“บวงสรวงคันไถ” เสริมขวัญกำลังใจชาวนา ในพระราชพิธีพืชมงคล 65

กระทรวงเกษตรฯจัดพิธีบวงสรวงคันไถในพระราชพิธีพืชมงคลฯ เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเกษตรกรชาวนา ในการเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกข้าว

วันที่ 21 เมษายน 2565 นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีบวงสรวงคันไถในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2565 ว่า การปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ข้าวเป็นพืชสำคัญแก่การดำรงชีวิต ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ในอดีตคันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าว โดยใช้แรงงานสัตว์ในการขับเคลื่อน ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฯ มีมาแต่โบราณตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชการที่ 4 ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพิธีสงฆ์ จึงมีพิธีพืชมงคลรวมกับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตั้งแต่นั้นมา

ทั้งนี้ พระราชพิธีดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในการทำนา ชักนำให้มีความมั่นใจความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญในแก่เกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยวันที่จะกำหนดตามฤกษ์ยามที่เหมาะสมตามปฏิทินหลวง ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมแก่การเริ่มต้นการทำนาของทุกปี

ซึ่งคันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าวมาตั้งแต่อดีต และถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งคันไถที่ใช้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539

โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร จัดเก็บ ดูแลรักษา ซ่อมแซมปรับปรุงคันไถ ตลอดจนจัดเตรียมคันไถเพื่อเข้าร่วมวันซ้อมย่อย วันซ้อมใหญ่ และวันงานพระราชพิธีฯ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงเดือนเมษายนก่อนพระราชพิธีของทุกปี กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงคันไถให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และจัดพิธีบวงสรวงคันไถ เพื่อความเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดคันไถประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ 1) คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค 2.26 เมตร และยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาด หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ

2) แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม

3) ฐานรอง เป็นที่สำหรับรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองทั้งด้านหัวไถและปลายไถ และ 4) ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาคทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่งเพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร