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาขณะนี้ ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่ปรับขึ้นที่สะท้อนจากดัชนี PPI แต่เราจะต้องประคองราคาขายให้มากที่สุด จะปรับขึ้นราคาเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคกระทบน้อยที่สุด”

เท็กไทล์ต้นทุนพุ่งเท่าตัว

นายอัมรินทร์ ศรีสุภรวาณิชย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคาเส้นใยประดิษฐ์ หรือโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ได้จากน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่เส้นใยธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบจากราคาฝ้าย และค่าขนส่งที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากโควิดทำให้คนงานเก็บฝ้ายไม่ได้ แม้ในปี 2565 แรงงานจะเริ่มกลับมา แต่จากความต้องการเพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มว่าราคาฝ้ายจะเพิ่มอีก

โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันราคาฝ้ายปรับขึ้นมาเท่าตัวหรือกว่า 100% แล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ที่ต้องนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐ แอฟริกา บราซิล และอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกรายใหญ่

“ตอนนี้ผู้ผลิตจะต้องวางแผนเรื่องของการสั่งซื้อ การนำเข้าวัตถุดิบ รวมไปถึงราคาซื้อ-ขายเพื่อลดปัญหาการขาดทุน อย่างไรก็ดีจากหลายปัจจัยดังกล่าวราคาของผ้าผืนก็มีการปรับขึ้นเป็นระยะ โดยในปี 2565 นี้ก็น่าจะขยับขึ้นอีก ผู้ผลิตผ้าเริ่มรับรู้ต้นทุนราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ยังคงประคองราคาไม่ให้ไปกระทบยังผู้บริโภค พร้อมกับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มที่ราคาสินค้าขายปลีกก็จะปรับขึ้นแน่นอน ก็เป็นไปตามกลไกตลาดเช่นเดียวกับหลายสินค้าที่ปรับขึ้นราคา”

“อะลูมิเนียม” ขาดแคลนทั่วโลก

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อซ้ำเติมอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมากกว่าที่คาด โดยซัพพลายของอะลูมิเนียมอาจกระทบหนักถึง 4 ล้านตัน ในปี 2565 หรือ 6% ของซัพพลายทั่วโลก

เนื่องจากบริษัทรูซอลยักษ์ใหญ่ของรัสเซียซึ่งมีกำลังการผลิตอะลูมิเนียมต้นน้ำกว่า 4.3 ล้านตัน ได้รับผลกระทบจากสงครามและมาตรการแซงก์ชั่น เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนโรงงานนิโคเลฟรีไฟนิ่งอลูมิน่าในยูเครน รวมถึงในออสเตรเลีย กิวเนีย ไอร์แลนด์ และจาไมกา ได้หยุดส่งอลูมิน่าไปยังโรงงานในรัสเซีย จึงส่งผลต่อปริมาณอะลูมิเนียมหายไปจากตลาด รวมถึงกรณีบริษัทรีโอ ตินโต ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับรูซอล ทำให้โรงงานร่วมทุนของทั้ง 2 บริษัททั้งในควีนแลนด์ ออสเตรเลีย และไอร์แลนด์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้อะลูมิเนียมในตลาดโลกปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณ 70 ล้านตัน มากกว่ากำลังการผลิตทั่วโลกที่มีอยู่ 68 ล้านตัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าอะลูเนียมจะเกิดการขาดแคลนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตัน เป็น 6 ล้านตัน จากผลกระทบของมาตรการแซงก์ชั่นที่ทำให้ซัพพลายที่หดหายไป

ปัจจุบันราคาอะลูมิเนียมขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3,500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับเพียง 1,500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นถึง 133%

ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการใช้อะลูมิเนียมในตลาดโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2573 จะมีปริมาณความต้องการสูงถึง 120 ล้านตัน จากความต้องการทั้งเวอร์จิ้นอะลูมิเนียมและเศษอะลูมิเนียมหมุนเวียนทั่วโลกในปี 2563 อยู่ที่ 86 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 33 ล้านตัน หรือประมาณ 40% เนื่องจากความต้องการของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้น 35% แผงโซลาร์ กังหันพลังงานลม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 16% วัสดุก่อสร้าง 14% และอะลูมิเนียมกระป๋อง 10%

ไตรมาส 2 ขยับราคา 20%

นายธีรพันธุ์กล่าวว่า ส่วนผู้ผลิตอะลูมิเนียมในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเช่นกัน ด้วยราคานำเข้าก๊าซ LNG จะปรับเพิ่มเป็น 780 บาท/ล้านบีทียู ค่าไฟฟ้าที่ประกาศปรับเพิ่มเป็น 4 บาท/หน่วย ส่งผลต่อต้นทุนอะลูมิเนียมอย่างมาก โดยราคาอะลูมิเนียมเส้นในอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มปรับราคาประมาณ 20-30% ในไตรมาส 2 นี้

“ผลกระทบที่เกิดนี้ ทางกลุ่มเห็นควรที่ภาครัฐจะช่วยตรึงราคาพลังงานอย่างน้อย 1 ปี เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ให้การส่งออกยังสามารถไปต่อได้ ให้โรงงานผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการต้นทุนภายในที่เพิ่มสูงขึ้นให้ได้ ดังนั้นเพื่อชะลอการเกิด stagflation ในภาพรวม จึงต้องขอการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อประคองไม่ให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อผู้บริโภคภายในประเทศ และยังช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันสำหรับการส่งออกต่อไป”

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอนสตีล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ต้นทุนวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเหล็กปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ในส่วนของเหล็กเส้นทยอยปรับตามแต่ยังช้ากว่า ซึ่งราคาขายยังตามต้นทุนไม่ทัน และยังคงคาดว่าในไตรมาส 2 นี้ราคาเหล็กเส้นจะปรับขึ้นประมาณ 15% ซึ่งยังต้องดูสถานการณ์ต่อไปแต่เชื่อว่าจะยังไม่ปรับตัวลงในระยะสั้น โดยน่าจะอยู่ในระดับนี้สักระยะ ถึงแม้สงครามจะสงบแต่จะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ยักษ์น้ำอัดลมลุยปรับราคา

แหล่งข่าวจากบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทได้มีการพิจารณาที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าภายใน 2 เดือน หรือภายในไตรมาส 2 ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนของแพ็กเกจจิ้งต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษารายละเอียด ว่าแต่ละไซซ์จะมีการปรับขึ้นราคาเท่าไหร่ และช่วงไหนที่เหมาะสม รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ แสดงความเห็นว่า วันนี้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นรอบด้าน และยิ่งมาเจอผลกระทบจากภาวะสงครามยิ่งซ้ำเติม ทำให้ต้นทุนหลาย ๆ อย่างเพิ่มขึ้นอีก ตอนนี้ทุกค่ายอยากจะขึ้นราคาเพื่อลดภาระต้นทุน แต่ก็เป็นเรื่องยาก และขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตัดสินใจ

แหล่งข่าวจากบริษัท อาเจไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลม “บิ๊ก โคลา” กล่าวว่า จากต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในทุกอุตสาหกรรมไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจเครื่องดื่ม แต่รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ทำให้ขณะนี้สินค้าหลายประเภทมีการปรับขึ้นราคาสินค้าไปบ้างแล้ว และบางกลุ่มเริ่มพิจารณาปรับขึ้นราคาเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทยังไม่ได้ยื่นขอกรมการค้าภายในปรับขึ้นราคาสินค้า โดยจะเน้นการบริหารจัดการภายใน การบริหารซัพพลายเชน เพื่อควบคุมต้นทุนให้สามารถตรึงราคาเดิมให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะสามารถตรึงราคาได้นานเพียงใด และต้องจับตาดูสถานการณ์ต้นทุนอย่างใกล้ชิด

ปลากระป๋องต้นทุนพุ่ง 7%

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำปลากระป๋องรายใหญ่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจปลากระป๋องเจอปัญหาต้นทุนหลายด้าน โดยรวมแล้วต้นทุนขึ้นราว ๆ 7% ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างรุนแรง ตั้งแต่วัตถุดิบ (ปลา) ที่ซัพพลายลดลงเรื่อย ๆ และราคาสูงขึ้น ปัญหาระบบโลจิสติกส์ ตู้คอนเทนเนอร์หายาก ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งแพงขึ้นอีก ถัดมาเจอผลกระทบเรื่องของแผ่นเหล็กที่ปรับขึ้นถึง 4 รอบ รวมทั้งค่าขนส่งในประเทศที่ปรับขึ้นจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ยังไม่รวมกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่กำลังจะตามมา

“ยอมรับว่า ผู้ประกอบการอยากปรับขึ้นราคา หลายรายได้ยื่นขอไป ประเมินว่าไม่น่าเกินครึ่งปีหลัง จะต้องปรับขึ้นแน่นอน เพราะตรึงไม่ไหวกันแล้ว แต่ความท้าทายคือ แม้ภาครัฐอนุญาตให้ปรับ ก็ไม่ใช่ว่าปรับขึ้นราคาแล้วจะรอด หรือจะขายได้ เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง จึงต้องประคองตัวให้ดี”

เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ขึ้นแน่

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับขึ้นราคาสินค้ารุ่นเดิมในช่วง 3-6 เดือน เนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว และสินค้าบางกลุ่มที่มีการแข่งขันสูงมาก เช่น ตู้เย็น เป็นต้น ประกอบกับเมื่อปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าไปแล้ว แต่สินค้ารุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวก็จะเป็นราคาใหม่ ซึ่งอาจแพงขึ้นตามเทคโนโลยีที่ใส่เข้ามา เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักอย่างทองแดง อะลูมิเนียม กล่องกระดาษสำหรับใส่สินค้า รวมถึงค่าขนส่ง ขณะที่ชิปคอมพิวเตอร์ยังขาดแคลน ทำให้ช่วงที่ผ่านมาหลายแบรนด์ทยอยปรับราคาให้สะท้อนตามต้นทุนของตน

ขึ้นราคาแล้วยอดขายร่วง

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าส่งรายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผยว่า หลังจากสินค้าหลาย ๆ รายการได้ทยอยปรับขึ้นราคาไปแล้ว แต่ในแง่ของยอดขายตลอดช่วง 1-2 เดือนนี้ไม่ดีนัก บางตัวขึ้นไปแล้วยอดขายตกลง ปัญหาหลักมาจากเรื่องกำลังซื้ออ่อนแอทำให้คนประหยัด ระมัดระวังการจับจ่าย ซื้อเฉพาะของจำเป็น

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังไม่คลี่คลายและมีเรื่องของสงครามเข้ามากระทบอีก ซัพพลายเออร์จึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ที่ผ่านมาการขึ้นราคาส่วนใหญ่เป็นการขึ้นทางอ้อมด้วยการลดส่วนลดหรือของแถม เพราะเพียงแค่คุยหรือแจ้งยี่ปั๊วซาปั๊วก็จบ ไม่ต้องขออนุญาตกรมการค้าภายใน แต่สินค้าที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมแทบทุกอย่างก็ได้ทยอยปรับราคาไปแล้ว และคาดว่ายังจะมีการแจ้งปรับราคาเพิ่มอีกหลายรายการ

“จุรินทร์” ขอร้องตรึงราคา

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้วางแนวทางการดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคช่วงไตรมาสที่ 2 โดยมอบหมายให้กรมการค้าภายในติดตามและกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิด

โดยมีหลักการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ (ราคาโรงงาน) กลางน้ำ (ราคาขายส่ง) และปลายน้ำ (ราคาขายปลีก) เพื่อให้ราคาจำหน่ายสินค้าและค่าบริการ มีความเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ไม่ก่อให้เกิดการฉวยโอกาสในการปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและกักตุนสินค้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมทั้งดูแลด้านปริมาณสินค้าให้มีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีมาตรการติดตามและดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว การจะขึ้นราคาในสินค้าควบคุมก็ต้องมีการแจ้งขออนุญาต อีกทั้งยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาหรือชะลอการปรับราคาจำหน่ายสินค้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้บริโภค


กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชนซึ่งดำเนินการมาแล้ว Lot 1-16 ลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพไป 91,700 รายการ และบริการบน Platform 19.7 ล้านรายการ ลดสูงสุด 86% ลดค่าครองชีพได้ 11,580 ล้านบาท นอกจากนี้ได้จัด Mobile พาณิชย์ ลดค่าครองชีพ ลดสูงสุด 61% ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ 10 ก.พ. 64-31 มี.ค. 65 ลดค่าครองชีพได้ 66.39 ล้านบาท